เรื่องเด่น

ประเทศไทย กับความยั่งยืนของการคุ้มครองสุขภาพอย่างถ้วนหน้า

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555



เรื่องเด่น
  • แผนงานด้านสาธารณสุขของไทย ส่งผลให้ประชากรกว่าร้อยละ 99.5 มีการประกันสุขภาพ และได้รับการคุ้มครองด้านสาธารณสุข
  • ประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องการสาธารณสุขถ้วนหน้าด้วยรายจ่ายในระดับต่ำ แต่ยังเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ คือ ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ความไม่เท่าเทียม และ ความซ้ำซ้อนในการใช้ทรัพยากรสาธารณสุข
  • งบประมาณสาธารณสุขที่รัฐจัดสรรไปมีจำนวนสูง และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้ยากต่อการสานต่อในระยะยาวได้

กรุงเทพฯ, 20 สิงหาคม 2555, สมใจ ไตรสิริธนาโชติ, อายุ 50 ปี, แม่บ้านประจำอาคารแห่งหนึ่งในกรุงเทพ มีอาการป่วยเป็นเวลานานหลายเดือน ให้ข้อมูลว่า “นักส่งเสริมสุขภาพคนหนึ่งบอกฉันถึงเรื่องระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฉันจึงสมัครเข้าร่วม ต่อมาฉันได้พบแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐด้วยบัตรทอง และพบว่าฉันป่วยจากโรคความดันโลหิตสูง ไปโรงพยาบาลได้สองครั้ง สุขภาพฉันดีขึ้นมากหลังจากไปโรงพยาบาลได้สองครั้ง”

ความสำเร็จด้านสาธารณสุขของไทย

สมใจ ไตรสิริธนาโชติ เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนไทยซึ่งได้รับประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการนี้เริ่มจากการที่คนไข้ทุกคนมีค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์หนึ่งครั้งไม่เกินคนละ 30 บาท ณ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นคนไข้นอกหรือคนไข้ใน และรวมไปถึงค่ายาด้วย ต่อมาในปี 2550 รัฐได้ยกเลิกการเก็บเงินจำนวนดังกล่าว และให้บริการโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ผลของโครงการดังกล่าวได้ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนยากจน ในขณะนี้ประชาชนจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ หรือไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังพบว่าประเทศไทยมีอัตราการรอดชีวิตจากโรคมะเร็ง และโรคหัวใจระยะสองปีที่ดีขึ้นด้วย

แม้ความสำเร็จด้านระบบสาธารณสุขในไทยเป็นที่ประจักษ์เด่นชัด  แต่ก็ยังถูกท้าทายจากอุปสรรคสามประการดังนี้

ความไม่เท่าเทียมในระบบบริการสาธารณสุข

แม้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีความไม่เท่าเทียมกัน บุคลากรและทรัพยากรต่างๆ ด้านการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และปริมาณแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้น การที่ประเทศไทยยังคงมีระบบคุ้มครองสุขภาพอีกสองระบบ ที่ให้การดูแลผู้ได้รับประโยชน์แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับคนไข้ภายใต้โครงการสวัสดิการข้าราชการ สูงกว่าคนไข้ที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึงสี่เท่า

ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ประเทศไทยอาจจะประสบความสำเร็จในเรื่องสาธารณสุขถ้วนหน้าด้วยค่าจ่ายที่ต่ำ แต่มีข้อแตกต่างกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางตรงที่ รัฐเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการสาธารณสุขต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากร้อยละ 1.4 ในปี 2538  เป็นประมาณร้อยละ 3 ในปี 2551 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแผนงานด้านสุขภาพอื่นๆ เพราะมีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เพิ่มขึ้น ประชากรสูงอายุมากขึ้น และอื่นๆ

“สัดส่วนงบประมาณรัฐสำหรับสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความท้าทายให้กัยระบบประกันสุขภาพให้ยั่งยืนในระยะยาว” ดร. สุทยุต  โอสรประสพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามนุษย์จากธนาคารโลก ประจำประเทศไทย และหนึ่งในคณะผู้เขียนรายงาน Thailand Public Financial Management Report Discussion Papers กล่าว

ดร. สุทยุตได้เพิ่มเติมว่า “รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ด้านการสาธารณสุขตระหนักในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนี้  และได้บังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาบางมาตรการ เช่น การปรับปรุบการจัดการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาล และการให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ แต่ยังคงมีมาตรการต่างๆ อีกมากที่สามารถทำได้


" สัดส่วนงบประมาณรัฐสำหรับสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความท้าทายให้กัยระบบประกันสุขภาพให้ยั่งยืนในระยะยาว "
Image

ดร. สุทยุต โอสรประสพ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามนุษย์จากธนาคารโลก

ดร. สุทยุต กล่าวว่า เป้าหมายที่ควรมุ่งเน้นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของโรงพยาบาล และการจัดหามาตรการแก้ไขปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ไม่เท่าเทียมกัน

บทบาทของรัฐบาลและส่วนท้องถิ่นด้านการสาธารณสุข

ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของไทยกระจายตัวอยู่ในหลายกระทรวง หลายหน่วยงานรัฐ หลายแผนงานด้านการประกันสุขภาพ รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นอีกหลายหน่วย หน่วยงานทั้งหลายเหล่านี้ได้ใช้วิธีการที่แตกต่างกันในการส่งต่องบประมาณไปยังหน่วยงาน และท้องถิ่นเพื่อจัดให้บริการด้านสุขภาพ ส่งผลให้ระบบการจัดการมีความซ้ำซ้อน และขาดประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากความลักลั่นของระบบบริหาร การจ่ายเงิน การจัดทำรายงาน และการติดตามผล

“ยังมีความจำเป็นต้องแยกบทบาท และหน้าที่รับผิดชอบระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น และกระทรวงสาธารณสุขให้ชัดเจน ภายใต้แผนปฏิบัติการการกระจายอำนาจฉบับที่ 3 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ประเทศไทยควรสามารถกระจายอำนาจหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบให้กับแต่ละหน่วยงาน (เช่นในเรื่องการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และหน้าที่ของสังคมและชุมชนด้านสาธารณสุข) และ ยังมีควรจัดตั้งกลไกที่จะส่งเสริมการกำกับดูแลจากส่วนกลาง และสร้างภาวะความรับผิดชอบขึ้นมา” ดร. สุทยุตกล่าว

ก้าวต่อไปในอนาคต

ประเทศไทยควรภูมิใจในความสำเร็จทางด้านสาธารณสุข แต่ยังจำเป็นต้องตระหนักถึงความท้าทายต่างๆ เป็นความโชคดีที่ประเทศไทยมีการวิเคราะห์ระบบสาธารณสุขที่มีความแข็งแกร่ง และความกระตือรือล้นจากภาครัฐ และประชาสังคมที่ผลักดันให้เกิดการเจรจาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะจัดการความซับซ้อนของการให้บริการสาธารณสุขถ้วนหน้านี้ให้ลุล่วงไปได้

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ้างอิงได้จากรายงาน "การใช้จ่ายของรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับท้องถิ่นทางด้านสาธารณสุข" (ภาษาอังกฤษ) ของธนาคารโลก



Api
Api

Welcome