สุนทรพจน์ และ บันทึกสุนทรพจน์

สภาวะเศรษฐกิจโลก: ผลกระทบต่อประเทศไทย

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556


ดร. อูริช ซาเกา Thailand Economic Outlook 2014 กรุงเทพฯ, ประเทศไทย

บันทึก

สภาวะเศรษฐกิจโลก: ผลกระทบต่อประเทศไทย

เช้านี้ ผมขอแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกว่ามี ผลกระทบต่อภูมิภาคเอเซียตะวันออก และประเทศไทย เราได้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่ก็คาดว่า จะเป็นในลักษณะที่ค่อยๆ ฟื้นตัว

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวจากร้อยละ 2.3 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 3.1 ในปี 2557 และร้อยละ 3.4 ในปี 2558 มีการคาดการณ์ว่า อัตราความยากจนทั่วโลกจะลดลงควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2553 ประชากรโลกที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.25 เหรียญสหรัฐต่อวันซึ่งถือว่าเป็นระดับความยากจสุดขีด (extreme poverty) มีเพียงร้อยละ 20 ซึ่งกลุ่มธนาคารโลกได้ตั้งเป้าไว้ว่าอัตราประชากรโลกทีมีความยากจนสุดขีดดังกล่าวจะต้องลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3 ภายในปี 2573

ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเซียตะวันออกยังคงเติบโตในอัตราที่เร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก โดยคาดว่าปีนี้ ภูมิภาคเอเซียตะวันออกจะเติบโตในอัตราร้อยละ 7.3 ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของประเทศจีนที่คาดว่าจะอยู่ในอัตราร้อยละ 7.5 ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการเจริญเติบโตร้อยละ 4 ในปีนี้ และร้อยละ 4.5 ในปี 2557

ปัจจัยสำคัญสำหรับแนวโน้มการเจริญเติบโตของภูมิภาคเอเซียตะวันออกคือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีมูลค่าเหนือระดับก่อนวิกฤติ ก่อนจะเกิดวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์สในปี 2552 ภูมิภาคเอเซียตะวันออกมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ปัจจุบัน FDI มีมูลค่าประมาณ 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งประมาณสองในสามเป็นมูลค่าของ FDI ในประเทศจีน

การรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะช่วยส่งเสริมแนวโน้มการเจริญเติบโตในภูมิภาคเอเซียตะวันออก ความเป็นตลาดเดียวของประชากรเกือบ 600 ล้านคนจะทำให้ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีพลวัตสูงที่สุดในโลกภูมิภาคหนึ่ง แม้ว่ายังจะมีงานต้องทำอีกมากเพื่อให้การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสมบูรณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริการ แต่ AEC ก็ยังจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโต เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมมีโอกาสพบกับนักธุรกิจไทยกลุ่มหนึ่ง หนึ่งในนั้นเล่าให้ผมฟังถึงแผนขยายการดำเนินงานของบริษัทในภูมิภาคอาเซียนหลังจากปี 2558

ปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่เอเซียตะวันออกเผชิญ: การเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

อย่างที่ทราบว่าโอกาสมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยง การเคลื่อนย้ายเงินทุนสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกและทั่วโลกจะยังคงมีความผันผวนในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า เงินทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเซียตะวันออกซึ่งมีจำนวนน้อยมากก่อนเหตุวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์สในปี 2552 พุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็วโดยมีมูลค่าราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐต่ออาทิตย์ ณ สิ้นปี 2555 ก่อนจะตกฮวบฮาบในเดือนกันยายนที่มีเงินทุนไหลออกกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐอันเนื่องมาจากข่าวการลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของสหรัฐอเมริกา การปิดบริการของรัฐบาลกลางและการเจรจาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผันผวนส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับค่าเงินบาทนั้นในตอนแรกแข็งขึ้นร้อยละ 10 จากเดือนเมษายน 2555 ถึงเมษายน 2556 ตามมูลค่าที่แท้จริง จากนั้นก็อ่อนตัวลงร้อยละ 5 จากเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้

นอกจากนี้ ประเทศในแถบภูมิภาคเอเซียตะวันออกยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงภายใน หนี้ภาคครัวเรือนในประเทศมาเลเซียปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 80 ของจีดีพี ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 70 ส่วนหนี้ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินของประเทศจีนเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 ของจีดีพีซึ่งเป็นการเพิ่มความอ่อนไหวแก่ธุรกิจเหล่านี้ (รวมไปถึงธนาคารที่ให้ธุรกิจเหล่านี้กู้ยืมเงิน)

นอกเหนือไปจากความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคทั้งในระยะสั้นและระยะกลางดังกล่าว หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเริ่มจะเผชิญหน้ากับความท้าทายระยะยาวอันได้แก่ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำกันเรื่องรายได้ในประเทศจีนจากการคำนวณด้วยค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ (GINI coefficient) คิดเป็นร้อยละ 47.8 ส่วนในฟิลิปปินส์คิดเป็นร้อยละ 44.8 ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าวยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ


" ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งจากประเทศที่มีรายได้ต่ำในช่วงทศวรรษปี 80 กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2554 ประเทศไทยจะสามารถเติบโตในอัตราที่เร็วกว่าที่เป็นอยู่เพื่อมุ่งสู่ความเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้อย่างไร? ประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากมายในภูมิภาคที่กำลังเจริญรุ่งเรืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเติบโตที่เร็วขึ้นกว่าเดิม และครอบคลุมทั่วถึงกันด้วยการปรับปรุงระบบการศึกษาและโอกาสในการศึกษาสำหรับคนไทยทุกๆคน ตลอดจนการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม "
Image

อูริช ซาเกา

ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สภาวะเศรษฐกิจไทย

ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งจากประเทศที่มีรายได้ต่ำในช่วงทศวรรษปี 80 กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2554 ประเทศไทยจะสามารถเติบโตในอัตราที่เร็วกว่าที่เป็นอยู่เพื่อมุ่งสู่ความเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้อย่างไร?

ประเทศที่สามารถก้าวกระโดดไปสู่ระดับรายได้สูงในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เช่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ล้วนแล้วแต่คงการเจริญเติบโตโดยเฉลี่ยที่เกินกว่าร้อยละ 5 มาเป็นเวลา 20 ปีขึ้นไป

แล้วประเทศไทยจะสามารถดำเนินรอยตามประเทศเหล่านั้นได้หรือไม่? ช่างเป็นคำถามที่ตอบได้ยากยิ่ง จริงๆ แล้วคำถามนี้เป็นคำถามแรกในจำนวนทั้งหมด 3 คำถามที่ผมอยากจะกล่าวถึงในวันนี้

คำถามที่สองคือ จะทำอย่างไรให้ความเจริญของประเทศไทยเป็นไปอย่างทั่วถึงมากขึ้น? ระดับความยากจนของประเทศไทยลดต่ำลง ในปี 2543 คนไทยร้อยละ 20 ใช้จ่ายไปกับของจำเป็นในชีวิตประจำวันน้อยกว่าเส้นแบ่งความยากจนของชาติ ในปี 2553 มีคนไทยเพียงร้อยละ 10 ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนดังกล่าว

สภาวะความไม่เสมอภาคก็ลดต่ำลงด้วยเช่นกัน คนไทยที่ได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ที่วัดความเหลื่อมล้ำทางการบริโภคในประเทศไทยลดต่ำลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 42 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 39 ในปี 2553 นี่คือข่าวดี

ความท้าทายก็คือ ความไม่เท่าเทียมกันยังคงมีอยู่สูง ความเหลื่อมล้ำทางการบริโภคในอัตราเกือบร้อยละ 40 นั้นถือว่าสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานนานาชาติ แม้ว่าความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ของประเทศไทยจะลดต่ำลง แต่อัตราร้อยละ 52 ในปี 2553 ก็ยังคงเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศในเอเซียตะวันออก

แล้วจะต้องทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะสามารถลดความไม่เท่าเทียมกันให้มากกว่านี้ เพื่อที่คนไทยทุกคนจะได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ? ผมเชื่อว่าการพัฒนาการศึกษาและทักษะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นและทั่วถึงขึ้นในระยะยาว

เราลองมาดูคะแนนจากการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ซึ่งประเมินทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนวัย 15 ปี การประเมินผล PISA นี้เป็นการประเมินผลการศึกษาหลักของประเทศทั่วโลก คะแนนจากการประเมินผล PISA ของนักเรียนไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าคะแนนของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

หากแต่คะแนนที่ประเมินได้ในกรุงเทพฯ มีค่าใกล้เคียงกับของประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นความท้าทายหลักๆ คือการพัฒนาการศึกษานอกเขตกรุงเทพฯ หรืออาจกล่าวได้ว่ามันคือการให้โอกาสทางด้านการศึกษาแก่นักเรียนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยนอกเขตกรุงเทพฯ ในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วหากมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการศึกษาให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ผมขอสรุปความท้าทายหลักข้อที่สามที่เราเห็นของประเทศไทย และแน่นอนรวมไปถึงเอเซียตะวันออกและทั่วโลก นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในประเทศไทย ประเด็นหลักๆ คืออัตราการใช้พลังงานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการขนส่ง ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อัตราส่วนของปริมาณพลังงานที่ใช้ในภาคการขนส่งสูงที่สุดในโลกในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ผลิตน้ำมันเอง ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของประเทศจีนและกว่าสามเท่าของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

สาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยมีอัตราส่วนของปริมาณพลังงานที่ใช้ในภาคการขนส่งสูงนั้นคือ การพึ่งพาการขนส่งทางบกเป็นหลักโดยคิดเป็นกว่าร้อยละ 85 ของการขนส่งสินค้า ส่วนการขนส่งทางรถไฟคิดเป็นร้อยละ 2 เท่านั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐได้วางแผนไว้ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ หรือระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ จะสามารถช่วยลดอัตราการใช้พลังงานนี้ได้ การลงทุนเหล่านี้คือ โอกาสสำคัญของประเทศไทย

โดยสรุป ผมอยากจะเน้นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากมายในภูมิภาคที่กำลังเจริญรุ่งเรืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเติบโตที่เร็วขึ้นกว่าเดิม และครอบคลุมทั่วถึงกันด้วยการปรับปรุงระบบการศึกษาและโอกาสในการศึกษาสำหรับคนไทยทุกๆคน ตลอดจนการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ธนาคารโลกมุ่งมั่นที่จะเป็นภาคีแห่งการพัฒนาประเทศไทยดังที่เราเป็นมากว่า 50 ปี เรายินดีที่จะทำงานร่วมกับประเทศไทยและคนไทยไปอีกหลายๆ ปีข้างหน้า ขอบคุณครับ


สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพฯ
Paul Risley
โทร: +66 2686 8324
prisley@worldbank.org
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: +66 2 686 8326
bsangarun@worldbank.org

Api
Api

Welcome