กรุงเทพฯ 10 ตุลาคม 2562 - เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกชะลอการเติบโตลงจากเดิมที่ร้อยละ 6.3 ในปี 2561 ลดเหลือเป็นร้อยละ 5.8 ในปี 2562 และร้อยละ 5.7 และ 5.6 ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตด้านการส่งออกและกิจกรรมด้านการผลิตที่ลดลงในวงกว้าง
รายงาน East Asia and Pacific Economic Update ฉบับเดือน ตุลาคม 2562 ภายใต้ชื่อ Weathering Growing Risks ซึ่งเปิดตัววันนี้พบว่าอุปสงค์ของตลาดโลกที่อ่อนตัวลง รวมถึงอุปสงค์จากจีนซึ่งก็ลดลงไปด้วย และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนมากขึ้นส่งผลให้การเติบโตด้านการส่งออกและการลงทุนลดลง นับเป็นบททดสอบความยืดหยุ่นในการรับมือด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้
ในภูมิภาคนี้ ไม่รวมจีน การบริโภคยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าไปเล็กน้อยเนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินและการคลัง ในขณะเดียวกัน ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กในภูมิภาคยังเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และเหมืองแร่ สะท้อนให้เห็นถึงบริบทของแต่ละประเทศที่มีลักษณะเฉพาะตัว
“เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราการลดความยากจนก็จะลดลง” นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “ขณะนี้ เราคาดการณ์ว่าประชากรเกือบหนึ่งในสี่ของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจนของประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงที่ 5.5 เหรียญสหรัฐต่อวัน คือประชากรเกือบ 7 ล้านคน ที่เราได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในเวลานั้นเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังคงเติบโตแข็งแรง”
รายงานนี้ระบุอย่างชัดเจนว่าความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในระยะยาว ในขณะที่บางประเทศหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนรูปแบบการค้าโลกใหม่ แต่ทว่าความไม่ยืดหยุ่นของห่วงโซ่มูลค่าโลกทำให้ทำให้ประเทศในภูมิภาคไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวในระยะใกล้
“ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ พยายามหาหนทางเพื่อลบเลี่ยงภาษีศุลกากร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะสามารถทดแทนบทบาทของจีนในห่วงโซ่มูลค่าโลกได้ในระยะสั้น เนื่องจากการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและกำลังผลิตยังมีขนาดเล็ก” นายแอนดรู เมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว
รายงานนี้ได้เตือนถึงความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะรุนแรงมากขึ้น ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อจะส่งผลเสียต่อการเติบโตของการลงทุนอย่างต่อเนื่องเนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง เศรษฐกิจของจีนที่ลดการเติบโตลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปัญหาในภาคพื้นสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเรื่อง Brexit ที่ยังไม่ลงตัวอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากภูมิภาคนี้ลดตัวลงต่อไป
นอกจากนี้ ระดับหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและกำลังเพิ่มขึ้นในบางประเทศนั้นส่งผลให้การใช้นโยบายการคลังและการเงินเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมีข้อจำกัดในการดำเนินการ อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาวะการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันสามารถทำให้การกู้ยืมมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น การเติบโตของสินเชื่อยังซบเซา และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนและการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รายงานนี้ได้ให้คำแนะนำแก่ประเทศต่าง ๆ ให้เตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมในการใช้มาตรการด้านการคลังหรือนโยบายการเงินเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยต้องปกป้องความยั่งยืนด้านการคลังและหนี้ไปพร้อม ๆ กัน ประเทศในภูมิภาคนี้จะได้รับประโยชน์จากการเปิดการค้า และจากการรวมตัวด้านการค้าในภูมิภาคให้มากกว่าเดิม
ความขัดแย้งเรื่องการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต้องปฏิรูปเพื่อปรับปรุงผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการปฏิรูปด้านกฎระเบียบข้อบังคับซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศการค้าและการลงทุนมีความสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะดึงดูดการเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า เทคโนโลยี และ การถ่ายทอดความรู้