กรุงเทพฯ 9 กันยายน 2562 – รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้หารือถึงแนวทางและกรอบนโยบายสำคัญเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาทุนมนุษย์ในภูมิภาคอาเซียนผ่านการลงทุนเชิงนโยบายอย่างบูรณาการและการปฏิรูปอย่างสร้างสรรค์
ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนต่างประสบความสำเร็จในการสร้างพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมถึงการลดความยากจนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่ค่าเฉลี่ยของตัวชี้วัดด้านการศึกษา สุขภาพและการพัฒนาทักษะยังคงต่ำกว่าที่คาดหวัง เมื่อเปรียบเทียบกับระดับรายได้ของกลุ่มประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังมีความเหลื่อมล้ำสูงในเรื่องอายุขัยเฉลี่ย ผลิตภาพแรงงาน และคุณภาพการศึกษา ดังนั้น การลงทุนโดยเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กและเยาวชนยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญ
การประชุมระดับสูงอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับธนาคารโลกและยูนิเซฟ โดยการประชุมฯ มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายและหารือแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ใหม่ ๆ พร้อมทั้งกำหนดประเด็นการพัฒนาทุนมนุษย์ที่ภูมิภาคมีความสนใจร่วมกันโดยนำบริบทของแต่ละประเทศมาปรับใช้เพื่อให้มีการดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสม
“ภูมิภาคของเรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแนวทางต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้แรงงานมีทักษะที่สามารถแข่งขันได้ และมีความพร้อมสำหรับโลกอนาคตซึ่งมีเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน” นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าว “การออกแบบนโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพโดยเน้นทุนมนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนานั้นถือเป็นความสำคัญลำดับแรกสำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน”
โครงการทุนมนุษย์ของธนาคารโลกเป็นการประเมินความก้าวหน้าในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า เด็กที่เกิดในประเทศสมาชิกอาเซียนในวันนี้โดยเฉลี่ยแล้วคาดว่าจะมีโอกาสได้ใช้ศักยภาพของตนเองที่มีอยู่เพียงร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับเด็กที่เกิดในประเทศที่มีการศึกษาและระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพสูง
“การลำดับความสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์หมายถึงการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการลงทุน นโยบาย และโครงการต่าง ๆ ” นางมารา วาร์วิค ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กล่าว “ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถระบุช่องว่างและสร้างอนาคตที่รุ่งเรือง เท่าเทียม และยั่งยืนให้กับคนทุกคนได้โดยการดำเนินการตามเป้าหมายนี้”
ในโอกาสนี้ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกันอภิปรายถึงความสอดคล้องเชื่อมโยงระหว่างนโยบายและการลงทุนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม
การประชุมฯ ยังได้หารือประเด็นภาวะทุพโภชนาการ โดยหลายประเทศได้หยิบยกตัวอย่างความก้าวหน้าและความท้าทายของการดำเนินนโยบายในด้านนี้ โดยในภูมิภาคอาเซียน มีการคาดการณ์ว่า เด็กกว่า 5 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากการขาดสารอาหาร ในขณะที่เด็กหนึ่งในสี่มีร่างกายแคระแกร็นเนื่องจากเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการเรื้อรัง ทั้งนี้ รัฐมนตรีและผู้แทนภาครัฐได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความท้าทายในการออกแบบและการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อขจัดภาวะทุพโภชนาการ
ทุกรูปแบบให้ประสบความสำเร็จ
“นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกประเทศได้รับรองปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบปัจจุบัน ภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญกับปัญหาทุพโภชนาการ 2 ลักษณะ คือ มีคนกว่า 63,700,000 ล้านคน ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ในขณะที่ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินในวัยเด็กสูงได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ส่งผลลบต่อทุนมนุษย์ รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” นางคาริน ฮัลส์ฮอฟ ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว
ผู้แทนกระทรวงด้านการวางแผนและแรงงานได้กล่าวถึงการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของลักษณะงาน ผู้แทนยังได้หารือถึงโอกาสในการพัฒนาแรงงานในอาเซียนเพื่อรองรับโลกอนาคต ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การลงทุนในการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ของคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งยังมีช่องว่างในการพัฒนามนุษย์สูง
ทั้งนี้ ได้มีข้อสรุปจากการประชุมซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนยินดีที่จะส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการลงทุนเชิงนโยบายอย่างบูรณาการ ด้วยการพัฒนาระบบสาธารณสุข การศึกษาที่มีคุณภาพ การส่งเสริมเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาทักษะแรงงานของทุกช่วงวัย