ข่าวประชาสัมพันธ์

เศรษฐกิจไทยยังทรงตัวไปสู่การฟืันฟูอย่างเต็มที่ รายงานเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555




ภูมิภาคต้องลดการพึ่งพาการส่งออก และหาแหล่งขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่
รายงานสถานการณ์ล่าสุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโดยธนาคารโลก

กรุงโตเกียว วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 – การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเข้มแข็ง แต่ก็ชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวสูงสุดก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงชะลอตัว  ประเทศในภูมิภาคนี้ควรจะต้องลดการพึ่งพาการส่งออกและแสวงหาแหล่งขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ – กล่าวโดยธนาคารโลกในรายงานสถานการณ์ล่าสุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกซึ่งเผยแพร่วันนี้

จากรายงานภายใต้หัวข้อเรื่อง “แหล่งขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่” ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.2 ในปี 2554 (ร้อยละ 4.3 หากไม่รวมจีน) ซึ่งลดลงมากจากการขยายตัวกว่าร้อยละ 10 ในปี 2553 (ร้อยละ 7 หากไม่รวมจีน) การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับนี้ จัดว่าอยู่ในระดับที่น่า พึงพอใจเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก  ในปี 2554 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกกว่าร้อยละ 2 จุด และความยากจนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

“คาดว่าจำนวนประชากรที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวันจะลดลงกว่า 24 ล้านคนในปี 2555 ถ้ามองในภาพรวม จำนวนประชากรที่ยากจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งในทศวรรษนี้” นางพาเมล่า คอกซ์ รองประธานธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าว “แม้ว่าภูมิภาคนี้จะประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดความยากจน แต่กว่าหนึ่งในสามของประชากรในภูมิภาคนี้อีกประมาณ  500 ล้านคน ยังดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจน  ในสภาพแวดล้อมของโลกที่มีความไม่แน่นอน จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะหาแหล่งขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับประชากรทุกคน”

อัตราการขยายตัวที่ชะลอลงในปี 2554 ส่วนใหญ่แล้ว เป็นผลมาจาก อัตราการขยายตัวของการผลิตเพื่อการส่งออกที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้  ประกอบกับผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น และมหาอุทกภัยในประเทศไทย  อย่างไรก็ดีอุปสงค์ภายในประเทศและการลงทุนยังมีความเข้มแข็งมากจากการเกื้อหนุนของการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในบางประเทศ

“ประเทศไทยฟื้นตัวได้อย่างดีมากจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ และการฟื้นตัวอย่างเต็มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นสุดไตรมาสที่สองของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะเป็นตัวถ่วงการส่งออกในปีนี้  ดังนั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.5”  ดร. กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมสำหรับการชะลอตัวครั้งรุนแรงของเศรษฐกิจโลก โดยต้องให้มั่นใจว่าประเทศมีฐานะการคลังที่มั่นคงเพียงพอ และในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของไทยอย่างรวดเร็ว”

สำหรับในปี 2555 รายงานฉบับนี้ประมาณการว่าอัตราการขยายตัวของภูมิภาคทั้งปีจะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 7.6 โดยการขยายตัวที่ชะลอตัวลงของจีนจะเป็นตัวฉุดอัตราการขยายตัวโดยรวมของทั้งภูมิภาค  หากไม่รวมจีน อัตราการขยายตัวของภูมิภาคน่าจะเพิ่มขึ้นที่ระดับร้อยละ 5.2 เนื่องจากการผลิตในประเทศไทยกลับมาผลิตได้ตามปกติ  ผู้ส่งออกสินค้าซึ่งมีประสบการณ์และผลประกอบการที่ดีในปี 2554 อาจจะต้องตกอยู่ในสภาพที่อ่อนไหวจากความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้  ทั้งนี้ อาจจะส่งผลให้เกิดการตกต่ำของราคาสินค้าอย่างที่ไม่ได้คาดหมายมาก่อนได้

“เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่อยู่ในสถานะการณ์ที่ดีที่สามารถต้านทานความผันผวนครั้งใหม่  เป็นที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอุปสงค์ภายในก็สามารถต้านทานต่อวิกฤตการณ์ที่ฉับพลันได้ หลายประเทศมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ระบบธนาคารส่วนใหญ่ก็มีทุนที่เข้มแข็ง” นายเบิร์ท ฮอฟแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของธนาคารโลกกล่าว “ความเสี่ยงที่เกิดจากยุโรปมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ผ่านความเชื่อมโยงทางการค้าและการเงิน” มูลค่าการส่งออกของภูมิภาคนี้ไปยังสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นคิดเป็นกว่าร้อยละ 40  และธนาคารของยุโรปก็ให้บริการกว่าหนึ่งในสามของการค้าและการให้สินเชื่อโครงการในภูมิภาคเอเชีย

อุปสงค์ภายนอกยังคงอ่อนแอ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจำเป็นต้องลดการพึ่งพาการส่งออกและหันกลับมาพึ่งอุปสงค์ภายในเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หลายประเทศก็ได้ดำเนินการในทิศทางนี้อยู่แล้ว  อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องทางที่จะปรับสมดุลเพิ่มเติมได้อีก

“ในบางประเทศมีความจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน  และบางประเทศก็ต้องขยายการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมศักยภาพการขยายตัวอย่างยั่งยืน  แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่เพิ่มแรงกดดันต่ออุปสงค์ในประเทศ” ดร. ไบรซ์  ควิลลิน นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก และผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้กล่าว “จากการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงินภายหลังวิกฤตการณ์การเงินยังจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาช่องทางใหม่ ๆ ในการหาแหล่งเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น  รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการเร่งเตรียมการโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน”

ในระยะปานกลาง  การลงทุนจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพและผลักดันการขยายตัวโดยการเพิ่มกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรม   ถึงแม้ว่าจะมีผลประโยชน์มหาศาลที่ได้จากการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในภูมิภาคตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540-2541  แต่ก็ยังมีช่องว่างอีกมากที่จะผลักดันให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นได้อีก

รายงานฉบับนี้ ยังได้เสนอแนะว่า ควรปรับปรุงนโยบายที่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประโยชน์จากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วยตอบสนองอุปสงค์ด้านแรงงานในประเทศที่มีจำนวนประชากรวัยทำงานลดลง

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน
Mohamad al-Arief
โทร: +1 (202) 458-5964
malarief@worldbank.org
ใน กรุงเทพฯ
บุณฑาริกา แสงอรุณ
โทร: +66 2 686 8326
bsangarun@worldbank.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2012/462/EAP

Api
Api

Welcome