ข่าวประชาสัมพันธ์

ผลประโยชน์จากเขื่อนน้ำเทิน 2 กำลังตกถึงชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553




วอชิงตัน 15 กรกฎาคม 2553 –รายได้จากการทดลองส่งกระแสไฟฟ้าจากโครงการน้ำเทิน 2 สู่ประเทศไทยนั้นเริ่มจะหลั่งไหลเข้าลาว และถูกนำไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการศึกษา การสาธารณสุข รวมทั้งการพัฒนาถนนหนทางและการแจกจ่ายไฟฟ้าในชนบท อีกทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ในขณะเดียวกัน โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเขตที่ราบสูงนากาย น้ำเทิน สีบางไฟทางตอนใต้ของเขื่อน และสันปันน้ำน้ำเทิน 2 ซึ่งในอดีตเคยเผชิญกับความยากลำบากบางประการ ก็กำลังมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ รายงานประจำปีว่าด้วยความคืบหน้าในการดำเนินโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ร่วมกันจัดทำเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารของแต่ละสถาบันได้ระบุว่า การทดลองส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าจากโครงการในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น ทำให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้รับรายได้รวมทั้งสิ้นหกแสนเหรียญฯ สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน เมื่อถึงเดือนกันยายน ศกนี้ คาดว่ารายได้จากการนี้จะพุ่งขึ้นไปสูงถึงหกล้านห้าแสนเหรียญฯ และเป็นรายได้เพิ่มเติมสำหรับทางการลาวในการจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อบรรเทาความยากจนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธนาคารโลกตัดสินใจเข้ามีส่วนร่วมในโครงการนี้ ตลอดระยะเวลา 25 ปีถัดจากนี้ไป ลาวจะได้รับรายได้จากโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนสูงถึงสองพันล้านเหรียญฯ

“เมื่อพิจารณาว่า สามในสี่ของประชากรลาวทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่าสองเหรียญฯต่อวัน รายได้ที่เกิดจากโครงการน้ำเทิน 2 จึงจัดว่ามีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของประเทศลาว และต่อการยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรผู้ยากไร้” นายจอห์น โรม ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าว

ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นและพอใจกับความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของลาวฉบับล่าสุดที่ธนาคารโลกจัดทำนั้นระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณร้อยละ 3 จุดของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลาวในปี 2553 ซึ่งธนาคารโลกคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 7.8 นั้น จะมาจากโครงการน้ำเทิน 2

ในรายงานความคืบหน้าโครงการที่ธนาคารโลกและเอดีบีนำออกเผยแพร่ในวันนี้ยังระบุด้วยว่า ชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในที่ราบสูงนากายจำนวน 6,200 คน ซึ่งต้องโยกย้ายถิ่นฐานออกจากบริเวณที่ราบสูงดังกล่าวเมื่อสองปีที่แล้ว มีความพอใจอย่างยิ่งต่อสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่ในปัจจุบัน โดยเกือบร้อยละ 90 ของชาวบ้านเหล่านี้รายงานว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขานั้นดีกว่าก่อนมาก

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า รายได้ของชาวบ้านเหล่านี้สูงขึ้นกว่าเดิมเกือบสองเท่า จากที่เคยเป็น 140 เหรียญฯ ต่อปีก็พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 260 เหรียญฯ ต่อปีในปัจจุบัน และชาวบ้านยังได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่การศึกษา การสาธารณสุข และการขนส่งในหมู่บ้านดีขึ้นกว่าก่อนมาก ชาวบ้านหลายคนนำรายได้ที่มากขึ้นไปใช้ในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของตน รวมทั้งลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ เช่นโทรทัศน์ มอเตอร์ไซคล์ ทำให้ปัจจุบันนี้ค่ามัธยฐาน (media value) ของสินทรัพย์ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 120 เหรียญฯ ในเดือนสิงหาคม 2549 เป็น 480 เหรียญฯ ในเดือนพฤษภาคม 2552

ยังมีอุปสรรคที่ต้องก้าวข้าม

แม้ว่าจะมีความสำเร็จที่เห็นได้ชัดจากโครงการนี้ก็ตาม แต่อุปสรรคต่าง ๆ ก็ใช่ว่าจะหมดไป รายงานความคืบหน้าโครงการกล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญที่สุดที่จำเป็นจะต้องพิจารณาคือการทำให้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียงกับโครงการตกถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ปัจจุบันนี้ แรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณดังกล่าวนั้นดูเหมือนจะสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการขยายตัวของประชากรและการที่กลุ่มคนภายนอกเข้ามาหาผลประโยชน์จากป่าไม้ แหล่งแร่ธาตุ และการประมงในบริเวณโครงการ รายงานระบุว่า รัฐบาลลาวกำลังให้ความสนใจแก่ประเด็นท้าทายเหล่านี้อยู่อย่างใกล้ชิด

ในปีที่ผ่านมา ทางการลาวได้พยายามที่จะหาวิธีหยุดการทำเหมืองแร่และการตัดไม้ในเขตอนุรักษ์บนที่ราบสูงนากาย ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง ใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ถึงเจ็ดเท่า และเป็นเขตอนุรักษ์ที่ธนาคารโลกขอให้ลาวปกปักรักษาเป็นการแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนทางการเงินของสถาบัน อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวระบุว่า ทางการลาวจำเป็นที่จะต้องคอยสอดส่องดูแลพื้นที่เหล่านี้ต่อไปอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการบุกรุกจากภายนอก

ในตอนใต้ของแม่น้ำสีบางไฟ การปล่อยน้ำออกจากโครงการน้ำเทิน 2 ซึ่งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสีบางไฟเพิ่มขึ้น คุณภาพของน้ำได้รับผลกระทบ เกิดการกร่อนเซาะของตลิ่ง และงการสูญเสียของพืชสวนริมน้ำนั้น ได้รับการคาดหมายมาก่อนแล้วล่วงหน้า ทำให้มีการวางแผนกิจกรรมที่จะช่วยลดผลกระทบเหล่านี้ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการ โดยได้มีการจัดทำโครงการบรรเทาผลกระทบปลายน้ำสีบางไฟซึ่งชาวบ้านมีส่วนร่วมเมื่อหลายปีก่อน และในสองปีที่ผ่านมานั้นก็ได้มีการเพิ่มความพยายามในส่วนนี้ ทำให้ปัจจุบันนี้มีความก้าวหน้ามากมาย โดยหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบได้รับการจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ ชาวบ้านได้รับการชดเชยจากพืชสวนริมน้ำที่สูญเสียไป รวมทั้งได้มีการจัดทำโครงการสำหรับส่งเสริมสุขาภิบาลน้ำในหมู่บ้านด้วย อย่างไรก็ตาม การสอดส่องดูแลผลกระทบอันนอกเหนือไปจากสิ่งที่คาดคิดไว้ล่วงหน้าก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป

“ธนาคารโลกยังมุ่งมั่นที่จะคอยดูแลสอดส่องเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินโครงการนี้จะเป็นไปตามแผนงานที่ได้วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ให้มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณโครงการเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นต่อไป” นายพัทชมุธู อิลังโกวัน ผู้จัดการสำนักงานธนาคารโลกประจำสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาวกล่าว

รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ยังกล่าวด้วยว่า โครงการนี้ได้ช่วยให้ลาวสามารถนำเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรแผ่นดิน เพื่อให้มีความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพของทางการลาวในการบริหารโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ อันมีส่วนในการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในประเทศให้ดีขึ้นอีกด้วย

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org


Api
Api

Welcome