เรื่องเด่น

การตรวจรักษาเชื้อเอชไอวีแต่เนิ่นๆ ช่วยชีวิตคนได้

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558



เรื่องเด่น
  • ไทยประสบภาวะเชื้อเอชไอวีระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะในหมู่ชายรักชายในกรุงเทพมหานคร พบว่าหนึ่งในสามของชายรักชายในกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง
  • อัตราการตรวจรักษาต่ำเป็นสาเหตุหนึ่งให้อัตราการติดเชื้อเอชไอวีในหมู่ชายรักชายเพิ่มจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 28 ระหว่างปี 2543 ถึง 2555
  • การศึกษาล่าสุดพบว่าการเพิ่มบริการตรวจและรักษาโรคฟรีจะช่วยชีวิตผู้คนได้ โดยจะลดการติดเชื้อเอชไอวีในหมู่ชายรักชายได้ถึงครึ่งหนึ่งภายในปี 2565

กรุงเทพมหานคร 1 กรกฎาคม 2558 – คลินิกเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ใจกลางพัฒน์พงศ์ ย่านโคมแดงอันโจษจันในหมู่นักท่องราตรีในกรุงเทพมหานคร มีบริการตรวจเชื้อเอชไอวีและให้คำปรึกษาแก่ผู้ขายบริการทางเพศและชายรักชาย

ที่นี่เป็นที่ทำงานของผู้ขายบริการทางเพศที่ผันตัวมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านเอชไอวี/เอดส์ หนึ่งในนั้นคือคุณจำรอง แพงหนองยาง วัย 42 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการสวิง (SWING) องค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ซึ่งมุ่งให้ข้อมูล ให้กำลังใจและแจกถุงยางอนามัยให้แก่ชายผู้ขายบริการทางเพศ

มูลนิธิ SWING เพิ่งขยับขยายการบริการจากกลุ่มชายผู้ขายบริการทางเพศไปสู่กลุ่มชายรักชาย เพื่อช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อเอชไอวีในหมู่ชายรักชาย

“เสาร์อาทิตย์นี้ ผมจะไปชมการแสดงนาฏศิลป์ไทยที่โคราชกับชายรักชายจำนวนมาก จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเราไม่ใช่เพื่อไปชมการแสดง” คุณจำรองกล่าว

“ทีมงานของเราจะแทรกซึมเข้าไปและนำถุงยางหลายพันชิ้นไปแจกจ่าย” เขาอธิบาย “เราจะประชาสัมพันธ์ให้พวกเขารู้ว่ามีคลินิกที่ให้บริการตรวจเชื้อเอชไอวีฟรีและเป็นความลับ”

1 ใน 3 ของประชากรชายรักชายที่มีอยู่ 185,000 คนในกรุงเทพฯ ถือว่ามีความเสี่ยงต่อเอชไอวีสูง เนื่องจากอายุยังน้อย มีคู่นอนหลายคน และมักมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน โดยมีชายรักชายเพียงร้อยละ 27 เข้าไปตรวจเชื้อเอชไอวีในปี 2554

“ผู้ขายบริการทางเพศโดยทั่วไปเข้าใจความสำคัญของการป้องกันอยู่แล้ว จึงมีอัตราการระบาดของเชื้อเอชไอวีต่ำ เราจึงต้องเร่งรณรงค์นอกกลุ่มเป้าหมายนี้และเข้าถึงกลุ่มชายรักชายด้วย” คุณจำรองกล่าว

นำนวัตกรรมมาใช้

แม้ว่าหัวใจหลักของการทำกิจกรรมของ SWING คือการออกไปประชาสัมพันธ์ตามชุมชน เช่น จัดกิจกรรมตามบาร์ต่างๆ ก่อนเปิดทำการ เดินแจกจ่ายแผ่นพับตามย่านท่องราตรี และรณรงค์ให้ผู้คนไปตรวจสุขภาพ ตอนนี้พวกเขาใช้วิธีการเชิงสร้างสรรค์อื่นๆ เข้ามาด้วยเพื่อเข้าถึงกลุ่มชายรักชาย

พวกเขาเริ่มใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างแคมฟร็อกและไลน์  เพื่อนวิทยากรและอาสาสมัครเข้าร่วมกลุ่มแชทต่างๆ เพื่อเผยแพร่ว่าเหตุใดจึงควรตรวจโรคแต่เนิ่นๆ และจะไปตรวจได้ที่ไหน

เว็บไซต์อดัมส์เลิฟของสภากาชาดไทยเป็นแหล่งข้อมูลแหล่งหนึ่งที่รณรงค์ชักชวนให้ชายรักชายมาตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับกรุงเทพมหานคร

ประเทศไทยมีโครงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ที่ก้าวหน้าและครอบคลุมที่สุดแห่งหนึ่งในโลก กล่าวคือมีบริการตรวจเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ คลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีชายรักชายเข้ารับการบริการดังกล่าวในกรุงเทพฯ น้อยมาก

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีสถานพยาบาลมากมายหลายแห่งในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีผู้ไปใช้บริการ

“จากสถานพยาบาลกว่า 90 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ที่มีบริการตรวจรักษาเชื้อเอชไอวี มีเพียงสองแห่งที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก” สุทยุต โอสรประสพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามนุษย์ของธนาคารโลกกล่าว “เราต้องประชาสัมพันธ์ให้ชายรักชายทราบว่ามีสถานที่ตรวจเชื้ออยู่หลายต่อหลายแห่ง การกระตุ้นให้ตรวจและรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยชีวิตคนได้ ทั้งยังประหยัดคุ้มค่าที่สุดด้วย”



" ตรวจไว้เป็นความรู้ จะได้เริ่มหาทางรักษา แต่ถ้าคุณกลัวแล้วไม่ไปตรวจ ไวรัสก็จะเล่นงานคุณ "
Image

Chamrong Phangnongyang

HIV/AIDS educator


ก้าวแรกคือต้องเอาชนะความกลัว

ความกลัวคืออุปสรรคใหญ่ที่ทำให้คนไม่มาตรวจโรค” คุณจำรองกล่าว “พวกเขากลัวว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะไม่ยอมรับ กลัวว่าเพื่อนๆ จะรังเกียจ กลัวว่าจะต้องออกจากงาน”

“คนส่วนใหญ่มักรอให้เริ่มมีอาการ แทนที่จะตรวจเสียแต่เนิ่นๆ“ เขากล่าว “เรามีหน้าที่ต้องอธิบายให้พวกเขารู้ว่าการตรวจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด”

เมื่อเห็นเพื่อนตัวเองติดเชื้อเอชไอวี เขาเผยว่าดีใจมากที่ผันตัวมาเป็นเพื่อนวิทยากรให้คำแนะนำ

“ตรวจไว้เป็นความรู้ จะได้เริ่มหาทางรักษา” เขาเอ่ย “แต่ถ้าคุณกลัวแล้วไม่ไปตรวจ ไวรัสก็จะเล่นงานคุณ”

คุณจำรองปลื้มใจที่ได้ช่วยเพื่อนๆ ในหมู่ชายรักชาย “ไปตรวจให้รู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีเสียแต่เนิ่นๆ เป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะเริ่มดูแลตัวเอง จะได้อยู่อย่างแข็งแรงขึ้น อายุยืนยาวขึ้น”


มัลติมีเดีย

Api
Api

Welcome