สุนทรพจน์ และ บันทึกสุนทรพจน์

สุนทรพจน์สำหรับงานเปิดตัวโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดหาแหล่งทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Finance Center of Excellence) และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการ Singapore Hub

วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โรเบิร์ต บี เซลลิค

เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งมอบ

โรเบิร์ต บี เซลลิค

ประธานกลุ่มธนาคารโลก

ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรี Shanmugaratnam ท่านผู้มีเกียรติ ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเรียนให้ท่านทราบในวันนี้ถึงความร่วมมือระหว่างกลุ่มธนาคารโลก และรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดหาแหล่งทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Finance Center of Excellence: IFCOE)

การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นรากฐานสำคัญของยุทธศาสตร์การฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจโลกของกลุ่มธนาคารโลก การลงทุนทางด้านนี้สามารถสร้างงานในปัจจุบันและส่งเสริมศักยภาพในการผลิตรวมทั้งช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ผมจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและตลาดเกิดใหม่ 20 ประเทศ ณ กรุงโซล (Seoul G-20 Summit) ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งจะมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้เพิ่มมากขึ้น

ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารโลกได้จัดสรรเงินทุนถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อันเป็นจำนวนเงินที่สูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และได้จัดหาแหล่งทุนเพิ่มเติมอีก 1.8 หมื่นล้านเหรียญฯ จากการร่วมทุนของภาคีเพื่อการพัฒนาทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

แต่ความต้องด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นยังมีอีกมาก: มีประชากรโลกอีกราว 880 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำสะอาด กว่า 1500 ล้านคนยังคงไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ กว่า 2500 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงการสุขาภิบาลที่ดี และมากกว่า 1 พันล้านคนยังอาศัยอยู่ในพื้นที่อันปราศจากถนนที่สามารถทนทานสภาพอากาศได้ทุกรูปแบบหรือบริการทางโทรศัพท์ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 3,300 ล้านคนเป็น 5,000 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2573 โดยประชากรในเขตเมืองของแอฟริกาและเอเชียจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่งผลให้ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ที่อยู่อาศัย การประปา การจัดการขยะ และความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

เราจำต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของการลงทุนภาครัฐ โดยการดึงดูดการลงทุนและใช้เงินทุนจากภาคเอกชนให้ด้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงการกระจายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศให้มากขึ้น ทั้งนี้ การตัดสินใจด้านลงทุนจำต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green growth) การสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงอันมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจระยะยาว เนื่องจากการตัดสินใจที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในวันนี้นั้นจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาของเมืองและวิถีชีวิตในอนาคตต่อไปอีกหลายทศวรรษข้างหน้า หรืออาจเป็นศตวรรษทีเดียว

การตระหนักถึงความสำคัญของวาระการพัฒนานี้ทำให้เราตัดสินใจจัดตั้งศูนย์ชุมชนเมืองในสิงคโปร์ (Singapore Urban Hub) ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยเราหวังว่าศูนย์ดังกล่าวจะสนับสนุนการดำเนินงานของเราในด้านการพัฒนาเมืองและแนวทางการจัดหาเงินทุนอย่างสร้างสรรค์ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศูนย์ชุมชนเมืองของสิงคโปร์นี้จะสามารถช่วยให้

  • มีการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของสิงคโปร์กับประเทศอื่นๆ ผ่านการทำงานร่วมกัน
  • พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาค เช่น ASEAN และ APEC
  • กระชับความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารโลกกับภาคเอกชน และผสมผสานการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการเข้ากับการวางผังเมือง และการจัดการเข้ากับการจัดหาแหล่งทุนรูปแบบใหม่

ศูนย์ชุมชนเมืองของสิงคโปร์นี้ช่วยเสาะหาแนวทางการพัฒนาที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และนำไปปฏิบัติได้จริง โดยจะเป็นศูนย์การให้คำแนะนำสำหรับการดำเนินโครงการและการปฏิบัติจริง ความสำเร็จของโครงการที่เราทำกับสิงคโปร์ดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาขั้นต่อไปที่เราจะประกาศในวันนี้ ซึ่งคือ การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดหาแหล่งทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ศูนย์ความเป็นเลิศฯ ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์ชุมชนเมืองของสิงคโปร์นี้ จะนำเสนอนวัตกรรมสำหรับรูปแบบธุรกิจที่รวมความรู้ที่ดีที่สุดระดับโลกจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เข้ากับการให้คำปรึกษาเชิงวิชาการและสำหรับภาคปฏิบัติ เพื่อให้คำแนะนำและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศที่กำลังพัฒนาในการจัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ศูนย์ความเป็นเลิศฯ นี้จะมีการให้คำแนะนำเชิงนโยบายแก่รัฐบาล รวมทั้งเป็นช่องทางให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เข้าถึงความรู้ความเชี่ยวชาญระดับโลก ในด้านของการจัดหาแหล่งทุนภาคเอกชนและการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเราเชื่อว่าการให้บริการนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่จำเป็นซึ่งสามารถดึงดูดภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนได้

และเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า ออสเตรเลียได้ตอบรับที่จะเข้ามามีบทบาทในศูนย์ความเป็นเลิศฯ นี้ผ่านช่องทางของโครงการริเริ่มด้านการให้คำปรึกษาของ APEC (APEC Mentoring Initiative) เพื่อที่จะสนับสนุนโครงการบางโครงการที่จะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของออสเตรเลีย

กลุ่มธนาคารโลกได้ทำงานร่วมกับออสเตรเลียในการร่างกฎระเบียบขั้นพื้นฐานเพื่อที่จะเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกลุ่มประเทศ APEC เพื่อที่จะนำไปใช้กับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ APEC เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ในการประชุมสุดยอดในปีที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึงปัญหาที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ กำลังประสบอยู่เกี่ยวกับการระดมทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระหว่างที่วิกฤตการเงินโลกยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลต่างๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาเงินทุนผ่านตลาดพันธบัตรท้องถิ่น ภาคพื้นเอเชียตะวันออกในขณะนั้นก็กำลังสรรหารูปแบบการระดมทุนใหม่ ๆ สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและนักลงทุนทั้งหลายต่างก็ต้องการจะเห็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีความชัดเจนและมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ

เราได้บรรลุเป้าหมายหลายประการนับตั้งแต่การประชุมสุดยอดด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปีที่แล้วเป็นต้นมา และผมก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่า โครงการที่อยู่ในระยะแรกของบันทึกความเข้าใจที่ศูนย์ชุมชนเมืองของสิงคโปร์ได้ทำไว้กับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเมื่อปีที่แล้วหลายโครงการได้ใกล้ที่จะเสร็จสิ้นลงแล้ว และมีบางโครงการที่ได้มีการพัฒนาไปจนถึงระยะที่ 2 แล้วด้วย โดยในปีนี้ ศูนย์ชุมชนเมืองของสิงคโปร์จะมีโครงการ 3 โครงการที่จะนำออกสู่สายตาประชาชน ได้แก่

  • โครงการแผนแม่บทการพัฒนาการขนส่งของเมืองดานัง (Danang Transport master plan) ในประเทศเวียดนาม
  • โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนในเรื่องการประปาและการบำบัดน้ำเสียในเมืองลัมปุง ประเทศอินโดนีเซีย
  • โครงการความร่วมมือด้านสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารระดับโลก

ศูนย์ชุมชนเมืองฯ นี้ยังได้นำคำแนะนำจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมาเข้ามาประกอบการดำเนินงาน ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเงินทุนภาคเอกชนได้สูงสุด

ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของภูมิภาคยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เราต้องพยายามกระตุ้นความสนใจของภาคเอกชนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และช่วยเอกชนบริหารความเสี่ยงในการลงทุนระยะยาวให้ได้ เนื่องจากนักลงทุนจากภาคเอกชนนั้นจะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกับโครงการที่มีการเตรียมพร้อมมาอย่างดีและโครงการที่มีขั้นตอนการประมูลที่โปรงใสและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เราจะต้องพยายามเอาชนะอุปสรรคทั้งในด้านสถาบันและด้านการเงินที่เป็นตัวขัดขวางการลงทุนจากภาคเอกชนรวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นได้ง่าย

คำถามหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องตอบก็คือ อะไรคือบทเรียนที่ได้จากความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในเอเชียตะวันออกและในภูมิภาคอื่นๆ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ การยอมรับแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการ (แทนที่จะคิดถึงแต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการประสบความสำเร็จ

โดยในรายละเอียดแล้ว ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ นั่นคือ ศักยภาพ บรรยากาศการลงทุน และเงินทุน

ศักยภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ยั่งยืนต่อไป

บรรยากาศการลงทุนเป็นเงื่อนไขของภาวะแวดล้อมที่จะต้องสนับสนุนธุรกิจและการลงทุน ด้วยกฎหมายและกฎระเบียบที่เข้มแข็งและมีความชัดเจน

เงินทุนหมายถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระยะยาวที่สอดคบ้องต่อความต้องการและมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการจำต้องใช้เครื่องมือหลากหลายประเภท เพื่อที่จะสนับสนุนให้ตลาดสำหรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มธนาคารโลกสามารถสนับสนุนประเทศต่างๆ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • การพัฒนาโครงการที่ได้รับการสนุบสนุนด้านเงินทุนจาก IDA และ IBRD ซึ่งสามารถประเมินความต้องการของภาคส่วน เสริมสร้างผลิตภัณฑ์ทางความรู้ และวิธีต่าง ๆ ที่รายได้จากโครงการจะเข้ามาสนับสนุนการระดมทุนได้
  • การฝึกฝนและเสริมสร้างศักยภาพโดยสถาบันธนาคารโลก (World Bank Institute)
  • การให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาวัฒนธรรมการกู้ รวมทั้งการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเมืองและบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน
  • ประสบการณ์ในด้านการประกันโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
  • ศักยภาพของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ในการให้คำปรึกษาแก่ธุรกรรมต่าง ๆ
  • การประกันโดยสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคี (MIGA) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะด้านของการลงทุนได้
  • การให้กู้ยืมโดยตรงและการระดมทุนอื่นๆ
  • การสนับสนุนและการลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญและน่าตื่นเต้น และยังเป็นปัจจัยหลักของการเจรจาเรื่องการพัฒนาที่จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับการปะชุมสุดยอด G-20 และ APEC ที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งเป็นวาระสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลกด้วย

กลุ่มธนาคารโลกหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถพัฒนาความร่วมมือกับรัฐบาลสิงคโปร์ต่อไป เพื่อช่วยกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ด้วยการสร้างงาน สร้างโอกาส และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป

ขอบคุณครับ

 

Api
Api

Welcome