ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกฟื้นกองทุนเพื่ออาหารอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับราคาอาหารที่ผันผวน

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553




กรุงวอชิงตัน 18 ตุลาคม 2553 - คณะกรรมการบริหารของกลุ่มธนาคารโลกได้อนุมัติการยืดอายุโครงการตอบรับวิกฤติอาหารโลก (Global Food Crisis Response Program หรือ GFRP) ของธนาคารไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2554 ท่ามกลางความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความผันผวนของราคาอาหารที่ทวีความรุนแรงขึ้นและผลกระทบของปรากฏการณ์ดังกล่าวที่มีต่อประเทศยากจนของโลก

การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ธนาคารโลกสามารถตอบสนองการร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากราคาอาหารที่ถีบตัวสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการอนุโลมให้มีการพิจารณาอนุมัติและจัดสรรเงินทุนมูลค่าสูงถึง 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกองทุนเดิมอย่างเร่งด่วนให้กับประเทศที่มีความจำเป็น ภายใต้โครงการนี้ ประเทศที่ร้องขอความช่วยเหลือสามารถเลือกวิธีการตอบสนองปัญหาวิกฤติทางอาหารที่ผ่านการทดสอบแล้วได้จากหลายช่องทางด้วยกัน

“นานาประเทศกำลังมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความผันผวนและความไม่แน่นอนของตลาดอาหารโลกที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป” ประธานกลุ่มธนาคารโลก นายโรเบิร์ต บี. เซลลิค กล่าว “ราคาธัญพืชที่พุ่งสูงขึ้นหมาดๆ ยิ่งโถมทับความกังวลดังกล่าวให้หนักหน่วงขึ้นอีก ความผันผวนของราคาอาหารโลกยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรง และในบางประเทศความผันผวนดังกล่าวได้ส่งผลให้ราคาอาหารที่สูงขึ้นอยู่แล้วเนื่องจากปัจจัยอื่นๆ เช่นสภาพอากาศที่เลวร้าย ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ความผันผวนที่รุนแรงนั้นส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและชาวไร่ชาวนา”

โครงการ GFRP ซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2551 ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยประเทศต่างๆ ให้รับมือกับราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองความจำเป็นเฉพาะหน้าและสนับสนุนโครงการด้านโครงข่ายความความคุ้มครองทางสังคมสำหรับประชากรที่เปราะบางที่สุด เช่นการทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนกับอาหาร (food for work) การให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข (conditional cash transfers) และโครงการเลี้ยงอาหารกลางวันในโรงเรียน เป็นต้น

ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ได้มีการอนุมัติเงินอุดหนุนสำหรับการดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 1,200 ล้านเหรียญฯ ครอบคลุมทั้งสิ้น 35 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย นอกจากนี้ ยังมีผู้บริจาคเงินอุดหนุนเพิ่มเติมอีก 200 ล้านเหรียญฯ สำหรับการดำเนินโครงการ GFRP ที่ครอบคลุมอีกสี่ประเทศด้วย

“เราคาดว่าความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาอาหารจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างน้อยที่สุดจนกระทั่งปี 2558 ดังนั้น การฟื้นกองทุนวิกฤติทางอาหารขึ้นอีกครั้งทำให้เราพร้อมที่จะช่วยประเทศต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ การดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่ากองทุนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ทำให้ครัวเรือนในภาคเกษตรทั้งสิ้น 5.9 พันล้านครัวเรือนได้รับประโยชน์โดยตรงจากความช่วยเหลือที่รวดเร็วทันท่วงที ยิ่งไปกว่านี้ความสนับสนุนที่ให้กับโครงการความคุ้มครองทางสังคมยังสามารถช่วยประชากรได้ทั้งสิ้น 5.6 ล้านคนแล้วโดยประมาณ” กรรมการผู้จัดการของธนาคารโลก นางนโกซี โอคอนโย-อิเวอาลา กล่าว

กองทุน GFRP ให้ความสนับสนุนสำหรับการผลิตอาหารด้วยการจัดสรรเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ปรับปรุงการชลประทานสำหรับชาวนาระดับย่อม ตลอดจนสนับสนุนโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมและงบประมาณเพื่อชดเชยการลดภาษีศุลกากรทางอาหารและค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้วางแผนไว้อื่นๆ โครงการภายใต้กองทุน GFRP กำลังส่งผลดังต่อไปนี้

  • ในแกมเบีย โครงการเล็งเป้าหมายไปยังชาวนาในเขตพื้นที่ที่เปราะบางเก้าเขต กำลังมีการสร้างสถานที่จัดเก็บเมล็ดพันธุ์ขึ้นในหมู่บ้าน 35 แห่ง
  • ในเนปาล ความสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมช่วยให้ประชากรกว่า 160,000 คนมีโอกาสเข้าร่วมในโครงการทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนกับอาหาร รวมทั้งทำให้ประชากรถึง 940,000 คนโดยประมาณได้รับอาหารประทังชีวิต ทำให้พวกเขาทั้งได้มีโอกาสบริโภคอาหารที่หลายหลากมากขึ้นและในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม โดยร้อยละ 94 ของประชากรรายงานว่ามีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น
  • ในเบนิน มีการแจกจ่ายปุ๋ยภายใต้โครงการตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้รับการอุดหนุนจากธนาคารโลก ซึ่งนำไปสู่การผลิตธัญพืชเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ตันโดยประมาณ

ในขณะที่กำลังพยายามส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มธนาคารโลกก็ได้เพิ่มความช่วยเหลือทางการเกษตรขึ้นเป็น 6,000 ล้านเหรียญฯ จาก 4,100 ล้านเหรียญฯ ต่อปีในระหว่างปีงบประมาณ 2549 ถึง 2551 เงินอุดหนุนสำหรับการเกษตรจะยังคงอยู่ในระดับ 6,000 ล้านเหรียญฯ ถึง 8,000 ล้านเหรียญฯ ต่อปี ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการทางการเกษตรของธนาคารโลกระหว่างปี 2553 ถึง 2555

ธนาคารโลกยังเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการดูแลเงินกองทุนในโครงการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารโลก (Global Agriculture and Food Security Program หรือ GAFSP) ที่เริ่มดำเนินการโดยผู้บริจาคระหว่างประเทศและหุ้นส่วนอื่นๆ ในเดือนเมษายนเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤติราคาอาหารซ้ำซ้อนในระยะยาว

กองทุนนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยประเทศที่มีรายได้ต่ำให้สามารถจัดหางบประมาณมาส่งเสริมการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ ปัจจุบันนี้มีผู้บริจาค 7 ราย ได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา ไอร์แลนด์ เกาหลี สเปน สหรัฐอเมริกา และมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ที่ปฏิญาณว่าจะบริจาคเงินทั้งสิ้น 914 ล้านเหรียญฯ เข้ากองทุนดังกล่าว

GAFSP อุดหนุนเงินช่วยเหลือสำหรับแผนงานการลงทุนด้านความมั่นคงทางอาหารระยะยาวที่มีประเทศสมาชิกเป็นตัวตั้งตัวตีในการริเริ่มและดำเนินการ ซึ่งเป็นแผนที่เปิดกว้างสำหรับประชาสังคม รวมทั้งมีรากฐานอยู่บนหลักฐานที่เชื่อถือได้ คาดว่าประชากรประมาณ 2 ล้านคนในบังคลาเทศ เฮติ เซียร์ราลีโอน โตโก และรวันดากำลังจะได้รับผลประโยชน์ผ่านโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นการสนับสนุนผ่านเงินให้เปล่าจำนวน 240 ล้านเหรียญฯ ตัวอย่างเช่น ในรวันดา เงินที่ได้จะใช้สำหรับการปฏิรูปการเกษตรเชิงเขาด้วยการลดการเซาะกร่อนของดินในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาลดการสูญเสียผลิตผลไปกับดินที่กร่อนเซาะและมีรายได้เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่มีการเปิดตัวกองทุนนี้เป็นต้นมา GAFSP ได้รับข้อเสนอโครงการแล้วจาก 20 ประเทศ

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน ดีซี
เดวิด ไทส์
โทร: +1 (202) 458-8626
dtheis@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
WB

Api
Api

Welcome