ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกและพันธมิตรเพื่อการพัฒนาทวีความช่วยเหลือเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553



  • ประชาคมโลกจะทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ระหว่างการประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติ
  • ความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินตามเป้าหมายนี้ต้องชะงักเพราะวิกฤติราคาอาหารและเชื้อเพลิง รวมถึงวิกฤติการเงินโลกที่เกิดขึ้น
  • ธนาคารโลกตกลงอนุมัติเงินกู้ก้อนใหม่เพื่อช่วยให้นานาประเทศสามารถบรรลุเป้าหมาย MDGs ได้ตามกำหนด – 8,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการเกษตร; 750 ล้านเหรียญฯ สำหรับการศึกษา; และ 600 ล้านเหรียญฯ สำหรับการสาธารณสุข

13 กันยายน 2553 – ในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมวิสามัญของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก เพื่อทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals- MDGs) อันกำหนดให้ประเทศสมาชิกและพันธมิตรในการพัฒนาทั้งหลายดำเนินมาตรการเพื่อลดความยากจนและความหิวโหย รวมทั้งปรับปรุงสวัสดิการทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชากรที่ยากจนของโลกให้ดีขึ้นอย่างชัดเจนภายในปี 2558

ก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์อันเนื่องมาจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งวิกฤติการเงินของโลกซึ่งเริ่มต้นขึ้นในภูมิภาคยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้น ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้มีประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจในการบรรเทาปัญหาความยากจน โดยในปี 2524 ร้อยละ 52 ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนามีชีวิตท่ามกลางความยากจนข้นแค้น แต่ใน พ.ศ. 2548 สัดส่วนของประชากรที่ตกอยู่ในสภาพดังกล่าวต่อประชากรโลกได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25 และลดลงอย่างเห็นได้ชัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ลาตินอเมริกา ยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง

กระนั้นก็ดี ใช่ว่าประชากรโลกทุกคนจะได้รับอานิสงส์จากความสำเร็จนี้ หลายประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกายังคงไล่ตามประเทศอื่นๆ ได้อย่างเชื่องช้า แม้ว่าอัตราความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการในภูมิภาคนี้จะลดลงโดยรวม แต่ก็ยังไม่เร็วพอที่จะบรรลุเป้าหมายของการขจัดความหิวโหยให้หมดสิ้นภายในปีพ.ศ. 2558 ได้ ยังมีประชากรโลกอีกมากมายเกินพอที่ต้องอดอยากหิวโหย จมปลักอยู่ในความยากจน หรือต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถลำลึกเข้าไปสู่ความยากจน เนื่องจากโลกยังไม่สามารถสร้างงานได้มากพอที่จะตอบสนองความต้องการของประชากรได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งยังมีอุปสรรคมากมายที่ทำให้ประชากรจำนวนมากยังไม่อาจเข้าถึงบริการที่จำเป็นหรือโอกาสทางเศรษฐกิจได้

งานที่ยังค้างอยู่

รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกชื่อ Unfinished Business: Mobilizing New Efforts to Achieve the 2015 Millennium Development Goals ชี้ว่า มีประชากรในโลกที่มีชีวิตในสภาพยากจนแร้นแค้นที่สุด (หมายถึงรายได้ต่ำกว่า 1.25 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน) เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนสุงถึง 64 ล้านคนในปี และภายในปี 2558 จำนวนเด็กที่อาจจะเสียชีวิตก่อนอายุถึง 5 ขวบนั้นน่าจะเพิ่มขึ้นอีกถึง 1.2 ล้านคน ขณะเดียวกัน จำนวนนักเรียนที่ไม่สามารถเรียนต่อจนจบชั้นประถมศึกษานั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 350,000 คน นอกจากนี้ จำนวนประชากรที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้นั้นอาจเพิ่มขึ้นอีกถึง 100 ล้านคนทีเดียว

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรโลกกว่าหนึ่งพันล้านคนต้องเข้านอนด้วยความหิวโหยทุกคืน

ด้วยเหตุที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกทั้งหมด จึงสมควรอย่างยิ่งที่ประเทศเหล่านั้นต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อช่วยให้โลกกลับมาดำเนินตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ทันเวลา

“ในขณะที่เรากำลังทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินตามเป้าหมาย MDGs นั้น เราก็เห็นชัดเจนว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นมีแต่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ประชากรของโลกจำนวนมากจนเกินที่จะรับได้ยังคงต้องเผชิญกับความหิวโหย ความยากจนหรืออยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อความยากจน ขาดทั้งงานและโอกาสในการเข้าถึงทั้งบริการทางสังคมและโอกาสทางเศรษฐกิจ” ประธานกลุ่มธนาคารโลก นายโรเบิร์ต บี. เซลลิค กล่าว

“เราจำเป็นต้องทวีความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อสนับสนุนประชากรที่ยากจนและเปราะบาง เราจำเป็นต้องลงทุนในสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลและแก้ไขความผิดพลาดในอดีต และในขณะที่เราทำเช่นนั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องระลึกตลอดเวลาว่า สุดท้ายแล้ว ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังความพยายามทุกย่างก้าวของเราก็คือการให้อำนาจแก่ผู้คนได้มีสิทธิเลือกทางเดินให้แก่ตนเองนั่นเอง จิตวิญญาณของมนุษย์ในอดีตนั้นช่วยให้คนเราทำอะไรหลายอย่างที่น่าทึ่งได้จนสำเร็จมาแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องมอบโอกาสที่จะทำเช่นเดียวกันได้ให้แก่ประชากรทุกคนในโลกนี้”

การสนับสนุนทางการเงินก้อนใหม่

กลุ่มธนาคารโลกมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะช่วยนานาประเทศให้ดำเนินการสู่เป้าหมาย MDGs ได้สำเร็จ ด้วยการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อโครงการด้านสาธารณสุข การศึกษา และการเกษตรต่างๆ ผ่านสมาพันธ์เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) ซึ่งเป็นกองทุนที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนที่สุด

ในการประชุมสุดยอด MDGs กลุ่มธนาคารโลกจะให้คำปฏิญาณว่าเราจะมุ่งความช่วยเหลือไปยัง 35 ประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญอุปสรรคในการดำเนินการตามเป้าหมาย MDGs อันมีสาเหตุมาจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่สูง ภาวะการขาดโภชนาการของเด็กและมารดา รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บด้วย เราจะขยายโครงการที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความแข็งแกรงของระบบสาธารณสุข โดยลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโครงการที่ยึดผลสัมฤทธิ์เป็นพื้นฐาน

นอกจากนี้ เรายังจะเพิ่มวงเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยและเงินให้เปล่าสำหรับการลงทุนในการศึกษาอีก 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งทวีความช่วยเหลือทางการเกษตรขึ้นอีกประมาณ 8,300 ล้านเหรียญสหรัฐโดยเพิ่มจาก 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีก่อนปี 2551

ผลลัพธ์ที่ชัดเจน

ด้วยการอุดหนุนผ่าน IDA ครูจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนได้รับการว่าจ้างและ/หรือได้รับการฝึกอบรม มีการสร้างหรือบูรณะห้องเรียนมากกว่า 2 ล้านห้อง ซึ่งยังประโยชน์ให้แก่เด็กมากกว่า 105 ล้านคนต่อปี และมีการจัดซื้อและ/หรือแจกจ่ายหนังสือเรียนให้แก่เด็กประมาณ 300 ล้านเล่ม ผลลัพธ์ทางสาธารณสุขก็เห็นได้ชัดเช่นเดียวกัน

ประชากรอีกกว่า 47 ล้านคนทั่วโลกมีโอกาสเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านสาธารณสุข โภชนาการหรือบริการทางประชากรอื่นๆ หญิงมีครรภ์ 2.5 ล้านคนได้รับบริการผดุงครรภ์ระหว่างการเยี่ยมตรวจในพื้นที่ เด็ก 310 ล้านคนได้รับวัคซีนคุ้มกันโรค เด็ก 98 ล้านคนได้รับโภชนาการที่ดีขึ้น และเด็กและผู้ใหญ่ประมาณ 2 ล้านคนที่ติดเชื้อ HIV ได้รับการบำบัด ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรอีกกว่า 113 ล้านคนได้มีโอกาสมีน้ำดื่มที่สะอาด

ขณะที่ธนาคารโลกพยายามให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น การให้โอกาสสำหรับสตรี การส่งเสริมสาธารณสุข การศึกษาและโภชนาการ ไปจนถึงการจัดหาแหล่งน้ำดื่มที่สะอาดและการสร้างงานด้วย ผลลัพธ์จากการดำเนินการเหล่านี้กำลังมีส่วนช่วยให้นานาประเทศมุ่งสู่ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมาย MDGs


Api
Api

Welcome