ข่าวประชาสัมพันธ์

การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและการสนับสนุนด้านไฟฟ้าพลังน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่ธนาคารโลกควรเน้น

วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553



กรุงวอชิงตัน 13 สิงหาคม 2553 – มีการประเมินว่าจำนวนประชากรโลกจะพุ่งสูงถึง 9 พันล้านคนภายในปีพ.ศ. 2593 นอกจากนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องยังได้กระตุ้นให้เกิดความต้องการอาหารในโลกเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังได้ทำให้ทรัพยากรน้ำมีความแปรปรวนสูงขึ้นอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุให้กลุ่มธนาคารโลกได้ทำการทบทวนยุทธศาสตร์ด้านน้ำขององค์กร และในรายงานสรุปเรื่องยุทธศาสตร์ด้านน้ำที่ธนาคารโลกนำออกเผยแพร่ในวันนี้ก็ได้เรียกร้องให้มีการเก็บข้อมูลด้านนี้ให้ดีขึ้น รวมทั้งให้ใช้กระบวนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีบูรณาการมากขึ้นกว่าเดิม

“เราคงจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วนของโลกในด้านความมั่นคงทางอาหาร พลังงานทดแทน การปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาทางสาธารณสุขและการขยายตัวของเขตเมืองได้ หากเราไม่มีการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้นกว่าเดิม” นางจูเลีย บัคนัล ผู้จัดการหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำของธนาคารโลกกล่าว “และการจะบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้นได้นั้น เราไม่อาจที่จะเลี่ยงการวิเคราะห์ด้านน้ำอย่างจริงจังได้”

รายงานความคืบหน้าในการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นการทบทวนการทำงานของธนาคารโลกหลังจากได้นำยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาใช้แล้วครึ่งทาง มีชื่อเต็มว่า Sustaining Water for All in a Changing Climate รายงานฉบับนี้ย้ำให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ทางน้ำของกลุ่มธนาคารโลกในปี 2546 และผลงานการดำเนินโครงการในด้านนี้ นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การดำเนินโครงการด้านน้ำของธนาคารโลกนั้นมีอัตราความสำเร็จอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจยิ่ง อีกทั้งระบุว่าธนาคารโลกได้วางเป้าหมายในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม ด้วยการให้ความสำคัญแก่ประเทศที่ควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน (ซึ่งหมายถึงประเทศที่ประชากรยังไม่มีน้ำใช้อย่างทั่วถึง)

รายงานดังกล่าวยังได้สะท้อนผลการศึกษาของกลุ่มประเมินผลอิสระ (Independent Evaluation Group – IEG) เกี่ยวกับโครงการด้านน้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากของธนาคารโลก ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา การศึกษาทั้งสองฉบับชี้ว่า ในขณะที่การสนับสนุนเงินกู้สำหรับโครงการด้านน้ำของธนาคารโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้น ผลการดำเนินโครงการก็ดีขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน โดยการดำเนินงานที่ได้รับการจัดให้อยู่ในขั้นน่าพึงพอใจนั้นมีอัตราที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 75 ของทั้งกลุ่มธนาคาร

แต่รายงานนี้ยังชี้ด้วยว่า การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goal) ว่าด้วยการลดจำนวนประชากรของโลกที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะให้ได้กึ่งหนึ่งภายในปี 2558 นั้น ยังมีความเชื่องช้าอย่างน่าเสียดาย ส่วนข้อมูลที่เชื่อถือเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่มีอยู่และการใช้น้ำนั้นยังจัดว่าขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการบริหารของธนาคารโลกด้านประสิทธิภาพการพัฒนา (Committee on Development Effectiveness) ได้ให้ความเห็นชอบแล้วนั้น ยังให้ข้อเสนอแนะที่เฉพาะเจาะจงแก่ธนาคารโลกดังต่อไปนี้

ส่งเสริมกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีบูรณาการเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำในรูปแบบที่คำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขยายความสนับสนุนด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในฐานะที่เป็นแหล่งพลังงานทดแทนและพลังงานคาร์บอนต่ำที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งรวมถึงโครงการสาธารณูปโภคที่แม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็ให้ผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจและสังคมสูง

เน้นการสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับน้ำที่ช่วยให้สมาชิกประเทศสามารถปรับตัวให้เข้ากับ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งบรรเทาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เพิ่มการให้ความช่วยเหลือในด้านการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตร และทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ ในการส่งเสริมสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะสำหรับคนอีก 2,600 ล้านคนที่ยังขาดโอกาสในด้านนี้ ทั้งในเขตชนบทและในชุมชนแออัดในเขตเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

นางอิงเกอร์ แอนเดอร์เซ่น รองประธานธนาคารโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้การตอบรับรายงานดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นที่รายงานได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของสถาบันในการช่วยประเทศกำลังพัฒนาให้ยกระดับหรือพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านน้ำให้ตอบสนองความต้องการของประชากรได้อย่างเพียงพอ หรือขจัดอุปสรรคกีดขวางการดำเนินการให้หมดไป

“ในปัจจุบันเพิ่งมีการใช้ศักยภาพทางน้ำที่มีอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาไปเพียงร้อยละ 23 ของศักยภาพทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศเหล่านี้เท่านั้น หากประเทศเหล่านี้สามารถพัฒนาแหล่งน้ำได้ตามศักยภาพที่มีอยู่ ผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประชากรที่ยากจนจะมีมหาศาล” นางแอนเดอร์เซ่นกล่าว “เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกกล่าว เราจะต้องร่วมมือกับชุมชนในเชิงรุกเพื่อแยกแยะให้ชัดเจนว่าประโยชน์ที่แต่ละท้องถิ่นจะได้รับคืออะไร รวมทั้งบริหารจัดการและลดทอนความเสี่ยงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ด้วยวิธีนี้ ทุกคนล้วนแต่ได้รับประโยชน์ ทั้งในวันนี้และวันหน้า”

เช่นเดียวกัน นางบัคนัล ผู้จัดการหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำก็ได้กล่าวยอมรับแนวทางดำเนินการที่รายงานนำเสนอ “ผลการศึกษาของรายงานนี้ชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ในปี 2546 ได้วิเคราะห์ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อทรัพยากรน้ำในปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง นั่นก็คือปัจจัยด้านประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของเขตเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทิศทางแง่ยุทธศาสตร์ที่นำเสนอในรายงานนี้ เมื่อนำไปผสมผสานกับผลการศึกษาของ IEG ด้านน้ำ จะชี้นำการดำเนินงานของธนาคารโลกในด้านน้ำและของภูมิภาคนับจากนี้ไปจนถึงปี 2556”

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน ดีซี
คริสโตเฟอร์ นีล
โทร: +1 (202) 473-2049
cneal1@worldbank.org


Api
Api

Welcome