ข่าวประชาสัมพันธ์

ประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้นำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553



วอชิงตันดีซี วันที่ 10 มิย 2553 - รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2553 (the World Bank’s Global Economic Prospects 2010) ฉบับล่าสุดที่ธนาคารโลกนำออกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตในวันนี้ระบุว่า  เศรษฐกิจโลกยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่วิกฤติหนี้ในยุโรปยังคงเป็นปัจจัยถ่วงต่อการทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางเป็นไปอย่างยั่งยืน

โดยในรายงานฉบับนี้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของโลกจะขยายตัวได้ในอัตราระหว่างร้อยละ 2.9 ถึงร้อยละ 3.3 ในปี 2553 และ 2554 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.2 ถึง 3.5 ในปี 2555 หลังจากหดตัวลงไปถึงร้อยละ 2.1 ในปี 2552 ทั้งนี้ธนาคารโลกยังประเมินด้วยว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่มีสถานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตในอัตราร้อยละ 5.7-6.2 ในแต่ละปีในช่วงปี 2553-2556 อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศที่มีรายได้สูงนั้น ธนาคารโลกคาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 2.1 ถึง 2.3 ในปี 2553 ซึ่งไม่มากพอที่จะหักลบกับการที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ถดถอยถึงร้อยละ 3.3 ในปี 2552 ที่ผ่านมา  ตามด้วยการขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 1.9 ถึง 2.4 ในปีหน้า

ในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจโลกจำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากการเจริญเติบโตของหลาย ๆ ภูมิภาค การที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเริ่มจะมีพัฒนาการทางบวกนี้ก็ทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าสถานการณ์โลกกำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี” จัสติน ยีฟู ลิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และรองประธานอาวุโส ฝ่ายเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาของธนาคารโลก กล่าว “แต่หากเราต้องการให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่มีรายได้สูงจำเป็นต้องใช้โอกาสนี้ที่ได้จากการเติบโตที่สูงกว่าของประเทศที่กำลังพัฒนาให้เป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางกำลังเผชิญหน้ากับปัจจัยต้านที่สำคัญหลายประการ ซึ่งรวมถึงทุนไหลเวียนจากต่างประเทศที่ลดลง อัตราการว่างงานที่สูง และการที่กำลังการผลิตในหลายประเทศมีส่วนเกินมากกว่าร้อยละ 10 รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า แม้ว่ายุโรปจะสามารถจัดการกับผลกระทบของวิกฤติหนี้สินในทวีปของตนได้ก็ตาม แต่หนี้สินของรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นและกินเวลายาวนานก็อาจจะทำให้สินเชื่อมีราคาสูงมากขึ้น ซึ่งอาจไปจำกัดการลงทุนและการเติบโตในประเทศกำลังพัฒนา

แต่ในแง่บวก การค้าของโลกได้ฟื้นตัวอย่างมากและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 ในปีนี้ ก่อนที่จะลดลงอยู่ที่ราว ๆ ร้อยละ 8 ในปี 2554-2555 ทั้งนี้ อุปสงค์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นในปี 2553 และ 2554 นั้น เกือบครึ่งหนึ่งจะมาจากประเทศกำลังพัฒนา

การคาดการณ์ของธนาคารโลกตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าความพยายามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและสถาบันการเงินในยุโรป จะสามารถป้องกันการผิดนัดชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลในยุโรปได้ แต่แม้ว่าจะทำสำเร็จก็ตาม ประเทศและภูมิภาคที่กำลังพัฒนาซึ่งมีการค้าและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศที่มีรายได้สูงแต่ก็มีหนี้สูงมากเช่นกัน อาจรู้สึกได้ถึงผลกระทบที่รุนแรง

"การกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศที่มีรายได้สูงดูจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะเป็นทางแก้”ฮันส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกของธนาคารโลก (Development Prospects Group) กล่าว “การควบคุมการใช้จ่ายในภาครัฐอย่างรวดเร็ว น่าจะช่วยลดต้นทุนในการกู้ยืมและกระตุ้นการเติบโตทั้งในประเทศที่มีรายได้สูงและที่กำลังพัฒนาในระยะยาว

แม้ว่าสถานการณ์หนี้ของประเทศที่มีรายได้สูงในยุโรปจะคลี่คลายลงได้ในรูปแบบใดก็ตาม แต่เราอาจเห็นวิกฤติการเงินรอบ 2 ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศในแถบยุโรปและเอเชียกลาง ซึ่งมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวที่เชื่องช้าและระดับหนี้ระยะสั้นที่ค่อนข้างสูง และอาจส่งผลทำให้ภาคการเงินล้มละลาย

ประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ปลอดภัยจากผลกระทบของวิกฤติหนี้ของรัฐที่มีรายได้สูงแต่ประการใดแอนดูรว์ เบิร์นส์ ผู้จัดการฝ่ายเศรษฐศาสตร์มหภาค ธนาคารโลก กล่าว “แต่เราคาดว่าเศรษฐกิจจำนวนมากจะยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องหากเศรษฐกิจเหล่านั้นเน้นไปที่กลยุทธ์เพื่อการเติบโต ทำให้สภาพในประเทศเอื้อต่อการทำธุรกิจ   หรือทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป้าหมายของประเทศเหล่านี้คือเพื่อให้นักลงทุนยังคงสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างความเสี่ยงในการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนากับความเสี่ยงของประเทศที่มีรายได้สูงให้ได้อย่างต่อเนื่อง

ประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศจะยังคงต้องเผชิญกับภาวะที่ความต้องการสินเชื่อหรืออุปสงค์ยังมีสูงกว่าอุปทาน (financing gap)  ทั้งนี้ มีการคาดหมายว่าเงินทุนเอกชนที่จะไหลเวียนไปยังประเทศกำลังพัฒนานั้นจะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย จากที่เคยเป็น 454,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 2.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา) ในปี 2552 ที่ผ่านมา ไปเป็น 771,000 ล้านเหรียญ (ร้อยละ 3.2 ของจีดีพี) ในปี 2554 ซึ่งยังคงน้อยกว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญ (ร้อยละ 8.5 ของจีดีพี)ในปี 2550 อยู่มาก ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้ว ปริมาณสินเชื่อที่ประเทศกำลังพัฒนายังขาดแคลนอยู่คาดว่าจะอยู่ในราว 210,000 ล้านเหรียญในปี 2553  ก่อนจะลดลงเหลือ 180,000 ล้านเหรียญในปี 2554 ซึ่งต่ำกว่าการขาดแคลนสินเชื่อประมาณ 352,000 ล้านเหรียญที่ประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญในปี 2552

รายงานดังกล่าวยังระบุว่าในช่วง 20 ปี ข้างหน้า การต่อสู้กับความยากจนอาจได้รับผลกระทบหากประเทศต่าง ๆ ถูกกดดันให้ลดการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และการผลิตลง เนื่องจากการลดลงของความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและรายได้จากภาษี และหากความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแบบทวิภาคีลดลงอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตแล้ว อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตในระยะยาวในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งอาจมีส่วนทำให้จำนวนคนยากจนแร้นแค้น (extremely poor) เพิ่มขึ้นถึง 26 ล้านคนในปี 2563

* * * * * *

รายละเอียดข้อมูล (Fact Sheets): แนวโน้มเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก  ฉบับมิถุนายน 2553 (Global Economic Prospects June 2010)

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค คาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 8.7 ในปี 2553 และ ร้อยละ 7.8 ในปี 2554 เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคสามารถเชื่อมต่อเข้ากับเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้นำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งเสริมการส่งออกและการผลิตได้เป็นอย่างดีในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มจะแผ่วลง  ในขณะที่ช่องว่างของผลผลิต (output gaps) เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ข้อจำกัดของอุปทานเริ่มกลายเป็นข้อจำกัดในการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยปัจจัยเงินทุนไหลเข้าที่ค่อนข้างมากและสภาพคล่องที่เพิ่มมากขึ้นนี่เองที่อาจส่งผลต่อระดับเงินเฟ้อทั้งในแง่ของสินค้าและสินทรัพย์ ดังนั้น จากผลพวงของปัจจัยเหล่านี้ อัตราการเติบโตของทั้งภูมิภาคจะลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 7.8& และของจีนไปอยู่ที่ร้อยละ 8.4 ในช่วง 2 ปีข้างหน้า

เศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง คาดว่าจะฟื้นตัวประมาณร้อยละ 4.1 ในปี 2553 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของภูมิภาคในช่วง 5 ปีก่อนวิกฤติถึงร้อยละ 3 จุด    การฟื้นตัวนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมากของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด 2 ลำดับแรกของภูมิภาคนี้ (ได้แก่รัสเซียและตุรกี) ซึ่งรวมแล้วคิดเป็น 3 ใน 4 ของจีดีพีของทั้งภูมิภาค การเติบโตของเศรษฐกิจอื่น ๆ ส่วนใหญ่ในภูมิภาคคาดว่าจะน้อยมากหรือติดลบ ซึ่งมีผลมาจากการที่บางประเทศจำเป็นต้องปรับตัวโดยขนานใหญ่ เนื่องจากฐานะการคลุงมีการขาดดุลชำระเงินจำนวนมากอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดวิกฤติ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากการเชื่อมโยงกับวิกฤติปัญหาหนี้ของรัฐในประเทศยุโรปที่มีรายได้สูงบางประเทศ (กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี โปรตุเกสและสเปน) ยิ่งทำให้ภูมิภาคนี้มีอุปสรรคเพิ่มขึ้น

การฟื้นตัวในละตินอเมริกาและภูมิภาคแคริบเบียน ที่ประกอบด้วยประเทศที่มีรายได้ปานกลางและประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวอย่างจำกัดช่วงสั้น ๆ ของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความต้องการสินค้าส่งออกที่สูง และการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าคงคลัง หลังจากที่ผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 2.3 ในปี 2552 ผลิตผล (output) ในภูมิภาคคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.3 ในแต่ละปีระหว่างปี 2553-2555 ซึ่งต่ำกว่าในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินที่แน่นแฟ้นกับยุโรปทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปที่กำลังประสบปัญหาหนี้สินอย่างหนัก

อนาคตของภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจะยังคงถูกผลักดันด้วยราคาน้ำมันและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (ซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญของภูมิภาค) การที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงขณะเริ่มเกิดวิกฤติการเงินและการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันโอเปค    ส่งผลให้รายได้จากน้ำมันลดลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่งไปทำให้การลงทุนโดยตรงของต่างชาติระหว่างภูมิภาค เงินโอน และรายได้จากการท่องเที่ยวพลอยลดน้อยลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกจะฟื้นตัว โดยจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ถึง 13.5 ตามลำดับในปี 2553 นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภูมิภาคยังมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นด้วย โดยจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 4 ในปี 2553 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 และ 4.5 ในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ

จีดีพีของเอเชียใต้ ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะในอินเดีย แต่อาจน้อยกว่าในบังคลาเทศและศรีลังกา) ตลอดจนการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั่วโลก    ภูมิภาคแห่งนี้ได้รับประโยชน์จากเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคที่ค่อนข้างยืดหยุ่นซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของระดับและสัดส่วนของจีดีพี กล่าวคือจากร้อยละ 3.6 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2552 รวมทั้งการจำกัดการเคลื่อนไหวของเงินทุนโดยภาครัฐที่ดำเนินมาเป็นเวลานานแล้ว   อย่างไรก็ตาม การผสมผสานระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง สภาพการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น และการที่หลายประเทศในภูมิภาคเริ่มจะลดรายจ่ายของภาครัฐลง น่าจะทำให้อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ในช่วงปี 2553-2555 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติที่อยู่ในระดับร้อยละ 9.2 ในปี 2550 (คิดตามปีปฏิทิน)

แนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า ที่ประกอบด้วยประเทศที่มีรายได้ต่ำและผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เสียเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าน่าจะยังคงดีขึ้นอย่างช้า ๆ ด้วยแรงผลักดันของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงสุดในประวัติการณ์และอุปสงค์จากภายนอกภูมิภาคที่สูงขึ้น ในภาพรวม คาดว่าภูมิภาคนี้จะเติบโตมากกว่าเดิมในระดับที่ร้อยละ 4.5,  5.1 และ 5.4 ตามลำดับในระหว่างปี 2553-2555 โดยเพิ่มจากที่อัตราประมาณการของปี 2552 ที่ร้อยละ 1.6 ค่าเงินยูโรที่อ่อนตัวลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ น่าจะช่วยให้ประเทศที่มีค่าเงินผูกติดกับเงินยูโรมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าเดิม

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org


Api
Api

Welcome