ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกปฏิรูปอำนาจในการลงคะแนนเสียงพร้อมเพิ่มทุน 86,000 ล้านเหรียญฯ

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553



กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. 25 เมษายน 2553 – ในวันนี้ กลุ่มประเทศที่เป็นเจ้าของกลุ่มธนาคารโลกทั้ง 186 ประเทศได้ลงมติเห็นชอบให้มีการเพิ่มทุนขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 86,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ตลอดจนเพิ่มสิทธิเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในการบริหารนโยบายของธนาคารโลก    ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อันจะกำหนดจุดยืนใหม่ให้แก่สถาบันที่มีพันธะกิจหลักในการบรรเทาความยากจนอย่างธนาคารโลกให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบเจ็ดทศวรรษมาแล้ว

นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการลงคะแนนเสียงของสมาชิกประเทศและการเพิ่มทุนเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปีแล้ว คณะกรรมการบริหารสูงสุดของธนาคารโลก หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Development Committee ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังได้มีมติเห็นชอบต่อแผนการดำเนินงานของธนาคารโลกสำหรับรับมือกับสถานการณ์โลกหลังภาวะวิกฤติ ตลอดจนแผนการปฏิรูปองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อให้ธนาคารโลกสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น  รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อประเทศสมาชิกมากขึ้นได้

ผมขอขอบคุณเหล่าประเทศสมาชิก สำหรับการลงมติเห็นชอบในครั้งนี้  ซึ่งเปรียบเสมือนมติแห่งความเชื่อมั่นในสถาบันของเรา นายโรเบิร์ต บี เซลลิค ประธานธนาคารโลก กล่าว “เงินทุนที่เพิ่มขึ้นมานี้ จะสามารถนำไปใช้สร้างอาชีพและให้การคุ้มครองประชากรผู้ด้อยโอกาส โดยการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง และโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม การเปลี่ยนแปลงอำนาจในการลงคะแนนเสียงจะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของระบบเศรษฐกิจโลกแบบหลายขั้วซึ่งมีประเทศกำลังพัฒนาเป็นองค์ประกอบสำคัญได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาที่การบรรลุข้อตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาเป็นไปได้อย่างยากลำบากเช่นนี้ การเห็นชอบร่วมกันในครั้งนี้จึงถือว่ามีความสำคัญมากกว่าข้อตกลงใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

องค์ประกอบหลัก 4 ประการของแผนรวมดังกล่าว ได้แก่

ทรัพยากรด้านการเงิน

  • การเพิ่มทุนเป็นมูลค่า 86,200 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (IBRD) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้เงินกู้ยืมแก่ประเทศกำลังพัฒนา การเพิ่มทุนนี้ประกอบด้วยการเพิ่มทุนสามัญทั่วไปและการเพิ่มเงินทุนแบบเฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการลงคะแนนเสียงของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ได้รวมถึงทุนชำระแล้วจำนวน 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • การเพิ่มเงินทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญฯ ให้กับบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกลุ่มธนาคารโลกที่ให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเอกชน การเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่ยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน นอกจากนี้ หากได้รับการอนุมัติจากกรรมการบริหาร บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศยังจะพิจารณาการเพิ่มทุนเพิ่มเติม โดยการออกตราสารหนี้กึ่งทุนให้กับประเทศผู้ถือหุ้นและการใช้เงินทุนสะสม

อำนาจในการลงคะแนนเสียง

  • อำนาจในการลงคะแนนเสียงของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในระยะเปลี่ยนผ่านที่เป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 จุด ทำให้ประเทศเหล่านี้มีอำนาจในการออกเสียงเป็นร้อยละ 47.19 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2551 อำนาจในการลงคะแนนเสียงของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในระยะเปลี่ยนผ่านเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นร้อยละ 4.59 จุด การเพิ่มอำนาจดังกล่าวเป็นไปตามพันธกิจของคณะกรรมการพัฒนาในที่ประชุม ณ กรุงอิสตันบูลในเดือนตุลาคม 2552 ที่มีมติให้เพิ่มอำนาจในการลงคะแนนเสียงให้กับของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในระยะเปลี่ยนผ่านขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 จุด
  • การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศในปี 2553 นี้เป็นผลมาจากการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงมูลค่า 27,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทุนชำระแล้วมูลค่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • การเพิ่มอำนาจในการลงคะแนนเสียงให้กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน ในบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ให้เป็นร้อยละ 39.48 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.07 จุด
  • การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศในปี 2553 นี้ จะเป็นผลมาจากการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และการเพิ่มขึ้นในการลงคะแนนเสียงพื้นฐานให้กับสมาชิกทั้งหมด
  • มีข้อตกลงเพื่อทบทวนสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศและบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศทุกๆ 5 ปี ซึ่งมีพันธกิจในการสร้างความเท่าเทียมของอำนาจในการลงคะแนนเสียงระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน

กลยุทธสำหรับโลกหลังวิกฤติ

ธนาคารโลกกำลังดำเนินการสร้างความชัดเจนให้กับเป้าหมายเชิงกลยุทธ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในเรื่องที่ธนาคารจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและดีที่สุด เช่น 1) การกำหนดเป้าหมายไปยังกลุ่มคนยากจนและผู้อยู่ในข่ายเปราะบาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกาที่อยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา 2) การสร้างโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นภาคเกษตรกรรมและโครงสร้างพื้นฐานเป็นพิเศษ 3) การส่งเสริมความร่วมมือในระดับโลกในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการค้า ไปจนถึงประเด็นด้านเกษตรกรรม ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน ทรัพยากรน้ำ และสาธารณสุข 4) การส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน และ 5) การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤติต่างๆ

การปฏิรูปการดำเนินงาน

การปฏิรูปของธนาคารโลกอย่างต่อเนื่องนี้แสดงให้เห็นถึงวาระการปฏิรูปที่มีความครอบคลุมมากที่สุดของธนาคาร ซึ่งรวมไปถึง

  • นโยบายใหม่เกี่ยวการการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งได้แนวคิดมาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารของประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ธนาคารโลกกลายเป็นผู้นำด้านการเปิดเผยข้อมูลของโลกในหมู่สถาบันพหุภาคีอื่นๆ
  • การริเริ่มให้บริการข้อมูลด้านการพัฒนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (Open Data Initiative) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารโลกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ขององค์กรพหุภาคีที่เปิดให้มีการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างง่ายดายและไม่มีค่าใช้จ่าย
  • การปฏิรูปการให้เงินกู้เพื่อการลงทุน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเป้าหมายที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ เพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการและการส่งมอบบริการ ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการจัดการความเสี่ยง
  • การส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชั่น  ซึ่งจะช่วยให้มีทรัพยากรในการป้องกันและมีบทลงโทษร่วมกันเพื่อลดคอร์รัปชั่นในโครงการที่ธนาคารโลกมีส่วนสนับสนุนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันครอบคลุมถึงข้อตกลงที่ธนาคารโลกได้ทำกับธนาคารเพื่อการพัฒนาในประเทศต่างๆ ในเดือนเมษายน  ซึ่งจะทำให้ชื่อของบริษัทต่าง ๆ ที่ถูกธนาคารโลกระงับสิทธิในการรับเหมาโครงการที่ธนาคารโลกมีส่วนสนับสนุนนั้นไปปรากฎในรายชื่อบริษัทต้องห้ามของธนาคารเพื่อการพัฒนาอื่นๆ ด้วย
สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน ดีซี
เดวิด ธีส
โทร: +1 (202) 458 8626
dtheis@worldbank.org


Api
Api

Welcome