ข่าวประชาสัมพันธ์

อาเซียนและธนาคารโลกกระชับความร่วมมือในประเด็นหลักแห่งการพัฒนา

วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553



  • มีการเรียกประชุมหารือระหว่างอาเซียนและธนาคารโลกเพื่อประเมินความร่วมมือระหว่างสองสถาบันในปัจจุบันและวางทิศทางของความร่วมมือกันในอนาคต
  • จะมีการกระชับความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างสองสถาบันนี้ในด้านเศรษฐกิจและการคุ้มครองทางสังคม ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการผสานความเป็นผู้นำของอาเซียนเข้ากับทักษะทางวิชาการของธนาคารโลกในประเด็นสำคัญๆ ทางการพัฒนา

กรุงจาการ์ตา 28-29 มกราคม 2553 – กำลังมีการพิจารณาหาช่องทางในการเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างอาเซียน (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และธนาคารโลกให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาหลักๆ ได้แก่โครงสร้างสาธารณูปโภคและการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค (connectivity) การคุ้มครองทางสังคม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติและความมั่นคงทางอาหาร

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนแสดงทัศนะในการประชุมหารือระดับสูงระหว่างอาเซียนและธนาคารโลกที่จัดขึ้น ณ กรุงจาการ์ตาว่า “วิสัยทัศน์ของทั้งอาเซียนและธนาคารโลกนั้นเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด และอาเซียนเองกำลังมองหาโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของธนาคารโลกกับประเทศในภูมิภาคเพื่อหาวิธีที่จะดำเนินการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา”

ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นทางการพัฒนาหลากหลายประการที่ครอบคลุมหลายภาคส่วน (multi-sectoral) รวมถึงประเด็นด้านการผนึกกำลังระดับภูมิภาค โครงสร้างสาธารณูปโภคและการอพยพโยกย้ายแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะที่มองการพัฒนาว่ามีหลากหลายมิติและครอบคลุมทั่วทุกด้าน

ทั้งนี้ยังมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในประเด็นด้านอื่นๆ ด้วยเช่นการเฝ้าระวังเศรษฐกิจระดับมหภาค ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาระดับโลกหรือ Global Development Learning Network (GDLN) ของธนาคารโลก การประชุมหารือในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อประเมินความร่วมมือในปัจจุบันระหว่างอาเซียนและธนาคารโลกและวางทิศทางความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งสองในอนาคต

ดร.สุรินทร์ยังได้เรียกร้องให้ธนาคารโลกพิจารณาหาหนทางที่จะเชื่อมประสานการให้ความช่วยเหลือระดับทวิภาคีของธนาคารโลกกับประเทศภาคีของอาเซียนในระดับชาติเข้ากับความช่วยเหลือในวาระและมิติระดับภูมิภาค “ในขณะเดียวกันที่ธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือด้านยุทธศาสตร์ทางการพัฒนาระดับชาติอยู่แล้ว ความช่วยเหลือดังกล่าวเปิดโอกาสให้ธนาคารโลกสามารถผนวกองค์ประกอบด้านการผนึกตัวระดับภูมิภาคเข้ากับแผนความช่วยเหลือดังกล่าวได้” ดร.สุรินทร์กล่าว

ในขณะเดียวกันนายเจมส์ ดับเบิลยู อาดัมส์ รองประธานธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้แสดงทัศนะในระหว่างการประเมินทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและธนาคารโลก ว่า “ธนาคารโลกมีความตั้งใจจริงที่จะยกระดับความช่วยเหลือในวาระด้านเศรษฐกิจและการคุ้มครองทางสังคมของอาเซียน”

นายอาดัมส์หวังที่จะสานต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทั้งสองในระดับสูงเช่นนี้ต่อไปอย่างสม่ำเสมอ “หลังจากที่โลกข้ามพ้นวิกฤติได้แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในประเด็นการคุ้มครองทางสังคมต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม อาเซียนกำลังกลายมาเป็นผู้นำระดับโลกในการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค ความร่วมมือนี้จะเป็นการผสานความเป็นผู้นำของอาเซียนเข้ากับทักษะทางวิชาการของธนาคารโลกสำหรับการดำเนินการในประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ”

เพื่อผลักดันมีการดำเนินการในประเด็นนี้ต่อไป สำนักงานเลขาธิการอาเซียนและธนาคารโลกเห็นพ้องกันเกี่ยวกับความสำคัญในการสืบต่อการเจรจาในประเด็นด้านยุทธศาสตร์และเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประสานงานกันระหว่างสองสถาบัน

การประชุมหารือดังกล่าวตามด้วยการสัมมนาครึ่งวันในหัวข้อ “โลกหลังวิกฤติ รูปแบบการพัฒนาระดับโลกและระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก” ที่จัดขึ้นที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา การสัมมนาดังกล่าวมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและจากธนาคารโลกเข้าร่วมด้วย

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
EAP

Api
Api

Welcome