การดำเนินงานแบบเงินทุนผสม
การเดินทางสู่การยอมรับของสหประชาชาติของคุณวันดีเกิดจากความคิดก้าวหน้าและความมุ่งมั่นของเธอ รวมถึงรัฐบาลไทยที่ตระหนักว่า จะต้องมีการจัดหาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศที่หลากหลายขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะผลิตพลังงานให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 จากแหล่งพลังงานทดแทนภายในปี 2565
ปี 2552 คุณวันดีได้รับอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 34 โรง ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ชนบทที่มีแสงแดดจัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือเงินลงทุน คุณวันดีต้องการโน้มน้าวนักลงทุนให้วางเดิมพันกับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ของเธอ แต่นักลงทุนยังลังเลที่จะลงทุนในตลาดขนาดใหญ่ที่ยังไม่เคยมีการพิสูจน์มาก่อน ในปี 2553 IFC จึงได้ก้าวเข้ามาสนับสนุนเงินลงทุนให้กับโครงการนำร่องของเอสพีซีจี 2 โครงการ ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 20 เมกะวัตต์
ในขณะที่ริเริ่มโครงการดังกล่าวนี้ คุณวันดีหันมาให้ความสนใจกับการระดมทุนสำหรับโครงการต่อไปจากแหล่งเงินทุนระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นของเอสพีซีจี
เพื่อช่วงรักษาโมเมนตัมทางการเงิน IFC (ภาษาอังกฤษ) ให้เงินกู้ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ “ผสม” กับเงินสนับสนุน 4 ล้านเหรียญสหรัฐจากกองทุนพลังงานสะอาด (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นกองทุนพหุภาคีที่ให้เงินสนับสนุนแก่ประเทศรายได้ระดับกลางสำหรับโครงการพลังงานทดแทนและโครงการเกี่ยวกับพลังงานที่มีประสิทธิภาพ เงินทุนผสมนี้ทำให้เอสพีซีจีสามารถระดมทุนจากธนาคารในประเทศได้เพียงพอที่จะก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์เพิ่มเติมตามเป้าที่วางไว้ การสนับสนุนดังกล่าวยังส่งสัญญาณบวกเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับตลาดการเงินภายในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
ไม่อีกกี่ปีต่อมา คุณวันดีและเอสพีซีจีสามารถดึงดูดเงินลงทุนได้มากกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้จัดส่งพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 250 เมกะวัตต์ให้แก่ประเทศไทย พลังงานแนวใหม่นี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 200,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการเอารถยนต์ออกไปจากท้องถนนมากกว่า 40,000 คัน หรือลดการใช้น้ำมันได้เกือบ 500,000 บาร์เรลต่อปี
“เงินทุนผสมเพื่อสภาพภูมิอากาศคือหนึ่งในเครื่องมือที่ IFC มีเพื่อช่วยปูทางสำหรับโครงการที่อยู่ในช่วงระยะการเปลี่ยนแปลง ที่กระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Kruskaia Sierra-Escalante หัวหน้าฝ่ายเงินทุนผสมเพื่อสภาพภูมิอากาศของ IFC กล่าว “และเรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับคุณวันดีด้วยการสนับสนุนวิสัยทัศน์ของเธอ และเราเชื่อว่า การสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์เช่นเธอด้วยเงินทุนผสมนี้ จะสามารถช่วยเปิดตลาดได้ด้วย”
เป็นแบบอย่างให้โลกของเรา
ความสำเร็จทางการเงินของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในระยะเริ่มแรกนี้ ได้ช่วยขับเคลื่อนในเกิดการลงทุนในภาคพลังงานสะอาดของเอกชนในประเทศไทย ทำให้นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเลือกตลาดพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของไทยให้เป็นหนึ่งในตลาดที่น่าลงทุนมากที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของโลก
ในฐานะผู้บุกเบิกด้านพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ คุณวันดี ซึ่งในปัจจุบันได้เป็นผู้พัฒนาโครงการหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ เห็นว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของเธอสามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ได้
"พลังงานแสงอาทิตย์เป็น ‘พลังงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด’ มันสะอาด และหาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย” เธอกล่าว "ประเทศอื่นๆ สามารถใช้ประสบการณ์ของเราในประเทศไทยและสร้างการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ของพวกเขา"
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้คัดเลือกกิจกรรมประภาคารมายกย่องกัน ในทุกๆ ปี รางวัล The Women for Results จัดขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่กิจกรรมประภาคารที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปีนี้สมาชิกคณะที่ปรึกษานานาชาติ 25 คนเลือกคุณวันดีให้เป็นหนึ่งในสามผู้ชนะประเภท Women for Results โครงการ The Momentum for Change จัดตั้งขึ้นผ่านการสนับสนุนจากมูลนิธิ Bill & Melinda Gates มูลนิธิ Rockefeller และภาคีอื่นๆ