สุนทรพจน์ และ บันทึกสุนทรพจน์

ความเป็นโลกที่สามสิ้นสุดลงแล้วหรือ

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553



ความเป็นโลกที่สามสิ้นสุดลงแล้วหรือ
ปรับการจัดระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบพหุภาคีนิยมให้ทันสมัย
สำหรับโลกที่มีหลายขั้วความเจริญ

โรเบิร์ต บี. เซลลิค
ประธานกลุ่มธนาคารโลก

ณ ศูนย์นานาชาติสำหรับนักวิชาการวู้ดโรว วิลสัน
(Woodrow Wilson Center for International Scholars)

14 เมษายน 2553

บทนำ ความเป็นโลกที่สามสิ้นสุดลงแล้วหรือ

เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่นักศึกษาด้านความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศได้อภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับการเกิดระบบหลายขั้วอำนาจขึ้นในการเมืองโลก ถึงเวลาแล้วที่เราพึงที่จะตระหนักถึงการเกิดระบบดังกล่าวในทางเศรษฐกิจ

หากเรามองว่าปี พ.ศ. 2532 เป็นจุดจบของ “โลกที่สอง” อันเนื่องมาจากการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์  ดังนั้น ปี พ.ศ. 2552 เราก็เห็นจุดจบของสิ่งที่รู้จักกันในนาม “โลกที่สาม” เช่นเดียวกัน เรากำลังอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่มีหลายขั้วความเจริญและมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว  เป็นระบบที่ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศกำลังกลายมาเป็นประเทศที่เรืองอำนาจทางเศรษฐกิจ บ้างก็กำลังจะกลายมาเป็นขั้วหลักแห่งการเติบโตใหม่นอกเหนือจากขั้วเดิมที่รู้จักกัน และบ้างก็กำลังดิ้นรนเพื่อที่จะบรรลุศักยภาพของตนภายในระบบเศรษฐกิจใหม่นี้ ซึ่งเป็นระบบที่ขั้วเหนือและใต้ ตะวันออกและตะวันตกเป็นเพียงจุดบนเข็มทิศและไม่ใช่ชะตากรรมทางเศรษฐกิจอีกต่อไป

ความยากจนยังคงมีอยู่และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข รัฐที่ล้มเหลวยังคงมีอยู่และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ความท้าทายระดับโลกกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่วิธีการที่เราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป การใช้คำจำกัดความที่ล้าสมัยจำแนกโลกออกเป็นโลกที่หนึ่งและโลกที่สาม ผู้บริจาคและผู้รับ ผู้นำและผู้ตามนั้นหมดสมัยไปแล้ว

นัยของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นลึกซึ้งมาก ทั้งสำหรับการจัดระเบียบเศรษฐกิจแบบพหุภาคีนิยม ความร่วมมือกันในระดับโลก ความสัมพันธ์ทางอำนาจ การพัฒนาและสถาบันระหว่างประเทศ

การจัดระเบียบเศรษฐกิจแบบพหุภาคีนิยมมีความสำคัญ

วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้แสดงให้เห็นว่าระบบพหุภาคีนิยมมีความสำคัญ จากการที่มองเห็นห้วงเหวลึกอยู่เบื้องหน้าได้ทำให้ประเทศทั้งหลายผนึกกำลังกันกู้เศรษฐกิจโลก  กลุ่ม G-20 ได้เกิดขึ้นจากวิกฤติการณ์ดังกล่าวและได้แสดงศักยภาพของกลุ่มด้วยการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้จะเป็นเพียงภาพมายาที่เกิดขึ้นเพียงช่วงวูบหนึ่งเท่านั้นหรือไม่

เมื่อนักประวัติศาสตร์มองย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2552 พวกเขาจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพียงกรณีหนึ่งของการร่วมมือระหว่างประเทศ หรือเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ ในปัจจุบันบางคนมองความพยายามของ วู้ดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson) ในการสร้างระเบียบการเมืองระหว่างประเทศใหม่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงว่าเป็นโอกาสที่หลุดมือไปซึ่งทำให้โลกลอยคว้างอยู่ท่ามกลางอันตรายนานัปการ สถานการณ์ในปัจจุบันของเราจะเป็นกรณีเช่นเดียวกันนั้นหรือไม่

อันตรายที่จะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อความหวาดผวาที่มีต่อวิกฤติเริ่มเจือจางลง ความเต็มใจที่จะร่วมมือกันก็จะลดลงตามไปด้วย เราเริ่มรู้สึกแล้วตั้งแต่บัดนี้ถึงแรงโน้มถ่วงที่กำลังดึงโลกแห่งรัฐชาติกลับไปสู่การรักษาผลประโยชน์แคบๆ ส่วนตนแบบเดิม

ถ้าหากเป็นจริงเช่นนั้นก็จะเป็นความผิดพลาดอย่างน่าเสียดาย การเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจและการเมืองกำลังไหวตัว เราสามารถไหวสอดคล้องไปกับมันด้วยหรือไม่เช่นนั้น เราก็จะยังคงมองโลกผ่านปรึซึม (Prism) ของโลกแบบเดิมต่อไป เราจำเป็นต้องตระหนักถึงความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปและลงมือแก้ปัญหาตามนั้น

สิ่งที่ต่างไปจากเดิมคืออะไร แหล่งความต้องการใหม่

สิ่งที่ต่างไปจากเดิมคืออะไร

ประเทศกำลังพัฒนาไม่ใช่สาเหตุของวิกฤติที่เกิดขึ้นแต่สามารถเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาได้ โลกของเราจะมีหน้าตาแตกต่างจากเดิมไปมากในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะไม่เพียงแต่เห็นอุปสงค์หลั่งไหลมาจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้นแต่จะมาจากทั่วทุกมุมโลก

เราเริ่มรู้สึกถึงความไหวตัวนี้แล้ว สัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจของเอเชียในเศรษฐกิจโลกคิดตามอำนาจการซื้อ (Purchasing Power Parity) เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 7 ในปี พ.ศ. 2523 มาเป็นร้อยละ 21 ในปี พ.ศ. 2551 ตลาดหุ้นของเอเชียมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 32 ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์รวมของโลก เกินกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 30 และยุโรปซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 25 ในปีที่ผ่านมาจีนได้แซงหน้าสหรัฐอเมริกามาเป็นประเทศผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของโลก จีนยังแซงหน้าสหรัฐฯ มาเป็นตลาดรถที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

ตัวเลขการนำเข้าสินค้าบ่งบอกแนวโน้มได้ชัดเจน ประเทศกำลังพัฒนากำลังกลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้การค้าโลกฟื้นตัวคือความต้องการสินค้านำเข้าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในระดับสูง อัตราการนำเข้าสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาสูงกว่าอัตราสูงสุดก่อนเกิดวิกฤติในปี พ.ศ. 2551 ถึงร้อยละ 2 ในทางตรงกันข้ามการนำเข้าสินค้าโดยประเทศที่มีรายได้สูงยังคงต่ำกว่าอัตราสูงสุดก่อนวิกฤติถึงร้อยละ 19 อยู่เช่นเดิม ถึงแม้ว่าการนำเข้าสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาจะมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของการนำเข้าสินค้าของประเทศที่มีรายได้สูงแต่การนำเข้าของประเทศกำลังพัฒนามีอัตราการเติบโตรวดเร็วกว่าประเทศรายได้สูงมาก ด้วยเหตุนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา กว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นโดยรวมของโลกมาจึงจากประเทศกำลังพัฒนา

ขั้วเศรษฐกิจใหม่

เศรษฐกิจของโลกกำลังมีการปรับสมดุล บางส่วนเกิดขึ้นใหม่ บางส่วนเป็นการฟื้นกลับ ดังที่ แองกัส แมดดิสัน (Angus Maddison) ได้กล่าวไว้ว่า จาก 20 ศตวรรษนี้ที่ผ่านมา กว่า 18 ศตวรรษพบว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวมของโลกมาจากเอเชีย เรากำลังเห็นการเกิดขั้วเศรษฐกิจหลายขั้วขึ้นในโลกอยู่ในเวลานี้อันเนื่องมาจากการเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา ประชากรนับพันล้านคนมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโลกและแบบแผนใหม่โดยการบูรณาการที่ผสานการรวมตัวระดับภูมิภาคเข้ากับการเปิดเสรีระดับโลก

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับจีนหรืออินเดียเท่านั้น สัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศกำลังพัฒนาในแง่อำนาจการซื้อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.7 ของสัดส่วน GDP โลกในปี พ.ศ. 2523 เป็นร้อยละ 43.4 ในปี พ.ศ. 2553 อัตราการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีข้างหน้านี้และต่อไปจากนั้น ภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารามีแนวโน้มว่าอาจเติบโตได้ในอัตราเกินกว่าร้อยละ 6 โดยเฉลี่ยจนถึงปี พ.ศ. 2558  ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียใต้ซึ่งประชากรที่ยากจนจำนวนครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่อาจมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 7 ต่อปีตลอดช่วงเดียวกันนี้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประชากรเกือบ 600 ล้านคนได้กลายมาเป็นภูมิภาคที่มีรายได้ปานกลาง โดยมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับจีนยิ่งขึ้น กระชับความผูกพันกับญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลียยิ่งขึ้น  รวมไปถึงเชื่อมโยงกับอเมริกาเหนือและยุโรปผ่านการจัดซื้อสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศ (Global Sourcing)

ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นแหล่งทุนที่สำคัญของโลกและกำลังทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการบริการธุรกิจระหว่างเอเชีย (ทั้งเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้) และกลุ่มยูโร-แอฟริกา (Euro-Africa) เงินสำรองทางการที่เป็นสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศรวม (Gross Official Reserves) ของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) สูงกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐในสิ้นปี พ.ศ. 2552 รวมทั้งมีสินทรัพย์ของกองทุนบริหารเงินสำรองภาครัฐ (Sovereign Wealth Fund) สูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าหากสหรัฐอาหรับมาเกร็บ (Maghreb) สามารถผ่านเลยรอยเลื่อนทางประวัติศาสตร์ไปได้ ก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มยูโร-เมดิเตอร์เรเนียนทีเชื่อมกับทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกา

ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2552 ประชากรกว่า 60 ล้านคนในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนได้หลุดพ้นจากภาวะความยากจนใน และจำนวนชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าพุ่งสูงอยู่ที่ระดับร้อยละ 15 โดยเฉลี่ยต่อปี

แอฟริกามีศักยภาพที่จะกลายมาเป็นขั้วเศรษฐกิจ

แผ่นธรณีอาจเคลื่อนต่อไปอีกได้ ภูมิภาคแอฟริกาพลาดโอกาสด้านการปฏิวัติการผลิต (Manufacturing) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ปลดปล่อยเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกออกจากความยากจนและเข้าสู่ความรุ่งเรือง แต่แอฟริกามีโอกาสที่จะไม่ถูกปล่อยให้ล้าหลังต่อไป

ในหลายประเทศของแอฟริกาในปัจจุบัน  แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคเล็กๆ น้อยๆ ราคาถูก เช่น สบู่หรือรองเท้า หรือเครื่องมือเครื่องใช้พื้นฐานล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้าทั้งสิ้น ถ้าหากแอฟริกาสามารถขจัดอุปสรรคในการผลิตสินค้าเหล่านี้ในประเทศและอุปสรรคต่อนักธุรกิจท้องถิ่นได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้นักลงทุนจากภายนอกโยกย้ายฐานการผลิตมาที่แอฟริกาได้ การพัฒนาประเทศของแอฟริกาจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมมาก  ซึ่งแนวทางนี้แตกต่างจากความพยายามที่ล้มเหลวในอดีตในการสนับสนุนการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าที่หนุนโดยระบบการกีดกันทางการค้า วิธีการข้างต้นนี้จะช่วยให้สามารถแอฟริกาได้รับผลประโยชน์จากการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคภายในตลาดโลกได้

แอฟริกาต้องทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ ก้าวแรกคือ ต้องทำให้ชาวแอฟริกันซึ่งร้อยละ 80 ของมีรายได้ 2 เหรียญสหรัฐต่อวันหรือต่ำกว่านั้นสามารถมีรายได้เพียงพอที่จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ เกษตรกรรมเป็นแหล่งงานหลักของภูมิภาค และเป็นโอกาสแรกในการเพิ่มผลผลิตและรายได้ การจะทำดังกล่าวได้จำเป็นต้องมีการลงทุนตลอดห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร ตั้งแต่ด้านสิทธิการครอบครองที่ดิน เมล็ดพันธ์ การชลประทาน เงินทุน เทคโนโลยีพื้นฐาน การจัดเก็บสินค้า และการนำสินค้าเข้าสู่ตลาด ทั้งนี้เนื่องจากสองในสามของชาวนาชาวแอฟริกันเป็นผู้หญิง เราจำเป็นต้องช่วยให้ผู้หญิงได้รับสิทธิทางกฎหมาย สามารถถือครองที่ดิน และเข้าถึงบริการจากรัฐ

ด้วยรายได้และคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย นักธุรกิจท้องถิ่นก็จะสามารถเจาะเป้าหรือวางแผนธุรกิจ สำหรับตลาดท้องถิ่นและสำหรับตลาดส่งออกในที่สุด

เพื่อจะช่วยให้แอฟริกาเติบโตยิ่งขึ้น ชาวแอฟริกันจำเป็นต้องมีสิ่งที่ยุโรปและญี่ปุ่นต้องการหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง นั่นคือ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ตลาดที่เชื่อมกับเศรษฐกิจโลก และภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อภาคเอกชน สินค้าและบริการสาธารณะสิ่งเหล่านี้จะสามารถสร้างการเติบโตได้มากยิ่งกว่าการผลิตในท้องถิ่นเสียอีก

การเปลี่ยนแปลงในวันนี้ได้เปิดโอกาสใหม่ๆ เมื่อวิกฤติโลกเกิดขึ้น ชาวจีนบางส่วนตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศจะต้องก้าวไกลไปกว่าการผลิตของเล่นและรองเท้า ประเทศจีนสามารถขยับตัวให้สูงขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพิ่มค่าแรง และการบริโภค และขยาย “สังคมที่เข้มแข็งกลมเกลียว”ให้กว้างขวางขึ้น (Harmonious Society) บริษัทจีนอาจโยกย้ายการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่ำไปที่อื่นแทนเช่น แอฟริกา ตามธุรกิจพัฒนาทรัพยากรและสิ่งก่อสร้างของจีน

อาจมีการพยายามสนับสนุนให้บริษัทจีนโยกย้ายการผลิตทั้งสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออก ผู้ผลิตเหล่านี้นำองค์ความรู้ เครื่องจักร โอกาสการเข้าถึงตลาด และเครือข่ายกระจายสินค้าเข้าสู่ประเทศ ธนาคารโลกกำลังดำเนินงานร่วมกับชาวแอฟริกันและชาวจีนเพื่อสร้างเขตอุตสาหกรรมขึ้น

นักลงทุน ผู้บุกเบิกรู้สึกได้ถึงโอกาสในแอฟริกา และไม่หวั่นกับความเสี่ยง แม้ว่าจะมีบทเรียนจากความล้มเหลวของบริษัท ลีแมน บราเธอรส์ และประเทศกรีซ  แต่นักลงทุนตระหนักว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้วก็มีความเสี่ยงได้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐบาลสามารถสร้างโอกาสสำหรับการเติบโตของภาคเอกชนซึ่งจะตอบแทนด้วยการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี พ.ศ. 2552 ภาคเอกชนได้ลงทุนมากกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในแอฟริกา ปัจจุบันร้อยละ 65 ของประชากรชาวแอฟริกันเข้าถึงบริการส่งคลื่นสัญญาณเสียงไร้สาย (Wireless Voice Service) และมีการใช้โทรศัพท์มือถือ 400 ล้านเครื่องในแอฟริกา

บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) เป็นสถาบันภายใต้กลุ่มธนาคารโลกที่ให้เงินกู้แก่ภาคเอกชนกำลังพยายามช่วยเร่งการปฏิวัติทางธุรกิจดังกล่าวนี้ กองทุนหุ้นใหม่ (Equity Fund) ของ IFC สามารถระดมเงินได้ 800 ล้านเหรียญสหรัฐจากกองทุนบริหารเงินสำรองและบำนาญภาครัฐเพื่อการลงทุนในบริษัทในภูมิภาคแอฟริกา ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหมายถึงมีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ

รายได้และการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาหมายถึงอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โลกแห่งการจับกลุ่มคุยกันข้างเตาผิงของกลุ่ม G-7 หมดยุคไปแล้ว การเจรจากันในวันนี้ต้องอาศัยโต๊ะประชุมที่ใหญ่พอที่จะรองรับผู้เข้าร่วมประชุมหลักให้ได้ครบและประเทศกำลังพัฒนาจะต้องมีที่นั่งในการเจรจาที่โต๊ะนี้ด้วย

การประชุมสุดยอดของกลุ่ม G-20 ที่พิตส์เบิร์กในปีที่แล้วตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ แต่ต้องอาศัยมากกว่าคำพูดบนกระดาษ คำพูดของวู้ดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson) บนกระดาษไม่อาจทำให้อุดมคติอันสูงส่งเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ การจัดการแบ่งสรรความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จำเป็นต้องเกิดขึ้น ความล้มเหลวในปี พ.ศ. 2462 นำไปสู่การที่ประเทศบางประเทศไม่อาจร่วมมือกันได้ในปี พ.ศ. 2472 และเป็นจุดเริ่มของการเกิดสงครามครั้งใหม่ในยุโรปในปี พ.ศ. 2482

เราเริ่มเห็นความตึงเครียดแล้วในปัจจุบัน การประชุมรอบโดฮาขององค์การการค้าโลกและการเจรจาว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่กรุงโคเปนเฮเกนได้แสดงให้เห็นว่าการแบ่งปันผลประโยชน์และความรับผิดชอบระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การเจรจาดังกล่าวยังสะท้อนความหลากหลายของความท้าทายที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องเผชิญแตกต่างกันไป

การแก้ไขประเด็นปัญหาระหว่างประเทศที่สำคัญโดยไม่มีประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Countries) เข้าร่วมเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป และเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่จะสันนิษฐานว่าสมาชิกที่มีอิทธิพลที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกกันว่ากลุ่ม BRICs คือ บราซิล รัสเซีย อินเดียและจีนจะสามารถเป็นตัวแทนกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ทั่วถึง

การแก้ไขปัญหาความท้าทายอื่นๆ ที่กำลังก่อตัวอยู่ในปัจจุบันก็จะต้องตระหนักในความเป็นจริงที่ว่านี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านน้ำ โรคภัย การโยกย้ายถิ่นฐาน ประชากร รัฐที่เปราะบาง และรัฐที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤติ

การรับกลุ่ม G-20 เป็นเวทีใหม่ในการเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ เราจะต้องระวังว่าจะไม่สร้างลำดับขั้นทางอำนาจที่ไม่ยืดหยุ่นให้กับโลก กลุ่ม G-20 ควรจะดำเนินการในลักษณะเหมือนเป็น “กลุ่มผู้วางระเบียบวาระการประชุม” (Steering Group) ตลอดเครือข่ายประเทศและสถาบันระหว่างประเทศทั้งหลาย กลุ่ม G-20 ควรตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันของประเด็นปัญหาและพยายามหาจุดร่วมของประโยชน์ร่วมกัน ระบบนี้จะบริหารเป็นลำดับขั้นไม่ได้และไม่ควรมีพิธีรีตองเหมือนระบบราชการ และควรที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพด้วยการลงมือจัดการปัญหาให้สำเร็จ

อันตรายของแนวคิดเชิงภูมิศาสตร์การเมือง (Geo-Politics) แบบเดิม

อันตรายของการที่แรงโน้มถ่วงทางการเมืองกำลังดึงประเทศกลับไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์แคบๆ ส่วนตน คือ การที่เราจัดการกับปัญหาของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วผ่านปริซึมความคิดเก่าของกลุ่ม G-7 ผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศที่พัฒนาแล้วถึงแม้ว่าจะมีเจตนาดีก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนทัศนะความคิดของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้ เราไม่อาจใช้แนวความคิดภูมิศาสตร์การเมืองแบบเก่าจัดการกับปัญหาของโลกใหม่ได้

เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถถอยกลับไปใช้แนวคิด “พหุภาคีนิยมแบบเก่า” ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาของการประชุมแห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ในศตวรรษที่ 19 ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง “ภูมิศาสตร์การเมืองใหม่ของระบบเศรษฐกิจหลายขั้ว” จำเป็นต้องอาศัยการแบ่งปันความรับผิดชอบพร้อมกันกับการยอมรับทัศนะความคิดเห็นและสถานการณ์ที่แตกต่างกันเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันให้มากขึ้นกว่าเดิม

การปฏิรูปทางการเงิน

ตัวอย่างจากการปฏิรูปทางการเงิน โลกต้องชดใช้ความเสียหายจากระบบการเงินโลกที่พังทลายลงอย่างสูงลิบด้วยการงานที่สูญเสียไปและชีวิตที่ถูกทำลายลง

แน่นอนว่าเราต้องการกฎเกณฑ์การควบคุมทางการเงินที่ดีกว่าเดิม ด้วยการมีทุน สภาพคล่องทางการเงินและมาตรฐานการควบคุมดูแลที่แข็งแกร่งขึ้น กรอบการควบคุมดูแลใหม่ควรที่จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่เป็นระบบและปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่สนับสนุนให้เกิดความแปรปรวนขึ้นลงของวงจร  ผนึกการควบคุมดูแลให้หนาแน่นยิ่งขึ้นเพื่อเลี่ยงการเกิดช่องว่างในระบบ คำนึงถึงเงินเฟ้อในราคาสินทรัพย์เช่นเดียวกันกับในราคาสินค้าและบริการ

แต่เราต้องระวังผลที่อาจตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย เราไม่ควรเพิ่มค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นไปอีกด้วยการสนับสนุนการกีดกันทางเงิน และขัดขวางไม่ให้ประเทศยากจนได้รับบริการทางการเงินอย่างไม่เป็นธรรม กฎเกณฑ์ที่ตกลงกันที่บรัสเซลส์ ลอนดอน ปารีสและวอชิงตันอาจเหมาะสมสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่มันเหมาะสมแล้วหรือสำหรับธนาคารขนาดเล็กไม่ว่าจะเป็นของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ตาม

กฎเกณฑ์เหล่านี้อาจมีผลทำให้ภาคการเงิน นวัตกรรมและการบริหารจัดการความเสี่ยงในประเทศกำลังพัฒนาสะดุดชะงักและอาจทำให้การลงทุนข้ามพรมแดนยากลำบากขึ้น

ข้อกำหนด “การให้กู้ในประเทศ” (Lend Local) อาจสามารถส่งผลเช่นเดียวกันกับการ “ซื้อในประเทศ” (Buy Local) การกำหนดให้มี “การดำเนินการอยู่ในประเทศ” (Local Physical Presence) อาจขัดขวางการให้บริการได้มากเท่าๆ กับทำให้การค้าสะดุดชะงัก ข้อกำหนดเกี่ยวกับ “สภาพคล่องภายในประเทศ” (Local Iiquidity) อาจให้เกิดการแตกแยกทางการบริหารจัดการสภาพคล่องระดับโลกและสร้างค่าใช้จ่ายอันมหาศาลโดยไม่ทำให้เกิดความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น

ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) มีชื่อเสียงที่เสื่อมเสียในปัจจุบัน ซึ่งพอเข้าใจได้ถ้าหากยังจำกันได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัท AIG แต่เกษตรกรในเขตตะวันตกตอนกลางของสหรัฐอเมริกาอาศัยตราสารอนุพันธ์ในการป้องกันความแปรปรวนของราคาเมล็ดพืช เม็กซิโกใช้ทางเลือกด้านพลังงานเป็นตัวตรึงราคาน้ำมันที่เป็นรายได้ส่วนสำคัญของบประมาณภาครัฐ

ธนาคารโลกเป็นผู้บุกเบิกการใช้สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Currency Swaps) และใช้สัญญานี้ในการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและดอกเบี้ย เงินกู้ของธนาคารโลกเปิดโอกาสให้มีการบริหารความเสี่ยง (Hedging Opportunities) เพื่อปกป้องผู้กู้จากความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย และแม้กระทั่งความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ฝนแล้งหรือภัยพิบัติ ด้วยการช่วยพัฒนาการกู้เงินสกุลท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับตลาดโลกเราให้ที่กำบังภัยแก่ประเทศกำลังพัฒนาจากกระแสคลื่นทางการเงินของวิกฤติที่เกิดขึ้น

นวัตกรรมทางการเงินถ้าหากใช้และควบคุมดูแลอย่างรอบคอบสามารถนำมาซึ่งผลกำไรที่มีประสิทธิภาพและป้องกันความเสี่ยงได้ ธนาคารโลกเป็นผู้บุกเบิกการประกันปศุสัตว์สำหรับคนเลี้ยงปศุสัตว์ในมองโกเลีย การใช้ตราสารอนุพันธ์ด้านอากาศเพื่อป้องกันฝนแล้งในมาลาวี และกองทุนประกันภัยพิบัติสำหรับประเทศแถบแคริบเบียนซึ่งได้อนุมัติเงินช่วยเหลือจำนวน 8 ล้านเหรียญสหรัฐแก่สาธารณรัฐเฮติเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาทันทีหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือที่ปล่อยให้อย่างรวดเร็วกว่าเงินช่วยเหลือจากแหล่งภายนอกอื่นใดทั้งสิ้น

ดังที่ อดีตประธานาธิบดีเซเดลโลแห่งเม็กซิโก (Ernesto Zedillo)ได้เคยกล่าวเตือนว่า ปัญหาของประเทศที่ยากจนไม่ได้อยู่ที่การมีตลาดมากเกินไป แต่อยู่ที่มีตลาดน้อยเกินไป เราต้องการตลาดสำหรับสินเชื่อรายย่อย (Microfinance) หรือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากธุรกิจดังกล่าวบริหารโดยผู้หญิง ตลาดสำหรับเคลื่อนย้าย จัดเก็บ และขายสินค้า ตลาดสำหรับการออม การประกันและการลงทุน

วอลล์สตรีทได้เปิดโปงภัยอันตรายของนวัตกรรมทางการเงิน และเราจำเป็นต้องพิจารณาและดำเนินการอย่างจริงจัง แต่การพัฒนาได้แสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์เช่นเดียวกัน แนวคิดแบบกลุ่ม G-7 อาจทำลายโอกาสสำหรับคนหลายพันล้านคน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อหันมาดูเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันตรายที่จะเกิดขึ้นก็คือ เรายัดเยียดรูปแบบการดำเนินการแบบครอบจักรวาลที่ยกมาจากหนังสือคู่มือของประเทศที่พัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนาดำเนินรอยตาม ซึ่งจะถูกปฏิเสธจากประเทศเหล่านี้

นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเชื่อมโยงได้กับการพัฒนา และอาจได้รับความสนับสนุนจากประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Growth) แต่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อไม่มีการบังคับให้ดำเนินการตามแบบแผนโดยไม่ยืดหยุ่นเท่านั้น

ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าประเทศกำลังพัฒนาขาดความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างอนาคตที่สะอาดขึ้น คนในประเทศกำลังพัฒนาต้องการสิ่งแวดล้อมที่สะอาดเช่นกัน

ประเทศกำลังพัฒนาต้องการความสนับสนุนและเงินทุนเพื่อลงทุนในแนวทางการเติบโตที่สะอาดขึ้น ในปัจจุบันคน 1.6 พันล้านคนขาดโอกาสเข้าถึงไฟฟ้า ความท้าทายก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมแห่งการใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นโดยไม่ต้องสละโอกาส ความสามารถในการผลิตและการเติบโตที่จำเป็นสำหรับการดึงคนหลายร้อยล้านคนให้หลุดรอดจากความยากจน

การหลีกเลี่ยงที่จะใช้แนวคิดภูมิศาสตร์การเมืองแบบเดิมๆ หมายถึง การมองประเด็นปัญหาในมุมมองใหม่ที่ต่างไปจากเดิม เราต้องหลีกเลี่ยงให้ไกลจากการเลือกทางใดทางหนึ่งระหว่างพลังงานและสิ่งแวดล้อม เราจำเป็นต้องพยายามแสวงนโยบายที่สะท้อนราคาคาร์บอน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดโดยสามารถนำไปปรับใช้ในประเทศที่ยากจนกว่า ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์แบบไม่เชื่อมกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid Solar) สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมพลังงานความร้อนใต้พิภพ และประกันผลประโยชน์จากนโยบายป่าไม้ และการใช้ที่ดิน เราสามารถสร้างงานและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานพร้อมๆ กันไปกับการดำเนินการดังกล่าว

ประเทศที่พัฒนาแล้วรุ่งเรืองขึ้นผ่านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน บางคนไม่คิดว่าประเทศกำลังพัฒนาควรจะได้รับโอกาสเช่นเดียวกันกับประเทศที่พัฒนาแล้วในการเข้าถึงแหล่งพลังงานที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้อยู่ สำหรับคนเหล่านี้การคิดเช่นนั้นง่ายเหมือนกับการเปิดสวิตท์และปล่อยให้ไฟลุกไหม้ในห้องว่าง

จริงอยู่ที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม แต่เราไม่อาจปล่อยให้เด็กชาวแอฟริกันต้องนั่งทำการบ้านใต้แสงเทียนหรือปิดโอกาสไม่ให้คนงานชาวแอฟริกันได้ทำงานในโรงงาน การใช้มุมมองแบบเก่าของประเทศที่พัฒนาแล้วในการจัดการกับปัญหาจะเป็นวิธีที่จะสูญเสียความสนับสนุนจากประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการตามเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมระดับโลกอย่างแน่นอนที่สุด

การบริหารจัดการเพื่อตอบรับวิกฤติ

ในด้านการตอบรับวิกฤติ ในโลกที่กำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง อันตรายที่จะเกิดขึ้นคือการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมัวแต่มุ่งความสนใจไปยังการประชุมสุดยอดเพื่อแก้ไขปัญหาระบบการเงิน หรือการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กรีซ

ประเทศกำลังพัฒนาต้องการประชุมสุดยอดเรื่องความยากจน บทเรียนประการหนึ่งที่ได้จากวิกฤติครั้งนี้คือ โครงข่ายความคุ้มครอง (Safety Nets) ที่มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการสูญเสียคนไปหนึ่งรุ่น (Loss of a Generation) ได้ ต่างจากผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชียในช่วงทศวรรษที่ 90 ที่ผ่านมา

การรับฟังทัศนะของประเทศกำลังพัฒนาไม่ใช่เรื่องของการทำการกุศล หรือสร้างเอกภาพอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของประโยชน์ส่วนตนของเราด้วย ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ในปัจจุบันเป็นแหล่งความเจริญทางเศรษฐกิจและแหล่งนำเข้าสินค้าต้นทุนและบริการจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

ประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้เพียงแต่ต้องการเจรจาเกี่ยวกับหนี้สินสัดส่วนสูงในประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น พวกเขาต้องการที่จะมุ่งความสนใจไปที่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงในด้านโครงการพื้นฐาน และการพัฒนาเด็กปฐมวัย พวกเขาต้องการที่จะเปิดตลาดเพื่อสร้างงาน สร้างความสามารถทางการผลิตที่สูงขึ้นและการเติบโต หลายประเทศกำลังพยายามทดลองว่าจะใช้นวัตกรรมและประสิทธิภาพของตลาดเอกชนมาช่วยสร้างและรักษาสาธารณูปโภค และบริการภาครัฐได้อย่างไรบ้าง

บทบาทใหม่สำหรับประเทศอำนาจใหม่

แต่การปรับระบบพหุภาคีนิยมให้ทันสมัยไม่ใช่การที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของเหล่าประเทศใหม่ที่กำลังเรืองอำนาจขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น ความรับผิดชอบนั้นมาคู่กันกับอำนาจ

ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องตระหนักว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมแห่งโลกแล้ว พวกเขามีผลได้ผลเสียในการจัดระเบียบระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง มีพลวัต และยืดหยุ่นสำหรับการเงิน การค้า การเคลื่อนย้ายความคิด และประชากร สิ่งแวดล้อม—และสถาบันระดับพหุภาคีที่เข้มแข็ง

เราจำเป็นต้องหาจุดร่วมทางความได้เปรียบร่วมกันเพื่อให้แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าซึ่งกันและกันได้สำเร็จ ในขณะเดียวกันเราต้องตระหนักถึงอุปสรรคทางการเมืองในประเทศและความหวาดกลัวในระดับท้องถิ่น เราต้องการพันธไมตรีที่ผู้นำของทุกประเทศสามารถใช้เรียกความสนับสนุนจากพลเมืองในประเทศของตนได้

โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้มีนัยต่อการพัฒนาอย่างไร

การพัฒนาไม่ใช่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (North-South) ทางเดียวเท่านั้นอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของประเทศกำลังพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน (South-South) หรือแม้แต่ระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว (South-North) ที่สามารถมีบทเรียนให้กับทุกฝ่ายได้ถ้าเปิดใจให้กว้างพอ อาทิ เรื่องของการที่โครงการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขในเม็กซิโกกำลังได้รับการศึกษาเป็นตัวอย่างทั่วโลก เรื่องของชาวอินเดียในแอฟริกาอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิวัติสีขาว” (White Revolution) ซึ่งเป็นการกระตุ้นการผลิตนม เเรื่องของโลกใหม่ที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่เป็นแต่เพียงผู้รับความช่วยเหลืออย่างเดียวเท่านั้นแต่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและความเชี่ยวชาญด้วย และไม่ใช่เรื่องของอุดมคติครอบจักรวาล พิมพ์เขียวหรือรูปแบบที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ในระบบเศรษฐกิจแบบหลายขั้ว การพัฒนาหมายถึง การปฏิบัติได้จริง การเรียนรู้จากประสบการณ์ การตระหนักว่าตลาดและโอกาสทางธุรกิจนั้นเปลี่ยนแปลงได้ การแลกเปลี่ยนความคิดและเชื่อมโยงความรู้ เหมือนดังที่เราเชื่อมตลาดผ่านเครือข่ายนวัตกรรม

นอกจากนี้ อนาคตของพัฒนาไม่ใช่เรื่องของความคิดเก่าๆ เกี่ยวกับความช่วยเหลืออย่างเดียวเท่านั้น กองทุนเงินสำรองเพื่อการบริหารและกองทุนบำนาญภาครัฐที่ต้องการลงทุนกับกลุ่มธนาคารโลกในแอฟริกาสะท้อนรูปแบบใหม่ของการประนีประนอมทางการเงิน นี่ไม่ใช่การกุศล หากแต่คือ การลงทุนที่หวังผลตอบแทนที่คุ้มค่า IFC กำลังช่วยลดอุปสรรคกีดขวางทางข้อมูล และลดต้นทุนธุรกรรม (Transaction Costs) เป้าประสงค์ของเราคือการปฏิวัติการหลั่งไหลของเงินทุนเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนา

การปรับสถาบันระดับพหุภาคีให้ทันสมัย

เราจะบริหาร “การจัดระเบียบภูมิศาสตร์การเมืองสำหรับระบบเศรษฐกิจหลายขั้ว” อย่างไรเพื่อให้เสียงของทุกประเทศทั่วโลกได้รับการรับฟังอย่างเป็นธรรมในสมาคมที่มีสมาชิกหลายหลาย ไม่ใช่ชมรมที่เปิดรับเฉพาะสมาชิกไม่กี่ประเทศเท่านั้น

ถ้าหากแผ่นธรณีกำลังเคลื่อนตัว สถาบันระดับพหุภาคีต้องเคลื่อนตามไปด้วย

วิกฤติเกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะเกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นในการปรับปรุงและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันระดับพหุภาคีเพื่อให้สามารถสะท้อนความเป็นจริงของโลกที่ต่างไปจากเดิม

โลกใหม่นี้ต้องการการกำหนดประโยชน์ร่วมกัน การต่อรองมาตรการดำเนินการร่วมกันและจัดการกับความแตกต่างของประเทศที่หลากหลายขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

โลกใหม่ต้องการสถาบันที่ดำเนินการรวดเร็ว ยืดหยุ่นและรับผิดชอบ ที่ให้เสียงกับประเทศที่ไร้เสียงโดยมีทรัพยากรพร้อมสำหรับช่วยเหลือ

โลกใหม่ต้องการสถาบันที่แสวงหาหุ้นส่วนด้วยความถ่อมตัวและความเคารพ พร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น ที่เป็นเสมือนตัวเชื่อมโยงระดับโลกที่บุกเบิกโลกใหม่แห่งการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันและระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว

โลกใหม่ต้องการสถาบันที่พิสูจน์ให้เห็นผล]การดำเนินการและการยอมรับผิดชอบเมื่อดำเนินการผิดพลาด

กลุ่มประเทศธนาคารโลกจะต้องปฏิรูปตัวเองเพื่อช่วยรับบทบาทนี้และจะต้องปฏิรูปอย่างต่อเนื่องอย่างรวดเร็วกว่าเดิม สถาบันรัฐบาลและภาครัฐมักจะเปลี่ยนแปลงช้ากว่าองค์กรภาคเอกชนที่เผชิญกับการแข่งขันอยู่เสมอ เรายอมรับความเสี่ยงนี้ เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าวเราได้เริ่มการปฏิรูปที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์

เรากำลังปฏิรูปเพื่อให้ธนาคารโลกเป็นตัวแทนที่ครอบคลุมและมีความชอบธรรมมากขึ้น

กลุ่มธนาคารโลกที่ทันสมัยขึ้นจะต้องสามารถสะท้อนความเป็นจริงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 โดยตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากขึ้นตลอดจนความหลากหลาย และความต้องการพิเศษของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านี้ และทำให้ภูมิภาคแอฟริกามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น

เพื่อให้สะท้อนความจำเป็นดังกล่าว ธนาคารโลกกำลังพยายามกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของเราทำตามสัญญาที่จะเพิ่มอัตราการถือหุ้นของประเทศกำลังพัฒนาเป็นร้อยละ 47 หรือมากกว่าในเดือนนี้

แต่เราจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Institutions) จะมีการพิจารณาทบทวนการถือหุ้นทุกๆ 5 ปีเพื่อเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและการประเมินผู้ถือหุ้นของเราโดยมีเป้าหมายที่จะให้บรรลุความเสมอภาคกันในที่สุด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่การถือหุ้นจะได้รับการพิจารณาบนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะเพื่อสะท้อนความต้องการ และ Mandate ของกลุ่มธนาคารโลก ซึ่งจะไม่สะท้อนเฉพาะอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้นแต่จะสะท้อนระดับการสมทบทุนเข้ากองทุนของเราเพื่อประเทศที่ยากจนที่สุดของโลกด้วย

ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธนาคารโลกในปัจจุบันเป็นผู้บริหารจากประเทศกำลังพัฒนา และมีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์

เราต้องทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาในฐานะที่เป็นลูกค้า ไม่ใช่ในฐานะกรณีตัวอย่างของการพัฒนาจากหนังสือ เราต้องช่วยประเทศเหล่านี้แก้ไขปัญหา ไม่ใช่ทดสอบทฤษฎี

แต่ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากร

เรากำลังปฏิรูปด้วยการเพิ่มทรัพยากร

หลังจากที่วิกฤติส่งผลกระทบเต็มรูปแบบในกลางปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา กลุ่มธนาคารโลกได้ให้เงินกู้ผูกพันกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบันเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

เงินอุดหนุนดังกล่าวเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ กระผมขอขอบคุณพนักงานของกลุ่มธนาคารโลกเป็นพิเศษที่รับมือกับความท้าทายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เราจัดสรรเงินช่วยเหลือได้ตรงกับความจำเป็นและอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าธนาคารโลกโดยปกติแล้วจะให้กู้ในโครงการระยะยาว การจัดสรรเงินเพื่อการพัฒนาของเรามีวงเงินสูงกว่าเงินช่วยเหลือในภาวะวิกฤติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

เมื่อธนาคารโลกก้าวขึ้นมาเผชิญหน้ากับปัญหา เราอาศัยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมืออย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นสำคัญ

เรายังต้องการทรัพยากรที่มากขึ้นว่าเดิมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของการเติบโตและทำให้ระบบพหุภาคีนิยมสมัยใหม่ใช้ได้กับโลกใหม่แห่งเศรษฐกิจหลายขั้วนี้ ถ้าหากการฟื้นตัวสะดุดชะงักลง เราอาจต้องหลุดไปยืนอยู่ข้างทาง

ดังนั้นธนาคารโลกจึงขอให้มีการเพิ่มต้นทุนเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นของธนาคารจะต้องตัดสินใจว่าจะเสริมความแข็งแกร่งให้ธนาคารโลกหรือจะปล่อยให้บทบาทของธนาคารโลกจางหายไป  สูญเสียประสิทธิภาพของสถาบันระดับพหุภาคีและปล่อยให้เงินทุนร่อยหรอในการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต

นอกเหนือจากการสนับสนุนทรัพยากรการเงินที่จำเป็นแล้ว ที่ผ่านมาธนาคารโลกยังได้แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของระบบพหุภาคีนิยมสมัยใหม่ เราได้สร้างความร่วมมือกันระหว่าง 186 ประเทศที่เป็นสมาชิกของเรา

กว่าครึ่งหนึ่งของทรัพยากรที่ระดมมาเพื่อเสริมต้นทุนของธนาคารโลกจะมาจากประเทศกำลังพัฒนาผ่านราคาสินค้าและการลงทุนในสินทรัพย์ทุน (Capital Investment) ที่เพิ่มขึ้น ถ้าหากมาตรการชุดนี้สามารถตกลงกันได้สำเร็จก็จะเป็นตัวอย่างของความร่วมมือแบบพหุภาคีที่ประสบความสำเร็จ ตรงข้ามกับอุปสรรคที่ประสบในการเจรจารอบสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและการค้า

เราปฏิรูปเพื่อให้มีประสิทธิภาพ มีความสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น

การเป็นตัวแทนและมีทรัพยากรเพียงเท่านั้นยังไม่พอ เราจะต้องสร้างความมีประสิทธิภาพ การตอบรับปัญหา การสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่นและความรับผิดชอบให้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย

ธนาคารปฏิรูปเพื่อกำหนดจุดสำคัญของกลยุทธให้คมชัดยิ่งขึ้นในประเด็นที่เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากที่สุด – นั่นคือการให้ความสำคัญกับประชากรที่ยากจนและที่เปราะบางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบแอฟริกาใต้ซาฮารา การสร้างโอกาสสำหรับการเติบโต การส่งเสริมการดำเนินการร่วมกันระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เกษตรกรรม น้ำและสุขภาพ การเสริมสร้างธรรมรัฐและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤติ

เราปฏิรูปเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการของเราให้ทันสมัย เสริมสร้างโอกาสสำหรับการสร้างนวัตกรรมและพิจารณารูปแบบการกระจายอำนาจที่จะเอื้ออำนวยให้เราใช้ทักษะความเชี่ยวชาญใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้นและในขณะเดียวกันสามารถรวบรวม จัดวางรูปแบบและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในระดับโลก เราต้องการความครอบคลุมระดับโลกแต่ด้วยวิธีการที่เหมาะกับท้องถิ่น

เราปฏิรูปเพื่อเน้นผลลัพธ์ เสริมสร้างความพยายามในการสร้างธรรมรัฐ ต่อต้านและป้องกันคอรัปชั่น และเหนี่ยวนำสถาบันระหว่างประเทศอื่นๆ ให้สร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น  เรามีนโยบายเปิดเผยข้อมูล ซึ่งมีแนวคิดมาจากกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพทางข้อมูลของอินเดียและสหรัฐอเมริกา นับเป็นครั้งแรกที่มีนโยบายดังกล่าวในของสถาบันระหว่างประเทศ แต่เราหวังว่าจะไม่เป็นครั้งสุดท้าย เรากำลังเริ่มเปิดตัวนโยบายเปิดเผยข้อมูลของธนาคารโลกเมื่อสัปดาห์ผ่านมา เราได้สรุปข้อตกลงกับสถาบันการเงินระดับพหุภาคีอื่นๆ ว่าด้วยการตัดสิทธิบุคคลและบริษัทที่ฉ้อฉล (Cross-Debarment)

เรากำลังเริ่มใช้ใบประเมินผลการปฏิบัติงานขององค์กร (Corporate Scorecard) เพื่อสร้างความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น

ธนาคารตระหนักถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ้างจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ถ้าหากการแก้ไขความยากจนทำได้ง่ายความยากจนก็คงจะถูกขจัดหมดสิ้นไปนานแล้ว การเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเห็นว่าเราทำอะไรอยู่ ทำอย่างไร และมีผลการทำงานอย่างไร จะช่วยให้เราจะสามารถเห็นข้อบกพร่องของเราได้ง่ายขึ้น และแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวได้เร็วขึ้น

เมื่อธนาคารได้ดำเนินการทุกเรื่องที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ การปฏิรูปดังกล่าวจะเปลี่ยนโฉมหน้าขององค์กรของเราอย่างสิ้นเชิง องค์กรนี้จะไม่ใช่ธนาคารโลกที่ปู่ย่าตายายของท่านรู้จักอีกต่อไป ไม่ใช่แม้กระทั่งธนาคารโลกของพ่อแม่ของท่านด้วยซ้ำ

บทสรุป

การปฏิรูปจะทำครั้งเดียวจบไม่ได้ แต่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ปรับแล้วปรับอีกโดยมีการพิจารณาเสียงตอบรับอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เราไม่อาจคาดเดาอนาคตได้อย่างแน่นอน แต่เราสามารถคาดการณ์ทิศทางได้ และหนึ่งในทิศทางที่ว่านี้ คือ ยุคของระบบเศรษฐกิจโลกแบบหลายขั้วกำลังมาถึงแล้ว

นี่ไม่ใช่ภาพมายาชั่ววูบ เรายังคงมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งรัฐชาติ แต่ปัจจุบันมีรัฐจำนวนมากขึ้นที่กำลังมีอิทธิพลต่อชะตากรรมร่วมกันของเรา รัฐเหล่านี้เป็นทั้งรัฐที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาที่กระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาคของโลก เป็นไปได้ที่สิ่งนี้จะมีแต่ผลดี แต่โครงร่างของระบบเศรษฐกิจใหม่แบบหลายขั้วนี้ยังคงเพิ่งก่อตัวขึ้น จะต้องมีการจัดรูปกันต่อไป

ระบบพหุภาคีนิยมสมัยใหม่จะต้องสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนี้

ระบบพหุภาคีนิยมสมัยใหม่จะต้องปฏิบัติได้จริง จะต้องตระหนักรู้ว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในขอบเขตของรัฐชาติ แต่การตัดสินใจ และปัจจัยที่มีอิทธิพลในหลายกรณีนั้นแผ่รอบและอยู่นอกเหนือรัฐบาล

ระบบพหุภาคีนิยมสมัยใหม่จะต้องนำผู้เล่นใหม่เข้ามาในสนาม สร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีบทบาททั้งเก่าและใหม่ และดึงสถาบันระดับโลกและระดับภูมิภาคเข้ามาช่วยรับมือกับภัยอันตรายและฉวยโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่เกินศักยภาพของรัฐใดรัฐหนึ่งจะกระทำได้

ระบบพหุภาคีนิยมสมัยใหม่จะไม่เป็นชมรมที่จำกัดตัวที่มีคนอยู่นอกห้องมากกว่านั่งอยู่ในห้อง ระบบนี้จะต้องมีลักษณะเหมือนกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงกับประเทศ บริษัท ปัจเจกบุคคล และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านเครือข่ายที่ยืดหยุ่น สถาบันระดับพหุภาคีที่ชอบธรรมและมีประสิทธิภาพที่หนุนด้วยทรัพยากรและศักยภาพในการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จจริงสามารถเป็นเส้นใยที่เชื่อมโยงโครงร่างของสถาปัตยกรรมของระบบหลายขั้วเศรษฐกิจที่มีพลวัตินี้ได้

วู้ดโรว วิลสันหวังที่จะสร้างองค์การสันนิบาติชาติ (League of Nations) เราหวังที่จะสร้างสันนิบาติแห่งเครือข่าย (League of Networks)

ถึงเวลาแล้วที่เราจะทิ้งแนวคิดเก่าๆ เกี่ยวกับโลกที่หนึ่งและโลกที่สาม ผู้นำและผู้ตาม ผู้บริจาคและผู้รับบริจาค

เราจะต้องสนับสนุนการรุ่งขึ้นของระบบความเจริญแบบหลายขั้วที่จะยังผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย

Api
Api

Welcome