Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

การพัฒนาระบบบริหารจัดการแรงงานย้ายถิ่นสามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเร็วขึ้น

กรุงเทพฯ 16 พฤษภาคม 2561 ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกสรุปประเด็นหลักจากการนำเสนอรายงานเรื่อง “การเคลื่อนย้ายไปสู่โอกาส: การก้าวข้ามอุปสรรคของการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ว่า ประเทศไทยสามาถสร้างความเข้มแข็งให้กับนโยบายและระบบการย้ายถิ่นของแรงงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

งานสัมมนาครั้งนี้ กระทรวงแรงงานร่วมกับธนาคารโลกจัดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นบทเรียนที่ประเทศไทยจะได้เรียนรู้จากรายงาน โดยมีผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หุ้นส่วนการพัฒนา กลุ่มนักคิด และภาคประชาสังคมเข้าร่วมการสัมมนา ทั้งนี้ ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์เป็นที่พักพิงของแรงงานย้ายถิ่นจำนวน 6.5 ล้านคนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของจำนวนแรงงานย้ายถิ่นทั้งหมดในอาเซียน ในจำนวนนี้ มากกว่าครึ่งพำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งแรงงานย้ายถิ่นในประเทศไทยมากกว่าครึ่งมาจากเมียนมาร์ และที่เหลือส่วนใหญ่มาจาก สปป. ลาว และกัมพูชา

การเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอาเซียนสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งรวมถึงประชาชนของทั้งสองประเทศ แต่การบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานจะต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศผู้รับ ประเทศผู้ส่ง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด" พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

รายงานได้ระบุว่า แรงงานย้ายถิ่นมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยแรงงานเหล่านี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างด้านทักษะในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงอาชีพต่าง ๆ ที่ขาดแคลนแรงงานไทย ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้รับทราบว่า การจัดการระบบแรงงานย้ายถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานความรู้  โดยนอกจากจะช่วยดึงดูดแรงงานผลิตภาพสูงอย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังสามารถช่วยพัฒนาด้านความโปร่งใสและสามารถคาดการณ์ความต้องการแรงงานได้ โดยสามารถรวบรวมความคิดเห็นจากนายจ้างและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ มาปรับเปลี่ยนนโยบายได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน

 “ธนาคารโลกสนับสนุนการปฏิรูปเพื่อให้แน่ใจว่านโยบายและระบบแรงงานย้ายถิ่นสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของไทย เรายินดีอย่างยิ่งในการสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยที่จะดำเนินนโยบายและระบบการจัดการแรงงานย้ายถิ่นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทยที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เน้นความรู้สูง และนวัตกรรมดร. อูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “นโยบายแรงงานที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพจะอำนวยให้แรงงานย้ายถิ่นและความต้องการด้านแรงงานสอดประสานกันอย่างราบรื่น นอกจากนี้ การใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจมากขึ้น และการลดค่าใช้จ่ายของแรงงานที่ต้องการย้ายถิ่นจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้วิสัยทัศน์การเป็นไทยแลนด์ 4.0 กลายเป็นความจริง”.

ข้อเสนอแนะอื่น ๆ จากการประชุมในครั้งนี้ได้แก่

  • การพัฒนายุทธศาสตร์ชาติเรื่องการย้ายถิ่นของแรงงานที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนเรื่องนโยบายการรับแรงงานย้ายถิ่นเข้าประเทศไทยโดยเฉพาะเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0  รวมถึงบทบาทและความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้แต่ละกระทรวง และการผสานนโยบายแรงงานย้ายถิ่นเข้ากับยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพยากรมนุษย์
  • แรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ต้องเคลื่อนย้ายสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าข้อจำกัดโควต้าการจ้างงานหรือภาษีการจ้างงานแรงงานต่างชาติที่มากนั้น จะไม่จำกัดผลกระทบด้านบวกของแรงงานย้ายถิ่นเข้าประเทศที่จะมีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โควต้าการจ้างงานหรือภาษีการจ้างแรงงานต่างชาติที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ มีการสื่อสารอย่างชัดเจนกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง
  • การทำให้ขั้นตอนการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการรับแรงงานเข้าประเทศและการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายมีความสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้แรงงานย้ายถิ่นหลุดพ้นจากระบบการจ้างงานผิดกฎหมาย  การจัดทำฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวจากประเทศที่ส่งออกแรงงานมายังประเทศไทยและข้อมูลตำแหน่งงานที่ต้องการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยจะช่วยให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย
  • การปรับปรุงการกำกับดูแลบริษัทจัดหางานที่แรงงานย้ายถิ่นส่วนใหญ่ใช้บริการซึ่งบริษัทดังกล่าวนี้อาจมีขั้นตอนการดำเนินการที่ยุ่งยากซับซ้อน  การปรับปรุงในเรื่องนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่แรงงานย้ายถิ่นที่ดำเนินการเข้าประเทศตามขั้นตอนที่ถูกกฎหมาย
  • การใช้ประสบการณ์จากแรงงานย้ายถิ่นที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์และพัฒนาทักษะของแรงงานเหล่านี้ โดยการให้รางวัลกับแรงงานที่สามารถฝึกฝนและมีทักษะครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ด้วยการอนุญาตเพิ่มระยะเวลาการทำงานเป็นพิเศษ  นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างแรงจูงใจให้แก่แรงงานย้ายถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมและการได้รับการรับรองจากโครงการฝึกอบรมเหล่านี้โดยการให้ต่ออายุสถานภาพการจ้างงานต่อไปได้

หากท่านสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ http://www.worldbank.org/thailand


รายชื่อผู้ติดต่อ

กรุงเทพฯ
Leonora Aquino Gonzales
+66 02-686-8341
lgonzales@worldbank.org
สิงคโปร์
Dini Djalal
+65 9002-4412
ddjalal@worldbank.org
Api
Api