เรื่องเด่น

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับธนาคารโลกช่วยนักเรียนไทยในสี่จังหวัดให้เรียนรู้ได้ไวขึ้น

วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ชลบุรี 9 กรกฏาคม 2550 – เช่นเดียวกับเด็กไทยรุ่นราวคราวเดียวกัน อีกหลายคน เด็กหญิงสุนันท์ ปิยะนันท์ นักเรียน ชั้นมัธยมปีที่สองของโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธา เคยรู้สึกว่าคณิตศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่ทั้งน่าเบื่อและยาก ต่อความเข้าใจเสียยิ่งนัก แต่หลังจากที่ครูปูน บุตรี ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ประจำชั้นเรียนของเธอได้ผ่านการอบรมเพื่อพัฒนาครูวิชาหลัก ซึ่งธนาคารโลกมีส่วนให้การสนับสนุนแล้ว ความคิดของสุนันท์ก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

“ตอนนี้หนูรู้สึกว่าเข้าใจมากขึ้นค่ะ” สุนันท์ให้ความเห็น “หนูตอบคำถามของครูได้มากขึ้น แล้วหนูก็ชอบที่มีการพูดคุยกันในชั้นเรียนมากขึ้น เวลาครูปูนอธิบายอะไรก็ทำให้เข้าใจได้เร็วขึ้นกว่าเมื่อก่อน”

ใช่แต่สุนันท์เท่านั้น นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนประถมขยายโอกาสทั้งหมด 66 โรงในจังหวัดพิจิตร ชลบุรี กระบี่ และอุบลราชธานี ก็ได้มีประสบการณ์คล้ายๆ กัน หลังจากที่ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ของพวกเขาได้เข้ารับการอบรมเพื่อการพัฒนาครูวิชาหลัก อันเป็นโครงการที่บริหารโดยธนาคารโลก และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากทรัสต์ฟันด์ของกรอบความร่วมมืออาเซม (ASEM Trust Fund) ซึ่งเป็นชื่อย่อของการประชุมสุดยอดระหว่างกลุ่มประเทศเอเชีย-ยุโรป

โครงการอบรมพัฒนาครูวิชาหลักนี้ เกิดขึ้นจากความประสงค์ของรัฐบาลไทยที่จะพัฒนาทักษะของครู ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และเป็นองค์ประกอบสำคัญองค์หนึ่งของความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับธนาคารโลกเพื่อการพัฒนาประเทศด้านการศึกษา หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Country Development Partnership in Education (CDP-ED) นั่นเอง

สนับสนุนการปฏิรูปทางการศึกษา

CDP โดยรวมนั้น คือกรอบความร่วมมือที่เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างธนาคารกับหน่วยงานสำคัญๆ ของรัฐบาลไทย โดยภาครัฐจะเป็นผู้ให้แนวทางในการดำเนินงาน ส่วน CDP-ED ซึ่งเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2547 นั้น เป็นความร่วมมือซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความพยายามของภาครัฐในอันที่จะเร่งปฏิรูปการศึกษาของไทย

บทบาทของธนาคารโลกภายใต้ CDP-ED คือ เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคแก่รัฐบาลไทยในเรื่อง (ก) การปฏิรูปการเงินเพื่อการศึกษา (ข) การพัฒนารูปแบบการกระจายอำนาจโดยโรงเรียนเป็นฐาน และ (ค) การพัฒนาครูวิชาหลัก ก่อนหน้าที่จะมีกรอบความร่วมมือดังกล่าว ความช่วยเหลือของธนาคารโลกในภาคการศึกษาโดยมากแล้วจะเป็นไปในรูปของการให้เงินกู้“CDP-ED นี้เป็นผลมาจากความเข้าใจร่วมที่ว่า ธนาคารโลกมีผู้เชี่ยวชาญและความรู้ทางด้านเทคนิคที่จะช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถแก้ไขปัญหาที่ทำให้การดำเนินงานด้านการปฏิรูปการศึกษาในอดีตนั้น เป็นไปอย่างล่าช้ากว่าที่ควร” นายเอียน พอร์เตอร์ ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว

“ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เราได้ช่วยให้ประเทศไทยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลสามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐในการกระจายอำนาจในการบริหารและการจัดการทางการเงิน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทักษะของครู โดยเน้นการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหลัก”

งบประมาณทั้งหมดเกือบห้าล้านบาท (150,000 เหรียญสหรัฐฯ) สำหรับโครงการอบรมครูนี้ มาจากทรัสต์ฟันด์ของอาเซมในขั้นที่สอง และเป็นเงินช่วยเหลือที่กลุ่มประเทศเอเชีย-ยุโรปมีให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินเมื่อพ.ศ. 2540-2541 (ปัจจุบันโครงการนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากได้ดำเนินไปเป็นระยะเวลากว่าสองปี ระหว่างพ.ศ. 2547 ถึง 2549)

โครงการนี้เป็นการอบรมผ่านระบบโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม โดยมีครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จำนวน 3,000 คนเข้ารับการอบรมที่ศูนย์ปลายทางจำนวน 103 ศูนย์ทั่วประเทศ หลักสูตรที่ใช้อบรมนี้ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยมีครูผู้สอนวิชา และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวางหลักสูตรเป็นผู้ให้คำปรึกษา

การอบรมเพื่อพัฒนาทักษะที่มีการติดตามผลและเครือข่ายสนับสนุน

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งในการออกแบบหลักสูตรพัฒนาครูวิชาหลักนี้ คือการวางรูปแบบของการอบรมให้ง่ายสำหรับครูผู้สอนจำนวนมาก ในประเทศไทย ที่ไม่ได้เลือกคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เป็นวิชาเอก โดยเน้นในเรื่องของการนำเอาความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ในห้องเรียนจริง หลังจากการอบรมเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็จะมีการติดตามผลโดยการคัดเลือกครูผู้นำจำนวน 8 คนเพื่อทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยง (mentor teachers) ให้แก่ครูผู้สอนจำนวน 92 คน ในโรงเรียนเป้าหมายทั้ง 66 โรงในสี่จังหวัดที่กล่าวไปแล้ว

ครูพี่เลี้ยงเหล่านี้ จะมีหน้าที่สังเกตการสอนของครูผู้สอน (participating teachers) ซึ่งผ่านการอบรมแล้วเช่นกัน เพื่อให้คำปรึกษาแก่ครูผู้สอนในเรื่องการวางแผนการสอน การบันทึกหลังการสอนเพื่อนำความสำเร็จและข้อบกพร่องในแต่ละครั้งมาใช้ในการปรับปรุงวิธีการสอนให้ดีขึ้น และเพื่อตอบคำถามที่ครูผู้สอนอาจจะมีในการนำความรู้ที่ได้จากการอบรมมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสาวอัจฉริยา โคตรบรรเทา ผู้เชี่ยวชาญงานพัฒนามนุษย์ของธนาคารโลกได้ให้ความเห็นว่า การจดบันทึกหลังการสอนนี้นับว่ามีประโยชน์ต่อครูผู้สอนมากทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะว่าในการจดบันทึกนั้น ครูผู้สอนจำเป็นที่จะต้องบันทึกความแตกต่างระหว่างเด็กนักเรียนที่เรียนรู้ได้รวดเร็ว กับเด็กที่เรียนรู้ได้ช้ากว่าคนอื่น และพยายามเรียบเรียงข้อเสนอแนะในการช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนช้า ให้สามารถตามเพื่อนได้ทัน

“การจดบันทึกหลังการสอนแบบนี้ ทำให้ครูผู้สอนต้องให้ความสนใจต่อนักเรียนแต่ละคนมากขึ้น และหาวิธีพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนตามความสามารถของแต่ละคน แทนที่จะเป็นการใช้เทคนิคการสอนเดียวกับทุกๆ คน” เธอกล่าว

การอบรมเพื่อพัฒนาครูวิชาหลักและเครือข่ายสนับสนุนที่ตามมาหลังการอบรมนี้ ทำให้ “ครูปูน” ของนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะว่าครูปูนเองนั้นก็ยังใหม่ต่อการสอนอยู่มาก เพิ่งจะมาเริ่มอาชีพครูของเธอก็เมื่อสามปีที่แล้วที่โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธานี้ ดังนั้น สิ่งที่ครูปูนได้เรียนรู้จากการอบรม รวมทั้งการติดตามผลจากครูพี่เลี้ยง ซึ่งคอยให้คำแนะนำกับเธอในเรื่องของจุดเด่นและจุดด้อยของครูปูนเองในการสอน ก็ทำให้เธอสามารถพัฒนาทักษะในการสอนของตนเอง ให้ดีขึ้น

“รู้สึกดีใจมากค่ะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้” ครูปูนกล่าว “เมื่อก่อนนี้เด็กๆ จะรู้สึกเบื่อ เวลาเขียนอะไรบนกระดานเด็กก็จะไม่ค่อยเห็นภาพ พอไปอบรมมาแล้วก็ทำให้สอนได้ดีขึ้น เด็กๆ เองก็สนใจมากขึ้น เรียนรู้ได้เร็วขึ้น”

เน้นการสอนแบบสร้างสรรค์และการใช้สื่อการสอน

โครงการอบรมเพื่อพัฒนาครูวิชาหลักนี้ ยังเน้นให้ครู ผู้สอนใช้สื่อสร้างสรรค์ต่างๆ มาช่วยในการสอน เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ เรียนรู้ได้เร็วขึ้น และให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนมากขึ้นระหว่างครูกับนักเรียนในชั้นเรียน การสอนแบบนี้ แตกต่างพอสมควรกับการสอนในสมัยก่อนที่ครูผู้สอนมักจะร่างบทเรียนของการเรียนในแต่ละครั้งบนกระดานดำเพื่อให้นักเรียนลอกตาม ซึ่งสำหรับนักเรียนแล้วไม่ได้ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ สักเท่าไหร่

แต่เมื่อครูปูนหันมาใช้สื่อการสอนต่างๆ ในห้องเรียนมากขึ้น ความสนใจของเด็กก็ทวีตามไปด้วย และยัง ส่งผลให้นักเรียนอย่างสุนันท์ สามารถมองเห็นสิ่งที่ครูพยายามอธิบายได้เร็วกว่าเมื่อก่อน รวมทั้งสามารถนำความรู้จากห้องเรียนคณิตศาสตร์ไปใช้กับการเรียน วิชาอื่นๆ ของเธอเองด้วย

และการตื่นตัวในการเรียนของเด็กๆ วัดราษฎร์ศรัทธานี่เอง ที่นายจิม อดัมส์ รองประธานธนาคารโลก ผู้ดูแลงานของธนาคารในเอเชียแปซิฟิก สามารถมองเห็นได้อย่างแจ่มชัด เมื่อเขาแวะไปเยี่ยมโรงเรียน ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“ผมรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งกับคุณภาพของการศึกษาในประเทศไทย และรู้สึกยินดีที่ธนาคารโลกในประเทศไทยได้ให้ความสนใจกับการส่งเสริมความตั้งใจของภาครัฐในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งผมเชื่อว่าจะสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป” นายจิมกล่าว

“สิ่งที่ผมเห็นได้ชัดในระหว่างการเยือนโรงเรียน วัดราษฎร์ศรัทธาก็คือ โครงการนี้ช่วยเพิ่มพูนความสามารถของเด็กในการเรียนรู้ให้สูงขึ้น และนั่นเป็นสิ่งที่ผมดีใจมากที่ได้เห็น”

ครูรัตนา ชีวะพร ซึ่งเป็นครูพี่เลี้ยงของครูปูนยังได้กล่าวเสริมด้วยว่า นักเรียนของครูปูนนั้นมีความเข้าใจในองค์ประกอบต่างๆ ของคณิตศาสตร์มาก จนสามารถผลิตสื่อการสอนเพื่อนำมาอธิบายเรื่อง การแปลงทางเรขาคณิตในห้องเรียนด้วยตัวเองได้แล้ว “เด็กๆ เขากล้านำเสนอมากขึ้น และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการช่วยครูผลิตสื่อการสอนได้อีกด้วย” ครูรัตนากล่าว “นี่ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้เรียนรู้จริงๆ ค่ะ”

Api
Api

Welcome