Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2567

เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังรักษาการเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางแรงกดดันและอุปสรรคที่มีอยู่ทั่วโลก

การแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของผลิตภาพในภาคธุรกิจ เป็นกุญแจสําคัญสำหรับการเติบโตของประเทศในระยะยาว

วอชิงตัน 31 มีนาคม พ.ศ. 2567—ธนาคารโลกกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเมื่อวันอาทิตย์ว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก แต่ยังคงต่ำกว่าอัตราการเติบโตของช่วงก่อนโควิดระบาด แม้ว่าการค้าโลกที่ฟื้นตัวและสภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและความไม่แน่นอนของนโยบายทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคชะลอตัวลง

มีการคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในปี  2567 จะลดลงเหลือ ร้อยละ 4.5 จากร้อยละ 5.1 ในปีที่แล้ว  รายงานอัปเดตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับเดือนเมษายน 2567 (East Asia and Pacific April 2024 Economic Update) ของธนาคารโลกระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกําลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยกเว้นจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.6 ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.4 ในปี 2566  อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า จีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางที่ร้อยละ 4.5 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 5.2 ในปี 2566 เนื่องจากการที่มีหนี้สูง, ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ และความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งล้วนแต่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจจีน  ในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 3.6 ในปี 2567 จากเดิมร้อยละ  5.6 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติหลังการฟื้นตัวจากโรคระบาด ดังจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิจิที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2567 ซึ่งลดลงจากอัตราการเติบโตที่สูงถึงร้อยละ 8 ในปีที่แล้ว

"ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีส่วนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกเป็นอันมาก แม้ว่าต้องเผชิญกับปัญหาและความไม่แน่นอนด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่เพิ่มขึ้น, ประชากรสูงอายุ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" คุณมานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า "ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้สามารถคงอัตราการเติบโตได้ด้วยการเร่งเปิดโอกาสให้มีการลงทุนในภาคเอกชน, การแก้ปัญหาในภาคการเงิน และการส่งเสริมผลิตภาพให้เพิ่มสูงขึ้น”

แนวโน้มดังกล่าวขึ้นอยู่กับความเสี่ยงขาลง (downside risks) เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้, การที่เขตเศรษฐกิจหลักยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับสูง, ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น

หัวข้อพิเศษของรายงาน แสดงให้เห็นว่า บริษัทชั้นนําในภูมิภาคนี้มีการเติบโตของผลิตภาพที่ยังคงตามหลังบริษัทชั้นนําระดับโลก ซึ่งจะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนในภาคดิจิทัล (digital-intensive sectors) เนื่องจากบริษัทที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มักจะได้รับการยอมรับก่อนบริษัทชั้นนำ และค่อย ๆ ขยายไปยังบริษัทอื่น ๆ  ซึ่งแนวโน้มนี้ทําให้เกิดความกังวลต่อบริษัทชั้นนำในการดำเนินธุรกิจ

อุปสรรคในการแข่งขัน, ความแตกต่างทางทักษะของพนักงาน และการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพมีส่วนทําให้การเติบโตของผลิตภาพของภาคธุรกิจลดลง การเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของสินค้าและบริการให้สูงขึ้น และการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการลงทุนในครูและการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้

"การเติบโตของรายได้ต่อหัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่แซงหน้าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในทศวรรษที่ผ่านมา เกิดจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเติบโตจากผลิตภาพ” คุณอาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิการโลกกล่าว "การดําเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ, การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิรูปการศึกษาจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคได้"

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่: 2024/051/EAP

รายชื่อผู้ติดต่อ

ในวอชิงตัน:
Mark Felsenthal
+1 202 602 9673

บล็อก

    loader image

เรื่องราวใหม่ๆ

    loader image