เรื่องเด่น

ประเทศไทย: ผู้เชี่ยวชาญร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


Image

เรื่องเด่น
  • แม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรการต่างๆ ในการตรวจสอบหาการประพฤติคอร์รัปชั่น แต่ควรจะมีอันดับที่ดีกว่านี้ ในการจัดอันดับตามภาพลักษณ์ การคอร์รัปชั่นของนานาประเทศ
  • การมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญต่อการต่อต้านคอร์รัปชั่นมากเท่ากับระบบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้มีการสนับสนุน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดแรงผลักดันจากทางมวลชน
  • การเคลื่อนไหวทางสื่อทางสังคมและเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วทั้งโลก ช่วยให้ประชาชนสามารถเป็นผู้เก็บข้อมูลการคอร์รัปชั่นได้ง่ายยิ่งขึ้น

กรุงเทพ 23 กุมภาพันธ์ 2555 —แม้ประเทศไทยจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเป็นประเทศที่มีรายได้กลางระดับสูง ควรจะสามารถมีภาพลักษณ์การต่อต้านคอร์รัปชั่นในอันดับที่ดีกว่านี้ โดยประเทศไทยได้อันดับ 78 จาก 178 ประเทศทั่วโลก ในการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ปี 2554 ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International)

ประเทศไทย ได้นำระบบที่ตรวจจับอาการของการคอร์รัปชั่น และลดโอกาสในการกระทำคอร์รัปชั่น มาใช้งานอย่างได้ผล ขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานราชการ ในการออกพาสปอร์ต บัตรประชาชน ใบขับขี่ ได้ถูกปรับปรุงลดขั้นตอนการทำงานลง หลายขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ สามารถกระทำได้ออนไลน์ และมีการประเมินผลขั้นตอนเหล่านี้ผ่านเครื่องมือประเมินผลการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น ระบบ e-Revenue ซึ่งรัฐบาลไทยได้นำมาใช้งานเพื่อลดการทำงานระหว่างผู้เสียภาษีและผู้เก็บภาษี และลดความเสี่ยงจากการจัดเก็บเงินสด เช่นเดียวกัน ระบบ e-Auction ได้ถูกนำมาใช้งานเพื่อลดการสมรู้ร่วมคิดในการจัดซื้อจัดจ้างของราชการ และได้มีการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เป็นหน่วยงานอิสระ และมีหน้าที่ในการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นในภาครัฐ มีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ราชการยื่นแบบเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์และรายได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการต่างๆเหล่านี้ ประชาชนชาวไทยยังคงมองว่าการคอร์รัปชั่นยังมีอยู่อย่างแพร่หลาย

ธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนการสร้างระบบกำกับดูแลที่ดีและการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และ หนึ่งในการสนับสนุนนี้ ธนาคารโลกได้ร่วมกับ ป.ป.ช. จัดการประชุมเพื่อหารือแนวทางในการปฏิบัติ ในการสร้างนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นในแบบที่ยึดกับหลักฐาน ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2555 ที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วม ในงานผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวเน้นถึงวิธีการในการลดการคอร์รัปชั่น

การใช้เครือข่ายสื่อสังคมและเทคโนโลยีที่ราคาถูกลงมากำจัดคอร์รัปชั่น

เทคโนโลยีที่มีราคาถูกลง ประกอบกับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและเครื่องข่ายสื่อสังคมกำลังช่วยผลักดันการต่อสู้คอร์รัปชั่นให้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ช่วยให้ประชาชนสามารถเก็บหลักฐานและส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในประเทศอินเดีย มีการใช้เว็บแคมเพื่อตรวจสอบว่า เหล่าครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนชนบท มาเข้าสอนจริงหรือไม่ การใช้สมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลายทำให้ประชาชนสามารถส่งรูปภาพในเวลาเกิดเหตุให้กับหน้าเฟสบุ๊คของตำรวจในกรุงเดลี เพื่อแจ้งการฝ่าฝืนกฎจราจร ในทวีปแอฟริกา เทคโนโลยีการส่งข้อความ SMS ช่วยให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่ายาที่พวกเขากำลังซื้อนั้นเป็นของแท้หรือไม่ หลายๆ ประเทศในลาตินอเมริกา ประชาชนสามารถอัปโหลดรูปภาพของโครงการรัฐ และพิกัด GPS ของโครงการเหล่านั้น เพื่อผลักดันไม่ให้เกิดโครงการร้าง
- นางแอนเน็ต ดิกสัน, ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย

คอร์รัปชั่นเป็นภัยระบาดไปทั่วทุกภาคส่วน แต่ละหน่วยงานจึงจำเป็นต้องมีมาตรการตอบสนองแบบร่วมมือกัน

การคอร์รัปชั่นยังคงเป็นภัยระบาดอยู่ในทุกภาคส่วนในประเทศไทย แม้ ป.ป.ช. จะทำงานอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย การต่อสู้คอร์รัปชั่นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกกลุ่มในสังคม เพื่อผลักดันการทำงานอย่างมีจริยธรรมของรัฐบาล การต่อสู้คอร์รัปชั่นต้องการการสนับสนุนจากประชาชนและการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน การต่อสู้คอร์รัปชั่นยังต้องการการค้นคว้าวิจัยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และศูนย์วิจัยที่ ป.ป.ช. ได้มีบทบาทสำคัญ ในการเป็นศูนย์กลางที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น และการให้ข้อมูลหลักฐานเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย เพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบัน ป.ป.ช. กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการก่อตั้งศูนย์การศึกษาทางนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยศูนย์การศึกษานี้จะรวบรวมการศึกษาในแขนงนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์อื่นๆ เพื่อพัฒนาการสร้างโครงร่างของนโยบายแบบบูรณาการในการต่อสู้คอร์รัปชั่น
- นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

วิธีต่อสู้คอร์รัปชั่นที่ได้ผลที่สุด อาจจะไม่ใช่วิธีที่สร้างหัวข่าวครึกโครม

การรณรงค์ต่อสู้คอร์รัปชั่นที่ได้ผลที่สุด น่าจะเป็นวิธีที่ครอบคลุม ยั่งยืน และสม่ำเสมอตลอดเวลาและครบกลุ่มเป้าหมาย การบุกจับที่เป็นข่าวดังหรือการดำเนินคดีที่ได้รับความสนใจ อาจได้ผลในบางครั้ง แต่จากหลักฐานที่ผ่านมาผลที่ได้รับเป็นเพียงแค่ชั่วแล่น เจ้าหน้าที่ทุจริตเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับการบุกจับกุม เช่นเดียวกับการที่อาชญากรเรียนรู้ที่จะกบดานเมื่อเรื่องกำลังร้อน การบุกจับกุมเป็นเพียงสิ่งน่ารำคาญใจ แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่แท้จริงในการประพฤติทุจริต และแย่ยิ่งไปกว่านั้น วงจรการบุกจับกุม ตามด้วยการทำการทุจริตตามปกติ จะนำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นในระบบ นโยบายการต่อสู้คอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ ในทางกฎหมายเมื่อเปรียบเปรยแล้ว เหมือนกับการควบคุมอาหารอย่างสมดุลย์และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คือการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีความแน่นอน และสามารถคาดเดาได้ และมีการสนับสนุนอย่างยั่งยืนทางการเมืองและการเงิน หลักปฏิบัตินี้ไม่ได้เป็นอะไรที่มหัศจรรย์ แต่ก็ยากที่จะกระทำได้อย่างยั่งยืน
- ศาสตราจารย์ แมททิว ซี สตีเฟนสัน, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

การทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวสามารถกระทำได้โดยง่าย แต่มีวิธีที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งเรื่องนี้

การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน สินแร่ แหล่งน้ำ และผืนป่า เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆ มักจะไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เต็มที่และที่ยั่งยืนจากทรัพยากรเหล่านี้ เนื่องจากการบริหารจัดการที่อ่อนแอและการคอร์รัปชั่น ประเทศต่างๆ สามารถลดการคอร์รัปชั่นได้ หากพิจารณาขั้นตอนหลัก 5 ขั้นตอน ในการแปรเปลี่ยนศักยภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (1) การกำหนดโครงร่างกฎหมายและก่อตั้งองค์กรการทำงาน: กำหนดให้มีการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในการร่างกฎหมาย มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกฎหมายสากล และมีการอภิปรายหารือประเด็นกฎหมายในสภา (2) การออกสัมปทานและใบอนุญาต: กำหนดให้มีการเสนอราคาที่มีการแข่งขันสูง ทำเงื่อนไขที่สำคัญของสัญญาสัมปทานให้เป็นรูปแบบมาตรฐาน และให้มีการให้คำแนะนำและทบทวนสัญญาจากบุคคลที่สามก่อนการเซ็นสัญญา เผยแพร่เงื่อนไขหลัก และให้รัฐสภาได้มีการประเมินผลจากสัมปทานก่อนๆ (3) กฎหมาย, การว่าจ้าง, และการดูแลตรวจสอบการดำเนินงาน: ต้องมีการลงทุนเพื่อให้มีการดูแลตรวจสอบ และกำหนดให้โครงการมีการว่าจ้างผู้ตรวจสอบอิสระ (4) การเก็บภาษีและค่าสัมปทาน: ต้องมีการเผยแพร่การจ่ายเงินทั้งหมด และต้องเข้าร่วมกับโครงการริเริ่มในภาคอุตสาหกรรมนั้น เช่น ปฏิบัติการเพื่อความโปร่งใสในการทำอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ (The Extractive Industry Transparency Initiative) และต้องมีการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบอิสระ ในเรื่องจำนวนเงินและการจ่ายเงิน (5) การแจกจ่ายและการจัดการรายได้: ต้องเผยแพร่งบประมาณสาธารณะและมีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินรัฐ
- วิลเลี่ยม เร็กซ์, หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคม ธนาคารโลก

การเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี และการรับผิดชอบที่ดีกว่าเดิม

สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลราชการถือเป็นสิทธิที่สำคัญของพลเมือง หลังจากที่ได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้เป็นกลไกในการสร้างความรับผิดชอบของรัฐบาล การบริหารจัดการที่ดี และระบอบประชาธิปไตย ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมี พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว และมีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลราชการ จำนวนผู้ตอบสนองนโยบาย ผ่านการขอข้อมูล และการยื่นเรื่องร้องเรียน ยังคงต่ำมาก โดยอุปสรรคหลักๆ ที่ขัดขวางการบรรลุวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. นี้ คือ (1) ประเด็นโครงสร้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดของการแต่งตั้งและความเป็นสถาบันของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) (2) งบประมาณ: งบประมาณที่ได้จัดสรรให้กับหน่วยงานที่ดำเนินงานมีจำนวนลดลง ไม่เพียงพอต่อหน่วยงานเหล่านั้นในการจัดการฝึกอบรม การเผยแพร่ข้อมูล หรือจัดกิจกรรมในเชิงรุกอื่นๆ (3) ความเป็นผู้นำ: การขาดการสนับสนุนและมุ่งมั่นจากนักการเมืองระดับสูง ทำให้การทำงานตามเนื้อหา พ.ร.บ. ลดระดับความมีประสิทธิภาพลง หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ยังไม่เห็นถึงความสำคัญ ของความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎการเปิดเผยข้อมูล (4) คุณค่าและความมีประโยชน์ของข้อมูลที่ถูกเปิดเผย เป็นประเด็นที่ต้องมีการหารือกัน และดูเหมือนว่าการใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นไปเพื่อความสนใจหรือปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าเพื่อส่วนประโยชน์สาธารณะชน อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีประเด็นบกพร่องหลายแง่ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารก็เป็นสัญลักษณ์อันสำคัญ ซึ่งเมื่อได้รับการดำเนินการที่ดีแล้ว จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและสร้างพลังขับเคลื่อนไปสู่การมีความโปร่งใสที่ดีขึ้น และการมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น
- รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ, เลขาธิการใหญ่ องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International)



Api
Api

Welcome