ข่าวประชาสัมพันธ์

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 7.1 แต่ก็ยังคงเป็นผู้นำการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ในปี 2556

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556



การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย
ตะวันออกชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 7.1  แต่ก็ยังคงเป็นผู้นำการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ในปี 2556

 

สิงคโปร์ 7 ตุลาคม 2556 – รายงาน East Asia Pacific Economic Update ที่เผยแพร่ในวันนี้กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจช้าลง เนื่องจากประเทศจีนได้ปรับเปลี่ยนตัวเองจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกมาเป็นการเน้นที่อุปสงค์ของตลาดภายในประเทศ การเติบโตของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางสูง เช่น อินโดนีเชีย มาเลเชียและประเทศไทยก็ชะลอตัวเช่นกันเนื่องจากการลงทุนที่ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกลงและการส่งออกที่เติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมาย

รายงานยังได้ระบุว่ามีการประมาณการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.1 ในปี พ.ศ. 2556 และร้อยละ 7.2 ในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการปรับตัวเลขเลงมาเล็กน้อยจากที่ธนาคารโลกเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังคงมีอัตราการขยายตัวทางทางเศรษฐกิจที่นำหน้าภูมิภาคอื่นๆ

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยร้อยละ 40 ของการขยายตัวของจีดีพีโลกมาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ หากพิจารณาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่เร่งตัวขึ้นในขณะนี้ ถึงเวลาที่ประเทศที่กำลังพัฒนาที่ควรจะปฏิรูปโครงสร้างและนโยบายเพื่อรักษาอัตราการเติบโตให้ยั่งยืน ลดภาวะความยากจน และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ยากไร้และด้อยโอกาสให้ดีขึ้น” นายแอ็กเซล ฟาน ทร็อตเซ็นเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้คาดว่าจะถึงเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้อย่างเป็นทางการคือร้อยละ 7.5  แนวโน้มการเติบโตระยะสั้นของประเทศดีขึ้นจากข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงผลิตผลที่แข็งแกร่งขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2556  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2557 คาดว่าจะอยู่ในอัตราร้อยละ 7.7 หากแต่ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจีน – การลงทุนที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจส่งผลลบต่อทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้จำหน่ายสินค้าทุนและวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมแก่ประเทศจีน

หากไม่รวมประเทศจีน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ในปี พ.ศ. 2556 และร้อยละ 5.3 ในปี พ.ศ. 2557 ขณะที่อุปสงค์จากภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเจริญเติบโต การลงทุนโดยรวมกลับชะลอตัวในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเชียน อันรวมถึง อินโดนีเชีย มาเลเชีย และประเทศไทย การบริโภคและการส่งเงินกลับประเทศยังคงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในขณะที่การเจริญเติบโตของประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กกลับดีขึ้น อาทิ กัมพูชาได้รับผลบวกจากการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและการท่องเที่ยว ในภาวะที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรปกำลังฟื้นตัวและมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. 2556 ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากมีส่วนแบ่งทางการค้าในเศรษฐกิจสูง อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้ควรเตรียมพร้อมรับการปรับตัวที่อาจจะส่งผลทางลบ ในช่วงสองถึงสามเดือนที่ผ่านมา การคาดการณ์เกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการ Quantitative Easing (QE) ในสหรัฐอเมริกานำไปสู่การขายทิ้งในตลาดหลักทรัพย์และค่าเงินที่อ่อนลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินของประเทศประเทศที่มีการลงทุนของต่างชาติเป็นจำนวนมาก

“การตัดสินใจของธนาคารกลางของสหรัฐฯ ที่จะเลื่อนการลดขนาดของ QE ได้ทำให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงนี้ เปิดโอกาสให้บรรดาประเทศต่างๆ ได้ตระเตรียมมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงิน ในอนาคต”  นายเบิร์ต ฮอฟแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “การลดการพึ่งพาหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศและหนี้ระยะสั้น การยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงเมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพที่มี  และการออกนโยบายเพื่อช่วยลดผลกระทบและตอบสนองต่อสภาพคล่องของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง เป็นตัวอย่างของมาตรการที่ประเทศต่างๆ สามารถใช้เพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนของตลาดเงินโลก ”

ผลกระทบของการลด QE ต่อการไหลเข้าของเงินทุนในภูมิภาคอาจชดเชยได้ด้วยมาตรการ “อาเบะโนมิกส์ (Abenomics)” หรือยุทธศาสตร์ใหม่ของญี่ปุ่นในการฟื้นฟูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งจะเพิ่มการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้

การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบขยายตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก ได้สร้างความเปราะบางทางเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศที่พัฒนา และเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการฟื้นฟูและรักษาความมั่นคงทางการเงินของประเทศ

ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นและมีผลกระทบต่อการลงทุน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาความยากจนจะขึ้นอยู่กับการปฏิรูปทางโครงสร้างของประเทศ ประเทศต้องปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันการลงทุนภาครัฐต้องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นทั่วโลกสามารถช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาปฏิรูปโครงสร้างซึ่งทำให้ประเทศได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและมีรากฐานการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง รัฐบาลจะต้องลดความเสี่ยงทางการคลังเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วยมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการลดเงินอุดหนุนด้านพลังงาน

นายฮอฟแมนกล่าวอีกว่า “การปฏิรูปโครงสร้างที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ที่ได้จากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจคือกุญแจสำคัญสำหรับการเติบโตในอนาคต”

รายงานThe East Asia and Pacific Update เป็นรายงานของธนาคารโลกที่วิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รายงานฉบับนี้ตีพิมพ์ปีละสองครั้งและเผยแพร่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ www.worldbank.org/eapupdate

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน สิงคโปร์
Dini Djalal
โทร: +62-21-5299-3156
ddjalal@worldbank.org
ใน วอชิงตัน
Chisako Fukuda
โทร: +1 (202) 473-9424
cfukuda@worldbank.org

แหล่งอ้างอิง


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2014/121/EAP

Api
Api

Welcome