ข่าวประชาสัมพันธ์

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจำเป็นต้องมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อการกำจัดช่องว่างระหว่างหญิงและชาย

วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555




แม้ช่องว่างระหว่างหญิงและชายในด้านการศึกษาและสุขภาพกำลังจะหมดไป แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่สำคัญในเรื่องของการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการมีสิทธิมีเสียงและมีอำนาจในสังคมนั้นยังคงมีอยู่

กรุงเทพ  18 มิถุนายน 2555 – รายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลกรายงานว่า ในขณะที่ความเท่าเทียมกันในเรื่องความเสมอภาคหญิงชายมีอัตราที่สูงขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แต่ความไม่เท่าเทียมกันยังคงมีอยู่ในเรื่องสำคัญหลายด้าน รายงานเรื่อง “ก้าวสู่ความเสมอภาคหญิงชายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก" (Toward Gender Equality in East Asia and the Pacific) กล่าวว่า การเพิ่มการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพของผู้หญิงสามารถเพิ่มผลิตภาพในภูมิภาคได้อย่างมีนัยสำคัญ

“การลดความไม่เท่าเทียมกันด้านโอกาสการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภูมิภาคได้ถึงร้อยละ 7-18 ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดภาวะความยากจน ดังนั้นการเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ยังเป็นการกระทำที่ชาญฉลาด” นางพาเมลา ค็อกซ์ รองประธานธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว

รายงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (AusAID) และเผยแพร่โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านความเสมอภาคหญิงชายของธนาคารโลกในประเทศไทยซึ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้กำหนดนโยบาย ภาคประชาสังคม และผู้นำทางความคิดในประเด็นเรื่องความเสมอภาคหญิงชายและการพัฒนาหลายท่าน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทางเลือกเชิงนโยบายที่จะส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ธนาคารโลกมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนนานาประเทศเพื่อจัดการกับข้อจำกัดที่ผู้หญิงกำลังเผชิญในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านทักษะตามความต้องการของตลาด เพิ่มอำนาจการเข้าถึงที่ดินและแหล่งทุน หรือการมีสิทธิมีเสียงและอำนาจในสังคม” นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

จากการศึกษาพบว่าการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในด้านโอกาสทางเศรษฐกิจ และการมีสิทธิมีเสียงในสังคมจะช่วยส่งเสริมผลลัพธ์ทางการพัฒนาที่ดีขึ้น รวมถึงผลิตภาพที่สูงขึ้น การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และการลดภาวะความยากจนได้โดยเร็ว แม้ว่าการมีส่วนร่วมของแรงงานเพศสตรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะมีอัตราค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคกำลังพัฒนาอื่น หากความก้าวหน้ายังคงมีไม่สม่ำเสมอ

“เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ใหญ่และมีความหลากหลาย มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ซึ่งรวมถึงความเสมอภาคหญิงชาย ผู้หญิงในภูมิภาคนี้มีสถานะที่ดีกว่าที่เคยเป็นมาในบางเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วม การสนับสนุนและการได้รับประโยชน์จากการพัฒนา แต่กระนั้นก็ยังมีสิ่งที่จะด้องดำเนินการเพิ่มเติมอีกหลายประเด็นด้วยกัน" นายแอนดรูว์ เมสัน หัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงาน กล่าว

รายงานเรื่อง ก้าวสู่ความเสมอภาคหญิงชายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (Toward Gender Equality in East Asia and the Pacific) เป็นรายงานของภูมิภาค ได้วิเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านความเสมอภาคหญิงชายที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้ อันได้แก่ มิติด้านความเสมอภาคหญิงชายในทิศทางและแนวโน้มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีมากขึ้น การย้ายถิ่น การเป็นชุมชนมือง และภาวะประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้แม้จะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ แต่ก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายเช่นกัน

รายงานฉบับนี้ให้ข้อมูลและหลักฐานใหม่ๆ เกี่ยวกับความเสมอภาคหญิงชายและการพัฒนา ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งทางศักยภาพในการกำหนดนโยบายโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในประเทศแถบภูมิภาคนี้

รายงานฉบับนี้ได้ระบุแนวทางหลักสี่แนวทางสำหรับการนำไปใช้ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้ ดังนี้: 

  • แนวทางที่หนึ่ง ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในด้านการพัฒนามนุษย์เพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศหญิงและเพศชายในเรื่องการศึกษาและสุขภาพยังคงมีอยู่มาก   
  • แนวทางที่สอง กำจัดช่องว่างระหว่างหญิงและชายในด้านโอกาสทางเศรษฐกิจ การกำจัดช่องว่างเหล่านี้จะได้รับการรับรองทั้งในด้านประสิทธิภาพและความเป็นธรรม 
  • แนวทางที่สาม สร้างความแข็งแกร่งในการมีสิทธิมีเสียงและอำนาจของผู้หญิง และปกป้องผู้หญิงจากการถูกทารุณกรรม การสร้างความแข็งแกร่งในการมีสิทธิมีเสียงจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพการตัดสินใจเพื่อการพัฒนาและการพัฒนาเป็นวงกว้าง  
  • และแนวทางที่สี่ คือการส่งเสริมโอกาสและการจัดการความเสี่ยงอันเกี่ยวเนื่องกับทิศทางและแนวโน้มใหม่ ๆ ของภูมิภาค วิธีการกำหนดนโยบายที่คำนึงถึงความเสมอภาคหญิงชายจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านความเสมอภาคหญิงชายและการพัฒนา

รายงานฉบับนี้ได้เน้นย้ำว่าความเสมอภาคหญิงชายในหลายด้านนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ด้วยเหตุนี้นโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงความเสมอภาคหญิงชายจึงเป็นสิ่งจำเป็นหากประเทศนั้นๆ ต้องการประสบความสำเร็จทั้งในด้านความเท่าเทียมกันในเรื่องความเสมอภาคหญิงชาย และการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว

“ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคนี้ต้องเข้าใจว่าทำไมความก้าวหน้าในการกำจัดช่องว่างระหว่างหญิงและชายจึงไม่สม่ำเสมอและต้องกำหนดนโยบายแก้ไขในจุดที่ยังคงมีช่องว่างอยู่” นายเมสันกล่าว “ท้ายที่สุดแล้ว ความเสมอภาคหญิงชายจะเป็นทั้งเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาและเป็นนโยบายการพัฒนาที่ดีโดยตัวเอง”

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพฯ
มีเรียม เกรย์
โทร: + 85 620 2222-1304
mgray@worldbank.org
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: 02 686 8326
bsangarun@worldbank.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2012/511/EAP

Api
Api

Welcome