ข่าวประชาสัมพันธ์

การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและภัยพิบัติจากธรรมชาติ

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554




สิงค์โปร์ - 22 พฤศจิกายน 2554 รายงาน East Asia and Pacific Economic Update ของธนาคารโลกรายงานว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังคงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระดับปานกลางเนื่องจากความต้องการจากตลาดภายนอกลดลง รายงานได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องปรับเป้าหมายการปฎิรูปเพื่อเพิ่มความต้องการการบริโภคจากตลาดภายในประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

รายงานฉบับล่าสุดนี้คาดการณ์ว่า ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจในยุโรป และ การชะลอตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ จีดีพีที่แท้จริง (Real GDP) ของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.2 ในปี พ.ศ. 2554 (หรือร้อยละ 4.7 หากไม่รวมประเทศจีน) และร้อยละ 7.8 ในปีพ.ศ. 2555 ความต้องการบริโภคในประเทศรายได้ปานกลางส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงเนื่องจากนโยบายการเงินและการคลังกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ

“จากการที่เศรษฐกิจในยุโรปมีการเติบโตลดลงเนื่องจากมาตรการรัดเข็มขัดด้านการคลัง รวมถึงการที่ธนาคารพาณิชย์มีความจำเป็นต้องเพิ่มเงินทุนสำรองล้วนส่งผลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก การถูกปรับลดเครดิตของธนาคารในยุโรปส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้าในเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม การที่มีเงินทุนสำรองในระดับที่สูงและบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ได้ช่วยปกป้องประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้จากผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้อีกครั้ง” นายเบิร์ต ฮอฟแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลกกล่าว

การชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีผลมากจากการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ชะลอลง การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักในห่วงโซ่อุปทานเริ่มลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ และวัตถุดิบยังคงมีอยู่มากส่งผลให้ประเทศที่มีทรัพยากรอยู่มากสามารถรักษาระดับการเติบโตของจีดีพีและการส่งออกในระดับสูงไว้ได้

จากความต้องการบริโภคของประเทศพัฒนาแล้วลดลง ส่งผลให้ประเทศจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าที่สูงขึ้น และเป็นประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญของโลก การที่จีนได้กลายเป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นนั้นยังได้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย

แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกในอนาคตจะมีข้อจำกัดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกรวมถึงผลกระทบจากภัยพิบัติจากธรรมชาติ ความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาหนี้ในทวีปยุโรปจะทำให้ความกังวลของนักลงทุนต่อการเติบโตและความมั่นคงของเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เงินทุนได้ไหลออกจากตลาดของประเทศเศรษฐกิจใหม่ไปยังแหล่งที่มีความมั่นคงกว่าส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนและการเสียมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียตะวันออก

นายฮอฟแมนยังกล่าวต่อไปอีกว่า “จากการคาดการณ์ในปัจจุบัน ประชากรอีก 38 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกจะพ้นจากความยากจนภายในปลายปี 2554 เรายังคงมีความกังวลต่อผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง เนื่องจากภาวการณ์ราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างฉับพลัน รวมถึงรายได้ครัวเรือนที่อาจจะลดลงล้วนส่งผลกระทบต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาความยากจน”

ผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายประเทศส่งผลต่อการสูญเสียทางเศรษฐกิจในปีนี้ ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทยส่งผลให้จีดีพีของไทยปรับเหลือร้อยละ 2.4 ในปี 2554 ถึงแม้ว่าการประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ภัยพิบัติในครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อความสูญเสียในภาคการผลิตของภูมิภาคเนื่องจากการขาดห่วงโซ่อุปทานในการผลิต อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูบูรณะหลังน้ำท่วมจะส่งผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2555 ส่วนการฟื้นฟูด้านการผลิตเพื่อกลับมาสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดภัยพิบัตินั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการรถและอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดโลก

ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังทบทวนถึงทางเลือกในการกำหนดนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รายงานนี้ได้ระบุว่าความท้าทายแรกในระยะสั้นนี้คือ การทำให้เกิดสมดุลย์ระหว่างการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรับมือกับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ มีความเป็นไปได้ที่ผู้กำหนดนโยบายจะระงับการดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดและเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบด้านลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หรือการแก้ปัญหาอย่างโกลาหลจากปัญหาหนี้ในยุโรป แม้ว่าสถานภาพทางการคลังจะไม่เข้มแข็งเท่ากับช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551 แต่ประเทศรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ก็ยังมีช่องทางเพียงพอในการใช้โนบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้หากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจยืดเยื้อ

“รัฐบาลสามารถใช้โอกาสนี้ในการปรับเปลี่ยนการปฎิรูปที่จะช่วยการเติบโตในระยะสั้นและระยะยาว การลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และระบบการประกันสังคมสามารถช่วยให้ประเทศเพิ่มผลิตภาพและนำไปสู่การผลิตที่เพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้น” นางอิกาเทียริน่า วอสโทรคนูโทวา ผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้และนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “โครงการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นนั้นควรคำนึงถึงความมั่นคงทางด้านการคลัง มีเป้าหมายที่ชัดเจน และ ส่งเสริมการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การเติบโตที่เข้มแข็งโดบขับเคลื่อนจากความต้องการภายในประเทศมากขึ้น”

รายงานนี้กล่าวว่า การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในพื้นที่ที่มีการลงทุนในระดับที่สูงอยู่แล้วควรเป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญในระดับแรกไปพร้อม ๆ กับการปรับความสมดุลย์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่การบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนเพิ่มเติมด้านการจัดการและการป้องกันภัยพิบัติกำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน สิงคโปร์
Rebecca Ong
โทร: (65) 9231-3742
rebeccaOng7@gmail.com
ใน วอชิงตัน
Mohamad Al-Arief
โทร: (202) 458-5964
malarief@worldbank.org
Natalia Cieslik
โทร: (202) 458-9369
ncieslik@worldbank.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2012/160/EAP

Api
Api

Welcome