ข่าวประชาสัมพันธ์

รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ความปลอดภัยของประชาชน ความเป็นธรรม และการมีงานทำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยุติวงจรความรุนแรงทางการเมืองและอาชญากรรม

วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554




รายงานการพัฒนาโลกปี 2554 ชี้ว่ามีประชากร 1,500 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวงจรความรุนแรงซึ่งมีอัตราความยากจนสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ถึงร้อยละ 20

กรุงวอชิงตัน วันที่ 11 เมษายน 2554 – รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกชี้ว่า ประชากรกว่า 1,500 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวงจรความรุนแรงทางการเมืองและอาชญากรรม โดยปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่มีรายได้ต่ำหรือได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้แม้แต่เป้าหมายเดียว การฟื้นฟูแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และเป็นกับดักให้ประเทศที่มีความเปราะบางไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความรุนแรงได้ต้องอาศัยการพัฒนาสถาบันและการปกครองในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชน ความเป็นธรรม และการมีงานทำ

“หากเราต้องการที่จะยุติวงจรความรุนแรงและลดระดับความตึงเครียดซึ่งเป็นสาเหตุของวงจรดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาสถาบันระดับชาติให้มีความชอบธรรม มีความโปร่งใส และมีศักยภาพในการสร้างความปลอดภัย ความเป็นธรรม และการมีงานทำให้แก่ประชาชนได้”นายโรเบิร์ต บี. เซลลิค ประธานธนาคารโลกกล่าว“เยาวชนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่อ่อนแอมีความเสี่ยงเป็น 2 เท่าที่จะเป็นโรคขาดสารอาหาร และมีความเสี่ยงเป็น 3 เท่าที่จะไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน โดยผลกระทบของความรุนแรงในบริเวณหนึ่งสามารถที่จะกระจายไปยังบริเวณใกล้เคียงและในบริเวณอื่น ๆ ในโลกได้ซึ่งจะส่งผลเสียต่อโอกาสในการพัฒนาของประเทศอื่น ๆ และลดโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาค

รายงานการพัฒนาโลกปี 2554 ความขัดแย้ง ความมั่นคง และการพัฒนาซึ่งจัดทำตามแนวทางสุนทรพจน์ของนายเซลลิค ในปี 2551 ที่กล่าวกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (International Institute for Strategic Studies) ในหัวข้อ “รัฐที่อ่อนแอและการพัฒนา” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจัยทางด้านการพัฒนาและการทหารมักไม่ได้รับการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งนายเซลลิค เสนอว่า ประเด็นด้านความมั่นคงและการพัฒนาต้องได้รับการพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อที่จะยุติวงจรความเปราะบางของรัฐและวงจรความรุนแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรโลกกว่า 1 พันล้านคน

รายงานฉบับนี้กล่าวว่า ประชากรโลกอย่างน้อย 1,500 ล้านคนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในปัจจุบันหรือจากความเสียหายที่เกิดจากความรุนแรงในอดีต โดยรายงานแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงอย่างเป็นระบบในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกิดมาจากความตึงเครียดภายในประเทศและนอกประเทศ เช่น การว่างงานของเยาวชน ความไม่มั่นคงทางรายได้ ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มศาสนาหรือกลุ่มทางสังคมและเครือข่ายค้ามนุษย์ ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า การว่างงานเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้กลุ่มโจรและกลุ่มกบฏสามารถรวบรวมสมาชิกได้ นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อความรุนแรงมีสูงขึ้นเมื่อมีความตึงเครียดเกิดขึ้นพร้อมกับความด้อยศักยภาพหรือการขาดความชอบธรรมของสถาบันระดับชาติที่สำคัญต่าง ๆ สามารถสังเกตได้ชัดจากความวุ่นวายในทวีปตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกาเหนือในช่วงที่ผ่านมา

สถาบันระดับชาติที่มีศักยภาพและความชอบธรรมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสถาบันเหล่านี้สามารถบรรเทาความตึงเครียดที่สามารถนำไปสู่ความรุนแรงและความไม่มั่นคงได้ (ร้อยละ 90 ของสงครามกลางเมืองระหว่างปี 2543 – 2553 เกิดขึ้นในประเทศที่เคยมีสงครามกลางเมืองมาก่อนแล้วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา) อย่างไรก็ตาม โอกาสในการพัฒนาของประเทศที่มีสันติภาพถูกบั่นทอนโดยองค์กรอาชญากรรมที่มีจำนวนมาก โดยประเทศที่ความรุนแรงหยั่งลึกสูญเสียโอกาสในการพัฒนาอย่างมาก และมีอัตราความยากจนที่สูงกว่าประเทศที่สามารถลดระดับความรุนแรงได้ถึงร้อยละ 20 จุดโดยเฉลี่ย

“แม้ว่าประเทศส่วนมากในโลกมีความก้าวหน้าอย่างมากในการลดความยากจนในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา แต่ประเทศที่มีสภาวะทางการเมืองที่ไม่มั่นคงและมีปัญหาความรุนแรงนั้น ไม่มีความก้าวหน้าและขาดการพัฒนาในเชิงของการเติบโตทางเศรษฐกิจและตัวชี้วัดการพัฒนามนุษย์ทั้งหลาย”นายจัสติน ลิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และรองประธานอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ธนาคารโลกกล่าว

 

รายงานฉบับนี้เสนอว่า การยับยั้งวงจรความรุนแรงต้องอาศัยการพัฒนาศักยภาพและความชอบธรรมของสถาบันระดับชาติและการพัฒนาการปกครอง ซึ่งในสถานการณ์ความรุนแรงและความเปราะบาง ความพยายามในการสร้างความร่วมมือทางการเมืองที่มีความครอบคลุมอย่างเพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสรรหาการสนับสนุนในวงกว้างเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลง

การสร้างความมั่นใจเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งซึ่งจะต้องอาศัยการแสดงออกถึงเจตนาที่ดีผ่านการพัฒนาความโปร่งใส ความสำเร็จและมาตรการที่มีความน่าเชื่อถือในการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง บทเรียนสำคัญจากประสบการณ์ของหลายประเทศ คือ ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม 2 – 3 ประการนั้นเพียงพอต่อการเริ่มต้นการเรียกความมั่นใจกลับคืนมา

งานวิจัยภายใต้รายงานฉบับนี้ระบุว่า การปฏิรูปองค์กรอย่างแท้จริงนั้นจำต้องอาศัยเวลา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการปฏิรูปสถาบันระดับชาติที่อ่อนแอหรือขาดความชอบธรรมให้สามารถทนทานต่อความรุนแรงและความไม่มั่นคงจะต้องใช้เวลากว่าถึง 30 ปี ทั้งนี้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดระดับความรุนแรงนั้น ล้วนแต่ต้องผ่านขั้นตอนในการปฏิรูปสถาบันทางการเมือง สถาบันความมั่นคง และสถาบันทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น โดยความสำเร็จในชั้นต้นของการปฏิรูปที่ผ่านมามักมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคง ความเป็นธรรม และการมีงานทำให้แก่ประชาชน รวมถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งในเชิงบวกและลบระหว่างสถาบันเหล่านั้น การปฏิรูปที่ประสบความล้มเหลวที่ผ่านมานั้นมีสาเหตุเนื่องมาจากขาดปัจจัยข้างต้นบางประการ

บทเรียนจากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ

รายงานฉบับนี้ระบุถึงโครงการระดับชาติ 5 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นใจสำหรับการปฏิรูปสถาบันในระยะยาว

  • การสนับสนุนโครงการชุมชนเพื่อการป้องกันความรุนแรง การสร้างงาน และการให้บริการทางสังคม รวมถึงความยุติธรรมระดับท้องถิ่นและการหาข้อยุติสำหรับความขัดแย้งในบริเวณที่ยังขาดความมั่นคง
  • โครงการเพื่อการปฏิรูปสถาบันความมั่นคงและสถาบันยุติธรรม โดยมุ่นเน้นการปฏิรูปการปฏิบัติหน้าที่ขั้นพื้นฐาน รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันตำรวจ ความยุติธรรมภาคประชาขน และการคลังภาครัฐ
  • โครงการขั้นพื้นฐานเพื่อการสร้างงาน อาทิ โครงการภาครัฐและโครงการระดับชุมชนขนาดใหญ่ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน โครงการเพื่อการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิตและตลาดเข้าด้วยกัน และโครงการเพื่อการเข้าถึงสินทรัพย์ ทักษะ ประสบการณ์ และแหล่งทุน
  • การส่งเสริมให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการส่งเสริมความมั่นคง ความยุติธรรม และการมีบทบาททางเศรษฐกิจ
  • โครงการต่อต้านการทุจริตที่สามารถแสดงให้เห็นว่าโครงการหรือการปฏิรูปใหม่ ๆ มีการบริหารและตรวจสอบที่ดี โดยการใช้ประโยชน์จากศักยภาพขององค์กรอื่น ๆ และของชุมชนในการติดตามประเมินผล

“ผู้นำระดับชาติและระดับโลกจำเป็นต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการการมีงานทำและความยุติธรรมของประชาชนไม่ว่าจะเป็นในทวีปแอฟริกาเหนือ สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ หรือสาธารณรัฐเฮติ ทั้งนี้ ประชาคมโลกควรมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความมั่นคง ความยุติธรรม และการมีงานทำให้แก่ประชาชนในกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ซึ่งต้องอาศัยการปฏิรูปกระบวนการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ ความตื่นตัวและการตอบสนองในระดับภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศรายได้น้อย กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในด้านความยุติธรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” ดร.ซาร่า คลิฟ ผู้อำนวยการร่วมและผู้แทนพิเศษของรายงานการพัฒนาโลก กล่าว

การปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รายงานฉบับนี้เสนอแนะให้ปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • การจัดหาความช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างมีบูรณาการในการสร้างความมั่นคง ความเป็นธรรม และการมีงานทำให้แก่ประชาชน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือที่มากขึ้นสำหรับการสร้างงาน และการสร้างธรรมาภิบาลให้แก่องค์กรตำรวจและระบบความยุติธรรม
  • การปฏิรูประบบภายในขององค์กรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสร้างความมั่นใจและการสร้างสถาบันในระยะยาวซึ่งจำต้องอาศัยการปฏิรูปทางด้านงบประมาณ บุคลากร และกระบวนการบริหารจัดการขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้รวดเร็วมากขึ้นในลักษณะที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง
  • การดำเนินงานในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติที่เกี่ยวกับความตึงเครียดจากภายนอกในด้านต่าง ๆ เช่น ผลกระทบต่อรัฐที่อ่อนแอจากแนวโน้มการทุจริต การค้ามนุษย์ และความมั่นคงทางด้านอาหารในระดับโลก
  • การสร้างจุดยืนร่วมกันของนานาประเทศเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติของการเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

“รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยการรวบรวมบทวิเคราะห์ของนักวิจัยและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายในวงการการพัฒนาองค์กรของสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาค ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจที่มีค่าอย่างมากเกี่ยวกับมิติทางด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดความรุนแรง นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ได้สรรหาประสบการณ์ของประเทศและเหล่าผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรความรุนแรง พวกเราจึงเชื่อว่าสิ่งนี้คือประโยชน์ที่แท้จริงของรายงานฉบับนี้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อไปคือการนำข้อค้นพบของรายงานฉบับนี้มาประยุกต์ใช้ในการวางนโยบายและจัดทำโครงการที่สามารถปฏิบัติและเห็นผลได้จริง” นายไนเจล โรเบิร์ต ผู้อำนวยการร่วมและผู้แทนพิเศษของรายงานการพัฒนาโลกกล่าว

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน ดีซี
Nick Van Praag
โทร: +1 (202) 473-7936
nvanpraag@worldbank.org
ใน กรุงเทพฯ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: 02 686-8300
bsangarun@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
EAP

Api
Api

Welcome