Skip to Main Navigation
เรื่องเด่น วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

70 ปีธนาคารโลกในประเทศไทย: จากการพัฒนาแบบเดิมไปสู่ความร่วมมือด้านความรู้และนวัตกรรม

Image

หนึ่งในโครงการเงินกู้ในระยะยแรกของประเทศไทยคือ การฟื้นฟูบูรณะการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2493  การปรับปรุงระบบรางนอกจากจะช่วยเชื่อมต่อภูมิภาคทั้งหมดในประเทศไทยแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญด้านการขนส่งภายในประเทศและอำนวยความสะดวกเรื่องการค้าต่างประเทศ


เรื่องเด่น

  • ธนาคารโลกฉลองครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์กับประเทศไทยวันที่ 3 พฤษภาคม ความร่วมมือนี้ได้พัฒนามาจากการกู้ยืมและการบริการงานวิเคราะห์วิจัยแบบเดิมไปสู่ความร่วมมือด้านความรู้โดยใช้นวัตกรรมดำเนินการ
  • เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ธนาคารโลกได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศ อีกสามปีต่อจากนี้ ธนาคารโลกจะมุ่งเน้นการทำงานเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อให้แน่ใจว่าการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมนั้นจะช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
  • “ดิฉันอยากให้ประเทศอื่นๆ และเพื่อนร่วมงานทราบว่า เส้นทางการพัฒนาของประเทศไทยมีหลากหลายมิติ เช่นเดียวกันกับความร่วมมือของเรา นอกจากความท้าทายด้านการเมืองและการพัฒนาแล้ว ธนาคารโลกยังคงมีส่วนร่วมในการทำงานกับประเทศไทย ที่ซึ่งเราได้เติบโต เรียนรู้และปรับความร่วมมือไปด้วยกัน” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลก กล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2495 ยูจีน แบล็ค ประธานธนาคารโลกคนที่สาม ได้เดินทางมาเยี่ยมประเทศไทยเป็นครั้งแรก และได้ร่วมสำรวจแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกำลังก่อสร้างระบบควบคุมน้ำเพื่อการชลประทานให้กับพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ตอนกลางของประเทศไทย นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกธนาคารโลกเมื่อปีพ.ศ. 2492 ธนาคารโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยเรื่องเงินกู้ยืมในปีถัดมา  นับว่าเป็นเงินกู้ของธนาคารโลกครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน  ในช่วงเวลานั้นองค์การระหว่างประเทศได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศไทยโดยตรงซึ่งเน้นให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน เขื่อน งานชลประธาน ไฟฟ้า การขนส่งทางราง และท่าเรือ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตและกิจกรรมด้านการค้าให้ประเทศไทยอย่างรวดเร็ว  ทุกวันนี้ นับเป็นเวลา 70 ปีจากวันนั้น ประเทศไทยได้เติบโตเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีพลวัตร และได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ที่มีต่อธนาคารโลกจากการกู้ยืมและบริการงานวิเคราะห์วิจัยแบบเดิมไปสู่ความร่วมมือที่มีฐานจากความรู้ที่ใช้นวัตกรรมในการดำเนินการ

เราได้พูดคุยกับเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยคนปัจจุบันถึงเรื่องแผนการการทำงานของธนาคารโลกในประเทศไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้  รวมถึงประเทศอื่น ๆ จะเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวการเติบโตของไทยได้บ้าง บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้จะมีเหตุการณ์สำคัญเป็นพิเศษสองเหตุการณ์ คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้นหลังจากครั้งที่ก่อนเมื่อ พ.ศ. 2493 และการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ในฐานะที่คุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์และมีประสบการณ์ทำงานจากทั่วโลก คุณคิดว่าประเทศไทยมีอะไรที่มีเสน่ห์ น่าสนใจ หรือแตกต่างจากที่อื่น?

ดิฉันคิดว่า วันนี้ ยูจีน แบล็คอาจดูกรุงเทพแทบไม่ออก และดิฉันก็มั่นใจว่าเขาจะต้องทึ่งกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ที่เขาเคยมาเมื่อ พ.ศ. 2495 ประเทศไทยมีเรื่องราวความสำเร็จด้านการพัฒนา ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งมั่นคง รวมถึงการลดอัตราความยากจนที่น่าประทับใจ ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวประมาณ 5,690 เหรียญสหรัฐต่อปี และอัตราความยากจนลดลงมาก  สิ่งที่ดิฉันประทับใจที่สุด คือการที่รัฐบาลและประชาชนไทยไม่ได้หยุดความพอใจแค่ความสำเร็จในเรื่องนี้ แต่ยังคงมุ่งมั่นเพื่อจะก้าวข้ามความท้าทายสำคัญต่าง ๆ เพื่อนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยต้องการให้มั่นใจว่าคนไทยทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของก้าวใหม่นี้ไปด้วยกัน  ในขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมาและกลุ่มธนาคารโลกมีความร่วมมือแบบเดิมในการกู้ยืมเงินเพื่อมุ่งพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนัก  แต่ทุกวันนี้ ประเทศไทยต้องการคำปรึกษาและความเชี่ยวชาญในโครงการที่เน้นฐานความรู้เป็นหนัก ในเรื่องการให้คำแนะนำเชิงนโยบายและการดำเนินการปฏิรูป  สิ่งเหล่านี้ทำ

ให้เกิดความร่วมมือที่มีลักษณะเฉพาะตัวระหว่างธนาคารโลกและประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงและมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ซึ่งธนาคารโลกเองสามารถนำบทเรียนของประเทศไทยไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศอื่นๆ

ตลอดระยะเวลาเจ็ดทศวรรษของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารโลกกับประเทศไทย คุณคิดว่าคนทั่วไปควรได้รับรู้ถึงช่วงเวลาใดบ้าง?

เมื่อเราได้ยินเรื่องราวความสำเร็จของการพัฒนาอย่างประเทศไทยนั้น เรามักคิดไปว่าทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่นั่นก็ไม่ใช่ความจริง เราได้เรียนรู้บทเรียนในช่วงเวลายากลำบากที่ผ่านพ้นมาได้  สิ่งที่ดิฉันอยากให้คนทั่วไปได้ทราบก็คือ เส้นทางการพัฒนาของประเทศไทยมีหลากหลายมิติ ความร่วมมือของธนาคารกับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน กลุ่มธนาคารโลกเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่มั่นคงต่อประเทศไทยแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เช่น ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจผันผวนหลังจากเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันในช่วง พ.ศ. 2515-2518 ช่วงวิกฤติการณ์เงินโลก หรือแม้แต่ช่วงเวลาที่การเมืองไทยขาดเสถียรภาพระหว่างพ.ศ. 2551-2557 เราได้เรียนรู้และปรับความร่วมมือของเราให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนชาวไทยไปด้วยกัน


"ประเทศไทยอยู่ในจุดที่จะก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านทางประชากรเนื่องจากจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ แรงงานที่มีจำนวนมากนั้นก็กำลังจะลดลง ดังนั้น การปรับปรุงผลิตภาพโดยผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจที่แข่งขันด้วยนวัตกรรม รวมถึงสร้างความพร้อมด้านทักษะให้คนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน"
เบอร์กิท ฮานสล์
ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย

Image

ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2495 ยูจีน แบล็ค ประธานธนาคารโลกคนที่สาม ได้เดินทางมาเยี่ยมประเทศไทยเป็นครั้งแรก และได้ร่วมสำรวจแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกำลังก่อสร้างระบบควบคุมน้ำเพื่อการชลประทานให้กับพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ตอนกลางของประเทศไทย


อยากให้เล่าถึงแผนการอีกสามปีข้างหน้าของสำนักงานธนาคารโลกประจำประเทศไทย การมีส่วนร่วมของธนาคารโลกกับประเทศไทยที่จะสร้างผลกระทบด้านการพัฒนามากที่สุดคืออะไร?

ความร่วมมือที่ใช้ความรู้เป็นฐานกับประเทศไทยในปัจจุบันคือ สัญญาบริการให้คำปรึกษาหลายโครงการ ประเทศไทยได้ลงนามในสัญญาบริการให้คำปรึกษากับธนาคารโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีพ.ศ. 2559 โครงการนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น  อีกสามปีข้างหน้า ดิฉันอยากให้กลุ่มธนาคารโลกเป็นหุ้นส่วนด้านความรู้กับรัฐบาลไทยโดยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความท้าทายที่มีความซับซ้อนในอนาคตที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ประเทศไทยอยู่ในจุดที่จะก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านทางประชากรเนื่องจากจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ แรงงานที่มีจำนวนมากนั้นก็กำลังจะลดลง ดังนั้น การปรับปรุงผลิตภาพโดยผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจที่แข่งขันด้วยนวัตกรรม รวมถึงสร้างความพร้อมด้านทักษะให้คนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน  ในขณะเดียวกัน ระบบการเงินของบำนาญและบริการสุขภาพก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ธนาคารโลกมีประสบการณ์และความรู้ระดับโลกที่มีลัษณะเฉพาะต่างจากองค์การอื่น ๆ ดังนั้น เราพร้อมเป็นหุ้นส่วนในการนำการสนทนาหารือเรื่องความท้าทายด้านการพัฒนาที่มีแง่มุมหลากหลายให้กับประเทศสมาชิกที่มีรายได้ปานกลาง

นอกจากนี้ สำนักงานกรุงเทพยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการของกลุ่มธนาคารโลกในภูมิภาค เจ้าหน้าที่ของเราที่ประจำที่สำนักงานนี้ยังทำงานในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และเอเชียใต้ สำนักงานกรุงเทพยังพัฒนาต่อไปเพื่อให้เกิดโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ และสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการในประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีความหมายอย่างไรต่อประเทศไทย?

วันที่ 4-6 พฤษภาคมนี้นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเปลี่ยนผ่านรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรเสด็จฯเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหาษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี  นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญอีกเรื่อง คือการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากพ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นไปอย่างเรียบร้อยเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ในความคิดของดิฉัน นี่เป็นสัญญาณแห่งความหวังที่ประเทศไทยจะเกิดช่วงเวลาที่สงบมั่นคง รวมถึงภูมิภาคด้วย นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังได้เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ การเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่ดีขึ้น และการลดมลพิษ  ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียนได้รับรู้ถึงความสำเร็จด้านการพัฒนาของประเทศไทย และเห็นว่าประเทศไทยมีความเป็นผู้นำที่จะทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้รวมตัวกันได้แน่นแฟ้นกว่าเดิม  เหตุการณ์สำคัญทั้งสองเหตุการณ์นี้ สามารถช่วยเร่งให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการกำหนดบทบาท และเจตน์จำนงในการแป่งปันประสบการณ์การพัฒนาของตัวเอง รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคใหม่ได้



Api
Api