Skip to Main Navigation
publicationวันที่ 14 ธันวาคม 2566

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ธันวาคม 2566 เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย - บทบาทของการกำหนดราคาคาร์บอน

The World Bank

ดาวน์โหลดรายงาน
ดาวน์โหลดบทสรุปผู้บริหารภาษา [อังกฤษ]
ดาวน์โหลดบทสรุปผู้บริหาร [ภาษาไทย]

ข้อค้นพบที่สำคัญ

  • ในปี พ.ศ. 2566 การเติบโตคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.6 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 2.5 ในปี 2566 โดยการปรับลดดังกล่าวมีสาเหตุมาจากผลการดำเนินเศรษฐกิจที่อ่อนแอในไตรมาสที่สาม ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมทุนที่ลดลงอย่างมากและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการส่งออกสินค้าหดตัว
  • ในปี พ.ศ. 2567 และพ.ศ. 2568 การเติบโตคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากประมาณร้อยละ 2.5 ในปี พ.ศ. 2566 เป็นร้อยละ 3.2 และ 3.1 ตามลำดับ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่มั่นคงคาดว่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเติบโต
  • การส่งออกสินค้าในปีพ.ศ. 2567 คาดว่าจะฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ไว้ และภาวะการเงินโลกที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวก็ตาม
  • การกลับมาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากประเทศจีน ส่งผลต่อแนวโน้มการท่องเที่ยว แม้ว่าการฟื้นตัวจะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกก็ตาม ในปี พ.ศ. 2567 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของระดับก่อนการแพร่ระบาดในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 28.3 ล้านคนในปี พ.ศ. 2566
  • หากมีการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (5 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 ของ GDP) ในเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มสูงกว่าการคาดการณ์พื้นฐานอีกร้อยละ 0.5-1.0 ในช่วงระยะเวลา 2 ปี และการขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 – 5 ของ GDP ใกล้ระดับเฉลี่ยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563-2565 หนี้สาธารณะอาจสูงขึ้นเป็นร้อยละ 65-66 ของ GDP ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 62.14 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดโควิด 21 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนี้สาธารณะอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่มีความยั่งยืน เนื่องจากหนี้ต่างประเทศที่ลดลงและการจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ
  • ในปี 2565 คาดว่าความยากจนจะลดลงเนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การบริโภคต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ระหว่างปี 2564 ถึง 2565 จากการที่ครัวเรือนมีรายได้และการบริโภคที่เพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราความยากจนที่เส้น 6.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะลดลงเหลือร้อยละ 11 ในปี 2565 จากร้อยละ 12.2 ในปี 2564
  • ในระยะกลาง ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือทางสังคมและการโอนเงินช่วยเหลือที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อจัดการกับสวัสดิการและการบรรเทาความยากจนอย่างมีประสิทธิผล ประเทศไทยยังสามารถดำเนินการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้จ่ายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธรณสุขและการศึกษา สุดท้ายนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ในการเพิ่มรายได้จากภาษีและรักษาความยั่งยืนทางการคลัง ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อแรงกดดันด้านการใช้จ่ายภาครัฐและความต้องการด้านการลงทุนได้

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นและราคาน้ำมันที่สูงอาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูง ส่วนหนึ่งของรายงานซึ่งมุ่งเน้นไปที่เส้นทางสู่ความเป็นกลางคาร์บอนของประเทศไทย กล่าวว่า การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

  • ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยได้มีการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประเทศไทยกำลังดำเนินการขั้นแรกเพื่อใช้การกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุม หรือ ทำให้เกิดต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไม่สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • การกำหนดราคาคาร์บอนเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การกำหนดราคาคาร์บอนสองรูปแบบหลักคือ ภาษีคาร์บอน และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems - ETS) พร้อมด้วยนโยบายเสริมอื่น ๆ และการยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล สามารถใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
  • ราคาคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยลดแรงกดดันทางการเงินต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในปี พ.ศ. 2562 ความเสียหายด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสอนุภาค PM2.5 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 32,211 ราย จากมลพิษทางอากาศโดยรอบ และอีก 7,449 ราย จากมลพิษทางอากาศในครัวเรือน ในแง่เศรษฐกิจ การเสียชีวิตเหล่านี้ส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินประมาณ 32,841 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 6 ของ GDP การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยานพาหนะ การดำเนินการราคาคาร์บอนอาจลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องได้
  • แบบจำลองของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการกำหนดราคาคาร์บอนได้มากขึ้น เพื่อป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ราคาคาร์บอนเล็กน้อยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปี พ.ศ. 2573 นั้น จะไม่เพียงพอสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากได้ ทั้งนี้ มาตรการเพิ่มเติม เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของ EV หรือการฝึกอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จึงจำเป็นเพื่อเร่งการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้