ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่แม้มีแรงกดดันจากราคาอาหารและน้ำมันที่สูงขึ้น

วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554




กรุงเทพฯ 5 เมษายน 2554 – นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถเติบโตได้ในปีนี้ และจะเติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่เคยเป็นก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจโลกจะเกิด  แม้จะยังได้รับแรงกดดันสูงจากสถานการณ์ด้านราคาน้ำมันโลกก็ตาม  อย่างไรก็ดีธนาคารโลกยังเตือนด้วยว่าความเสี่ยงต่อแนวโน้มด้านเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ในรายงาน ตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนเมษายน 2554   ธนาคารโลกชี้ว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นการเจริญเติบโตบนพื้นฐานของความต้องการทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ   มิใช่แค่จากการส่งออกเป็นหลักเช่นในอดีต   ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมานั้น การบริโภคในประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในขณะที่การส่งออกก็ยังไปได้ดีแม้เศรษฐกิจโลกจะยังมีความผันผวนสูง   ถึงแม้ว่าความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านราคาอาหารและน้ำมันของโลกจะยังไม่จางหายไปในปี 2554  แต่ธนาคารโลกก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถต้านแรงกดดันเหล่านี้ได้และเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ด้วยเหตุนี้เอง ธนาคารโลกจึงปรับประมาณการด้านเศรษฐกิจสำหรับปี 2554 เสียใหม่  โดยให้ตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของไทยขยับขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 3.7  จากที่เคยคาดไว้เมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะเป็นร้อยละ 3.2  อัตราดังกล่าวแม้จะต่ำกว่าร้อยละ 7.8 ในปี 2553  แต่ก็เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยโดยเฉลี่ยก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินโลกจะอุบัติขึ้นในปี 2551   ทั้งนี้ธนาคารโลกระบุว่า  แนวโน้มด้านเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก  ขณะเดียวกัน  การที่ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงนั้นก็จะช่วยให้รายได้ของชาวไร่ชาวนาเพิ่มขึ้น  อันจะมีส่วนผลักดันอุปสงค์สำหรับการอุปโภคบริโภคในประเทศให้ขยายตัวต่อไป

อย่างไรก็ตาม  ธนาคารโลกยังเชื่อว่าความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคตก็ยังมีค่อนข้างสูง  เพราะมีปัจจัยภายนอกอีกมากมายที่อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาอันใกล้  ไม่ว่าจะเป็นการที่ราคาน้ำมันโลกอาจพุ่งสูงขึ้นอีกหากสถานการณ์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือทวีความรุนแรงขึ้น  ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อหนี้สาธารณะของยุโรปและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกา  รวมทั้งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์โลกอันเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นายเฟรดเดริโก้ จิล แซนเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำประเทศไทยและผู้เขียนหลักของรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย เมษายน 2554 กล่าวว่า การควบคุมราคาน้ำมันดีเซลและการที่มูลค่าสินค้าส่งออกของไทยถีบตัวสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโลกนั้น  ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะที่ราคาอาหารและราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปี 2554  ขณะเดียวกัน การที่ราคาสินค้าเกษตรโลกสูงขึ้นก็ยังส่งผลให้การบริโภคโดยครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นตามรายได้ภาคเกษตรที่สูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี   ธนาคารโลกระบุว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะส่งผลโดยตรงต่อประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุดของประเทศ  คือประชากรที่มีรายได้น้อยกว่าเส้นแบ่งความยากจนหรือสูงกว่าเพียงเล็กน้อย  นอกจากนี้  การที่ราคาน้ำมันพุ่งขยับขึ้นโดยไม่หยุดยั้งก็จะก่อความเสียหายต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในท้ายที่สุด 

“การที่ราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2551 ส่งผลให้อัตราความยากจนของไทยในปีดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา  นี่แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ชาวไร่ชาวนาจะได้ประโยชน์จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น  แต่ภาวะดังกล่าวจะทำร้ายประชากรที่ยากจนที่สุดของประเทศ”  นายเฟรดเดริโก้กล่าว “ถ้าราคาน้ำมันยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ  แม้แต่ชาวนาเองก็จะได้รับความเดือดร้อนจากการขึ้นราคาของสินค้าต่าง ๆ ตามราคาน้ำมัน  ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหรือสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่น ๆ”

ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับใหม่ซึ่งมีกำหนดตีพิมพ์เผยแพร่กลางเดือนเมษายนนี้   ธนาคารโลกได้เสนอแนะนโยบายสำหรับรับมือกับปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  ในระยะสั้น  ธนาคารโลกแนะนำว่าวิธีที่จะช่วยใช้รัฐสามารถนำงบประมาณซึ่งมีอยู่จำกัดไปใช้กับโครงการช่วยเหลือประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุดโดยตรง  น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าการอุดหนุนราคาน้ำมันซึ่งต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ขณะเดียวกัน  การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความสมดุลย์ระหว่างการลดแรงเสียดทานจากภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอยู่ในขั้นฟื้นตัวด้วย 

สำหรับในระยะยาว  การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (energy efficiency) และลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศจะช่วยให้ไทยสามารถบริหารความเสี่ยงจากวิกฤติราคาน้ำมันโลกที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้  นอกจากนี้  ในขณะที่จำนวนประชากรโลกมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน  แต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกลับทำให้ความมั่นคงทางอาหารของโลกต้องลดลงเรื่อย ๆ   การลงทุนในภาคเกษตรกรรมเพื่อพัฒนาการผลิตอาหารให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอแม้ในสภาพอากาศที่ผันผวนจะช่วยให้ไทยสามารถลดความเสี่ยงของตนเองจากการขาดแคลนอาหารในอนาคตได้

“ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองในรอบสามปีที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤติด้านราคาอาหาร  นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเชื่อว่าภาวะการณ์ดังกล่าวคงไม่ใช่ภาวะที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวแน่ ๆ” นายเฟรดเดริโก้กล่าว “ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์โลกจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง  การผลิตอาหารให้มากขึ้นและสม่ำเสมอยิ่งขึ้นจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถบริหารความเสี่ยงของตนต่อวิกฤติราคาอาหารโลกที่อาจเกิดขึ้นอีกได้”

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพฯ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org
ใน วอชิงตัน ดีซี
โมฮัมหมัด อัล อารีฟ
โทร: (+1-202) 458-5964
malarief@worldbank.org



Api
Api

Welcome