ข่าวประชาสัมพันธ์

แนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังสดใส ธนาคารโลกแนะจีนเน้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553




กรุงปักกิ่ง 3 พ.ย. 2553 – รายงานวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจจีนรายไตรมาสฉบับล่าสุดที่ธนาคารโลกนำออกเผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า   แม้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงบ้าง และองค์ประกอบที่สนับสนุนการเจริญเติบโตก็เริ่มเปลี่ยนไป   แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งอยู่

รายงาน China Quarterly Update ฉบับล่าสุดที่ธนาคารโลกจัดทำเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจจีนระบุว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของจีนนั้นลดลงจากร้อยละ 10.6 ในช่วงครึ่งปีแรก มาอยู่ที่ร้อยละ 9.6 ในช่วงไตรมาสที่สาม (เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว) ซึ่งนับว่าเป็นระดับการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างน่าประหลาดใจ  

เศรษฐกิจภายในประเทศจีนชะลอตัวลงเพราะว่าอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มแผ่วในขณะที่ทางการจีนเริ่มหวนกลับไปดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะที่เคยเป็นก่อนวิกฤติการณืทางเศรษฐกิจโลกจะปะทุขึ้น ส่วนอัตราการเติบโตของการลงทุน การบริโภคโดยประชากรในเขตเมือง และการนำเข้านั้นต่างก็ชะลอลง ขณะเดียวกัน  ด้วยเหตุที่ภาคส่งออกยังเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง การค้าขายระหว่างประเทศสุทธิจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต และการเกินดุลการค้าก็เริ่มพุ่งตัวขึ้นอีกครั้ง

รายงานฉบับนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ความแข็งแกร่งของตลาดเกิดใหม่ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นจะชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่เศรษฐกิจของประเทศร่ำรวยยังอยู่ในภาวะเปราะบาง แรงกดดันที่มีต่อราคาสินค้าโลกนั้นยังไม่สูงนักเนื่องจากหลายประเทศในโลกยังมีกำลังการผลิตสำรองอยู่ ส่วนราคาวัตถุดิบนั้นก็ได้พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก

รายงานฉบับดังกล่าวยังประเมินด้วยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแกร่งแม้จะมีความเสี่ยงจากทั้งสองด้าน “การเติบโตของจีนอาจจะชะลอตัวลงอีกต่อไปเล็กน้อยในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังซบเซาอยู่ และในขณะที่ทางการจีนเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมหภาค แต่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงได้รับแรงส่งจากแรงขับเคลื่อนหลักๆตามปกติ พร้อมกับตลาดแรงงานที่สดใส” นายหลุยส์ เกาซ์
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและผู้เขียนหลัก
ของรายงานฉบับนี้กล่าว

“เราปรับการพยากรณ์อัตราการเติบโตของจีนสำหรับปีพ.ศ.2553 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลของไตรมาสที่สาม เราประเมินอัตราการเติบโตของปี 2554 ไว้ที่ร้อยละ 8.7 และคาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงอีกในระยะกลาง”

ด้วยแรงกดดันจากราคาอาหารที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของจีนน่าจะอยู่ในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 3 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ไม่น่าจะเร่งตัวไปเกินกว่าระดับนั้นเนื่องจากทางการจีนสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะถีบตัวขึ้นสูงอีกก็ได้ในขณะที่ค่าแรงไม่น่าจะพุ่งสูงขึ้นไปได้กว่านี้ แม้ปัจจัยด้านค่าแรงยังไม่อาจตัดออกไปได้อย่างสิ้นเชิง และจากการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจหลัก ราคาในภาคนี้ไม่น่าจะทรงตัวในระดับเดิมไปได้อีกนาน ในด้านแนวโน้มและนโยบาย คาดว่าการเกินดุลการค้ากับต่างประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2554 และในระยะกลาง เมื่อคำนวณเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ 

“จีนยังคงต้องดำเนินการปรับจุดยืนด้านเศรษฐกิจมหภาคให้เต่อเนื่องเพื่อเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงในเชิงมหภาค” นายอาร์โด แฮนซัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสสำหรับประเทศจีนของธนาคารโลกกล่าว “ข้อกังวลหลักๆคือเรื่องที่ราคาสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ถีบตัวสูงขึ้น สร้างข้อจำกัดให้กับแหล่งเงินทุนท้องถิ่นและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะที่เรายังไม่สามารถตัดประเด็นเรื่องความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อออกไปได้ ดังนั้นการเตรียมรับมือกับเรื่องความเสี่ยงทั้งสองด้านต้องอาศัยความยืดหยุ่นของนโยบาย”

ในภาพรวมแล้วทางการจีนดำเนินการปรับจุดยืนทางการเงิน โดยดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายในเชิงปริมาณของปี 2553 นอกจากนี้ทางการจีนยังได้เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น แม้ว่ายังคงต้องปรับให้สูงขึ้นไปกว่านี้อีกมาก สภาพคล่องระหว่างประเทศก็ยังคงเป็นปัญหาท้าทายสำหรับนโยบายทางการเงิน แต่ยังนับว่าเป็นปัจจัยที่จีนมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการได้ดีกว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่อีกหลายประเทศ อย่างไรก็ตามจีนยังคงสามารถที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนที่ไม่พึงปรารถนา

รายงานฉบับนี้เสนอว่า ในระหว่างที่จีนกำลังเตรียมจัดทำแผนพัฒนาห้าปีฉบับที่สิบสอง (พ.ศ. 2553-2558) จีนควรจะเน้นในประเด็นด้านโครงสร้างและการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการเจริญเติบโตน่าจะเป็นเป้าหมายหลักที่เหมาะสม ปัจจุบันจีนมีความจำเป็นยิ่งกว่าเมื่อห้าปีที่แล้วในการที่จะต้องปรับสมดุลเศรษฐกิจ ให้เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก และเน้นการเติบโตในภาคบริการ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสภาพแวดล้อมในเวทีเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป การปรับสมดุลจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่จะต้องอาศัยการปรับตัวด้านนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ

รายงานสภาวะเศรษฐกิจจีนฉบับล่าสุดนี้ยังได้พูดถึงนโยบายที่จะช่วยเร่งพัฒนาภาคเอกชน โดยเน้นที่การเปิดเสรีภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้นและลดการกีดกันต่างๆ การเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน และการส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (research and development) ในภาคเอกชน การที่จีนจะก้าวหน้าได้ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียนต้องอาศัยการปรับสมดุลแบบแผนการเจริญเติบโต การปฏิรูปนโยบายกำหนดราคาพลังงาน กลไกที่อิงตลาดมากขึ้น การทำให้พลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลง และการเร่งพัฒนากับขยายผลเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2011/163/EAP

Api
Api

Welcome