ข่าวประชาสัมพันธ์

รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเซียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลกระบุว่าการไหลเข้าของเงินทุนจำนวนมากก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ๆเชิงนโยบาย

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553



โตเกียว 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553 – รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุดซึ่งธนาคารโลกนำออกเผยแพร่ ในวันนี้ระบุว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคได้ฟื้นตัวแล้วอย่างเข้มแข็ง แต่ในปัจจุบัน ผู้รับผิดชอบด้านนโยบายจำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งอาจสั่นคลอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคได้

ทั้งนี้ รายงาน East Asia and Pacific Update ฉบับเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งมีชื่อรองว่า Robust Recovery, Rising Risks (หมายถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในยามที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว) ได้ระบุว่า ในประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศของภาคพื้นนี้ ผลผลิตหรือ output ได้ฟื้นตัวจนอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤติและเริ่มขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติในบางประเทศ ธนาคารโลกคาดว่าการเติบโตของ Real GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงของภูมิภาคนี้โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 8.9 ในปี 2553 (ร้อยละ 6.7 หากไม่รวมจีน) อันเป็นอัตราที่สอดคล้องกับการเติบโตในช่วงปี พ.ศ. 2543 – 2551 รวมทั้งสูงกว่าร้อยละ 7.3 ในปี พ.ศ. 2552 เป็นที่น่ายินดีว่าในปัจจุบันนี้ภาคเอกชนเริ่มกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอีกครั้ง นอกจากนี้ ความมั่นใจของผู้บริโภคในบางประเทศก็เริ่มจะกลับคืนมา และการค้าระหว่างประเทศเริ่มจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับที่เป็นก่อนวิกฤติด้วย

กระนั้นก็ตาม ความมั่นใจในแนวโน้มที่เป็นบวกของเศรษฐกิจในภูมิภาค และความกังวลเกี่ยวกับการที่เศรษฐกิจของประเทศร่ำรวยต่างๆ ยังเติบโตได้อย่างเชื่องช้า ทำให้มีความจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายจะต้องหาจุดยืนที่สมดุลระหว่างการที่เงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคอีกและค่าเงินที่สูงขึ้น

การที่โลกมีสภาพคล่องสูงแต่ผลตอบแทนในประเทศร่ำรวยค่อนข้างต่ำ ผนวกกับความคาดหวังของนักลงทุนว่าภูมิภาคนี้จะมีการเติบโตที่เข้มแข็งกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ปริมาณเงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ ทำให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่นในหลายประเทศสูงขึ้นอย่างยิ่งแม้จะมีความพยายามที่จะแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ แล้วก็ตาม นอกจากนี้เงินทุนไหลเข้ายังมีผลให้ราคาสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันยังไม่มีธนาคารกลางของประเทศใดนำมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาใช้

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายวิกรม เนห์รู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า “หากยังมีเงินทุนไหลเข้าในปริมาณมากต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังค่อนข้างอ่อนแออยู่ ทางการจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินที่ได้จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ กับการสร้างหลักประกันให้แก่ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพในภาคการเงินและภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ต่ำ”

เมื่อสภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคมีความเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว รัฐบาลของประเทศเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่จึงเริ่มผ่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ธนาคารโลกคาดว่า การขาดดุลการคลังจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤติไปอย่างน้อยก็อีกระยะหนึ่ง ในระหว่างที่รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามแก้ไขปัญหาช่องว่างทางโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรักษาความเข้มแข็งของโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม เพื่อปกป้องประชากรผู้ยากไร้ อันเป็นการปกป้องเขาเหล่านั้นจากการที่เศรษฐกิจประเทศที่เจริญแล้วยังตกต่ำอยู่

หลายประเทศในภูมิภาคเริ่มหันมาใส่ใจกับการแก้ปัญหาที่บั่นทอนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางของตนให้มากขึ้น สำหรับประเทศจีน การสร้างดุลยภาพให้แก่เศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศให้มากขึ้นกลายเป็นเรื่องจำเป็นหากรัฐบาลจีนต้องการให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น มองโกเลีย ติมอร์-เลสเต ปาปัวนิวกินี และสปป. ลาวจะต้องสร้างหลักประกันว่ารายได้ที่มาจากการนำทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไปใช้นั้นจะถูกนำไปจัดสรรอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาสูงสุด ส่วนบรรดาประเทศรายได้ปานกลางในภูมิภาค (ยกเว้นจีน) เช่นไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนทั้งที่เป็นทุนทางกายภาพและทุนมนุษย์และสนับสนุนนวัตกรรมด้วยหากต้องการที่จะเพิ่มรายได้ประชาชาติให้สูงขึ้นในอนาคต

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน ดีซี
ชิซาโกะ ฟูกูดะ
โทร: +1 (202) 473-9424
cfukuda@worldbank.org
ใน กรุงเทพฯ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: 02 686-8300
bsangarun@worldbank.org


Api
Api

Welcome