ข่าวประชาสัมพันธ์

เม็กซิโกและธนาคารโลกขยายความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553



เม็กซิโก ซิตี้ 22 กรกฎาคม 2553 –  หลังจากการเยือนเม็กซิโกอย่างเป็นทางการของนายโรเบิร์ต บี. เซลลิค ประธานกลุ่มธนาคารโลก เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหรัฐเม็กซิโกและธนาคารโลกได้บรรลุข้อตกลงร่วมว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาซึ่งจะช่วยให้สัมพันธภาพของทั้งสองฝ่ายแข็งแกร่งขึ้น 

หลังจากการพบปะเจรจากับประธานาธิบดี ฟิลิเป คาลเดอรอน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเม็กซิโกเพื่อทบทวนความคืบหน้าของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและสังคม การรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ นายเซลลิคได้แถลงถึงการที่เม็กซิโกได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Forest Investment Program (FIP) ซึ่งเป็นกองทุนระดับโลกที่ได้รับเงินสนับสนุนมูลค่า 542 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นกองทุนที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสรรงบประมาณให้แก่ประเทศสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของป่าในประเทศของตน

เม็กซิโกเพิ่งได้รับเลือกจากผู้บริหารโครงการ FIP ให้เป็นหนึ่งใน 8 ประเทศที่จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินก้อนใหญ่จากโครงการดังกล่าว

ปัจจุบันนี้ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างเม็กซิโกและธนาคารโลกได้ก้าวผ่านการกู้ยืมเงินตามปกติเฉกเช่นที่สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศโดยทั่วไปจะมีให้แก่ประเทศสมาชิก มาเป็นกรอบความร่วมมือที่เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากต่างประเทศ   การให้บริการทางวิชาการและคำปรึกษา ตลอดจนการคิดค้นกลไกทางการเงินใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เม็กซิโกสามารถดำเนินโครงการที่จะช่วยบรรเทาความยากจนในประเทศได้อย่างลุล่วง  

กลุ่มธนาคารโลกจะเพิ่มความสนับสนุนแก่โครงการอันเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเม็กซิโกกำลังดำเนินอยู่แล้วอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่เม็กซิโกเตรียมความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 16 (UNFCCC – COP16) ซึ่งจะมีขึ้นที่เมืองแคนคูน

เมื่อกล่าวถึงการประชุมสุดยอดทางสภาพภูมิอากาศดังกล่าว นายเซลลิคได้เรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมมือกันเพื่อให้การประชุมที่แคนคูนประสบความสำเร็จ ในโอกาสนี้ เขาได้แสดงความชื่นชมความเป็นผู้นำของเม็กซิโกในการดำเนินทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวให้เข้ากับผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) และโครงการหรือมาตรการที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก (mitigation) ของประเทศในเวลาเดียวกัน
 
“เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในกลุ่ม G-20  ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และกำลังเป็นผู้นำทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ความสำเร็จของเม็กซิโกจะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคทั้งหมด” นายเซลลิคกล่าว

“เม็กซิโกได้ดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผลที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศในอนาคตมาโดยตลอด ตรงนี้ทำให้รัฐบาลเม็กซิโกมีความโดดเด่นมาก  เราตระหนักและชื่นชมในความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของรัฐบาลในการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้การพัฒนาประเทศนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน แม้ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาภายในต่างๆ อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลกก็ตาม”

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นดังกล่าว นายเซลลิคได้พบปะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเม็กซิโก นายเออร์เนสโต คอร์เดโร (Ernesto Cordero) ก่อนที่จะร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้เพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมสองโครงการซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อเร็วๆ นี้ จุดประสงค์ของทั้งสองโครงการดังกล่าวคือการช่วยให้เม็กซิโกสามารถรับมือกับความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างต่อเนื่อง

ในระหว่างการเยือนเม็กซิโกเป็นเวลาสองวันนั้น นายเซลลิคยังได้เข้าพบรัฐมนตรีพลังงาน จอร์จีนา เคสเซิล รัฐมนตรีต่างประเทศ แพทริเซีย เอสปิโนซา และรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ฮวน ราฟาเอล เอลวิรา เพื่อรับฟังทัศนะของเม็กซิโกเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและความริเริ่มทางด้านพลังงาน

เพื่อให้แน่ใจว่าเขาเข้าใจสถานการณ์ท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เม็กซิโกกำลังเผชิญอยู่จากมุมมองของทุกฝ่าย นายเซลลิคยังได้พบปะกับผู้แทนภาคเอกชน รวมทั้งได้เข้าร่วมสนทนากับนักศึกษาจากสถาบัน Instituto Tecnologico Autonomo de Mexico (ITAM) ในเวทีสาธารณะที่สถาบันจัดขึ้นอีกด้วย

เม็กซิโกและสิ่งแวดล้อมโลก

ความร่วมมือของธนาคารโลกกับเม็กซิโกทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มขึ้นตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90 และก่อให้เกิดโครงการริเริ่มร่วมกันมากกว่า 30 โครงการตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือดังกล่าว ธนาคารโลกได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 450 ล้านเหรียญฯ เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในดำเนินยุทธศาสตร์การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดการทรัพยากรน้ำ ผ่านการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกในการบริหารจัดการ กฎระเบียบรวมทั้งศักยภาพในการติดตามและประเมินผลของการบริหารจัดการแหล่งน้ำแบบบูรณาการ

นอกจากนี้   ธนาคารโลกยังได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 350 ล้านเหรียญฯ เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะของเม็กซิโก ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายการบริการด้วยวิธีการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดรวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย งบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าวรวมถึงเงินกู้ 150 ล้านเหรียญฯ จากธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะฟื้นฟูและพัฒนา (IBRD) และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีก 200 ล้านเหรียญฯจากกองทุนเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology Fund หรือ CTF) เงินกู้ทั้งสองก้อนนี้มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของเม็กซิโกภายใต้โครงการพิเศษเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Special Program – PECC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อช่วยให้เม็กซิโกปฏิบัติตามพันธะสัญญาเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ และการนำประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวางนโยบายพัฒนาของประเทศ

“ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และเป็นอะไรที่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดผลเสียอื่นๆ ตามมา” นายเซลลิค กล่าว “เม็กซิโกได้แสดงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงอย่างชัดเจนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญของความพยายามระดับโลกที่จะต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การยอมรับพันธะสัญญาที่จะลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจนั้นทำให้เม็กซิโกเป็นแบบอย่างของความมุ่งมั่นในด้านนี้ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารโลกมีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามดังกล่าวในเม็กซิโก”

เม็กซิโกเป็นประเทศละตินอเมริกาประเทศแรกที่ได้รับประโยชน์จากกองทุน Clean Investment Fund (CIF) อันเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีเอกลักษณ์พิเศษเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งการพัฒนาที่สร้างความยืดหยุ่นให้แก่ประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกองทุนนี้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ  ผ่านช่องทางการเงินที่หลากหลายยิ่งขึ้น และมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา (African Development Bank)  ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนายุโรป (European Bank for Reconstruction and Development) Inter-American Development Bank รวมทั้งกลุ่มธนาคารโลกเป็นแนวร่วม 

โครงการความช่วยเหลือของกลุ่มธนาคารโลกในเม็กซิโก

เม็กซิโกเป็นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกมากที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาทั้งหมด โดยระหว่างปีงบประมาณ 2553 (1 กรกฎาคม 2552 – 30 มิถุนายน 2553) ธนาคารโลกได้อนุมัติโครงการ 9 โครงการเป็นเงินมูลค่าทั้งสิ้น 6,400 ล้านเหรียญฯ  เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบสาธารณสุข การศึกษา การคมนาคม  พลังงาน   ทรัพยากรน้ำ  และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นหลักในการพัฒนาประเทศ นอกเหนือจากนี้ ในปีงบประมาณ 2553 ธนาคารโลกได้ให้ความสนับสนุนทางการวิเคราะห์และการให้คำปรึกษาทางวิชาการรวม 14 โครงการด้วยกัน

บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กลุ่มธนาคารโลกที่ให้เงินกู้แก่ภาคเอกชนกำลังดำเนินยุทธศาสตร์สำหรับเม็กซิโกที่เน้นการสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการลงทุนโดยตรงในบริษัทและสถาบันการเงินต่างๆ นอกจากนี้  IFC ยังได้สนับสนุนตลาดธุรกิจที่ยังประโยชน์แก่คนยากจนหรือผู้มีรายได้ปานกลาง ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อรายย่อย การเคหะ(สำหรับผู้มีรายได้น้อย)  การให้บริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำและพลังงานทดแทน

เมื่อเร็วๆ นี้ IFC ได้ช่วยจัดหาเงินสนับสนุนจำนวน 375 ล้านเหรียญฯ สำหรับ โครงการ Eurus ในเม็กซิโก ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา (250 เมกกะวัตต์) เงินกู้ผูกพันเพื่อการลงทุนทั้งหมดของ IFC ในเม็กซิโกในปีงบประมาณ 2553 มีทั้งสิ้น 1,400 ล้านเหรียญฯ ซึ่งรวมถึงการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินอื่นด้วย

เม็กซิโกได้รับการจัดสรรเงินทุนจำนวน 500 ล้านเหรียญฯ จากกองทุน CTF  ซึ่งจากเงินจำนวนนี้นอกเหนือจากโครงการพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย IFC อันมีมูลค่า 50 ล้านเหรียญฯ แล้ว 250 ล้านเหรียญฯ จะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงการคมนาคมในเขตเมืองและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งมีธนาคารโลกเป็นผู้ดูแล และอีก 200 ล้านเหรียญฯ จะถูกนำไปใช้สนับสนุนโครงการด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย Inter-American Development Bank

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังเป็นผู้ดูแลการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอีก 9 โครงการ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนแบบให้เปล่าจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) มีมูลค่าทั้งสิ้น 158 ล้านเหรียญฯ และยังได้ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนคาร์บอน (Carbon Fund) เป็นมูลค่า 15.6 ล้านเหรียญฯ อีกด้วย

 

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
เซอร์จิโอ เจลลิเนก
โทร: (+202) 458-2841 มือถือ (+202) 294-6232
sjellinek@worldbank.org
ใน เม็กซิโก
เฟอร์นานดา ซาวาเลตา
โทร: +52 (55) 5480-4252
fzavaleta@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
WB

Api
Api

Welcome