ข่าวประชาสัมพันธ์

แถลงการณ์ของคณะกรรมการร่วมเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553



DEVELOPMENT COMMITTEE COMMUNIQUÉ

 

คณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Development Committee ได้ร่วมประชุมกันในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553  ณ กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา    สาระสำคัญของการประชุมมีดังต่อไปนี้

ในขณะที่โลกกำลังค่อย ๆ ฟื้นจากสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจซึ่งจัดว่ารุนแรงที่สุดในหลายทศวรรษนี้ เศรษฐกิจโลกก็ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่มาก  นอกจากนั้น  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในโลกก็ยังไม่เสมอภาคกัน วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ทำให้ความพยายามของโลกที่จะบรรเทาปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่องต้องชะงักงัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรผู้ยากไร้เป็นระยะเวลาอันยาวนาน    เมื่อพิจารณาว่า   เราเหลือเวลาอีกแค่ห้าปีเท่านั้นที่จะดำเนินการต่างๆ เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ที่วางไว้ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเร่งหาวิธีช่วยเหลือประชากรผู้ยากจนของโลก ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางหรือประเทศรายได้ต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่อยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกา    คณะกรรมการร่วมฯ มีความยินดีที่กลุ่มธนาคารโลกสามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้หามาตรการมาตอบรับกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็วและด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการที่บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) สามารถรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา หรือการที่ทั้งกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้เพิ่มวงเงินช่วยเหลือประเทศสมาชิกในระหว่างที่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจยังดำเนินอยู่ต่อไปเป็นจำนวนสูงถึงหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นห้าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ  

วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างนานาประเทศและการมีสถาบันเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ ในฐานะที่กลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศนั้นเป็นสถาบันที่มีสมาชิกภาพครอบคลุมทุกๆ ทวีปและมีอำนาจหน้าที่ทั่วโลก  สถาบันทั้งสองจึงจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการต่างๆ ที่ต้องอาศัยความเห็นชอบร่วมกันของหลายฝ่าย  

คณะกรรมการร่วมฯ ได้รับรู้ร่วมกันว่า ปัจจุบันนี้กำลังมีการพิจารณาปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งปรับเปลี่ยนบทบาทของกองทุนฯ ในการสอดส่องดูแลการเงินระหว่างประเทศ การให้กู้แก่ประเทศที่ประสบปัญหาด้านดุลชำระเงิน และการรังสรรค์เสถียรภาพของระบบการเงินโลกด้วย

คณะกรรมการร่วมฯ ตระหนักดีถึงลักษณะทางประวัติศาสตร์ของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ เราจึงสนับสนุนข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างของกลุ่มธนาคารโลกอย่างเต็มที่  และเห็นด้วยกับการวางทิศทางของโลกหลังวิกฤติเศรษฐกิจ (ให้เป็นโลกที่สมดุลย์มากขึ้น) การปฏิรูปโครงสร้างของกลุ่มธนาคารโลกนั้นจะทำให้สถาบันเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีแห่งนี้มีศักยภาพที่จะตอบสนองต่อความท้าทายด้านการพัฒนาของโลกในศตวรรษที่ 21 และดำเนินการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการบรรเทาความยากจน (ซึ่งเป็นฉันทานุมัติในการจัดตั้งกลุ่มธนาคารโลก) ได้ดียิ่งขึ้น เพราะมันจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการรับผิดชอบต่อผู้อื่นของกลุ่มธนาคารโลก ความชอบธรรมของเราจะมาจากการเปิดโอกาสให้สมาชิกประเทศมีสิทธิ์และเสียงที่เสมอภาคกันยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรากำลังดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของศักยภาพทางการเงินของธนาคารโลก แนวทางเหล่านี้เป็นแนวทางที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของสถาบันและได้รับการบันทึกไว้ในรายงานที่ชื่อว่า New World, New World Bank Group การทำให้แนวทางเหล่านี้สัมฤทธิ์ผลขึ้นได้เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น คณะกรรมการฯ มีความยินดีที่จะร่วมพิจารณาความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าวในระหว่างการประชุมครั้งหน้า รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารของทั้งสองสถาบันว่าด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธรรมาภิบายภายในและการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้อื่น ซึ่งจะยื่นต่อคณะกรรมการร่วมฯ ในระหว่างการประชุมประจำปีของกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศปลายปีนี้

สอดคล้องกับข้อตกลงที่เราได้ร่วมทำไว้ในระหว่างการประชุมประจำปีของกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่นครอิสตันบุล ประเทศตุรกี เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการร่วมฯ สนับสนุนข้อเสนอที่จะเพิ่มอำนาจในการลงคะแนนเสียงของสมาชิกของธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศซึ่งมีสถานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้เป็นร้อยละ 47.19 หรือเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3.13 จุด ซึ่งหากได้รับการอนุมัติแล้วจะทำให้อำนาจในการลงคะแนนเสียงของประเทศกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นร้อยละ 4.59 จุดนับตั้งแต่พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารของกลุ่มธนาคารโลกครั้งนี้จะดำเนินไปพร้อมๆ กับการเพิ่มทุนแบบจำเพาะเจาะจงซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 27,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว 1,600 ล้านเหรียญฯ ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นของกลุ่มธนาคารโลกในปี 2558 คณะกรรมการฯ มีความมุ่งมั่นที่จะจัดวางกรอบและตารางการดำเนินงานที่จะทำให้ได้มาซึ่งสูตรที่สามารถยอมรับได้และใช้เป็นมาตรฐานในการปรับปรุงโครงสร้างของกลุ่มธนาคารโลกให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น เพื่อให้ประโยชน์ของประเทศสมาชิกซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดและมีฐานะยากจนกว่าประเทศอื่นๆ ได้รับการปกป้องมากขึ้น ดังที่เราได้ให้ปฏิญญาไว้ในอิสตันบุลเมื่อปีที่แล้ว เราขอยืนยันอีกครั้งว่า เราเล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการคัดเลือกประธานกลุ่มธนาคารโลกคนใหม่ที่เป็นไปอย่างเปิดเผย สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งเป็นกระบวนการที่พิจารณาตามคุณสมบัติอันเหมาะสมของผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ เราจะมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมคุณสมบัติอันหลากหลายของพนักงานให้สอดคล้องกับการที่กลุ่มธนาคารโลกเป็นสถาบันสำหรับคนทั้งโลก

สำหรับก้าวแรกของการปฏิรูปโครงสร้างของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ เราได้ให้ความเห็นชอบแก่การเพิ่มอำนาจในการลงคะแนนเสียงขั้นพื้นฐานของสมาชิก และการเพิ่มทุนแบบจำเพาะเจาะจงเป็นมูลค่าทั้งสิ้นสองร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะทำให้อำนาจในการลงคะแนนเสียงของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 6.07 จุด อันจะทำให้อำนาจในการลงคะแนนเสียงของประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39.48  และจะสอดคล้องมากขึ้นกับภาวะที่กำลังดำเนินอยู่ในธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (ซึ่งเป็นสถาบันภายใต้กลุ่มธนาคารโลกที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา) 

กลุ่มธนาคารโลกจำเป็นที่จะต้องมีสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศเพื่อการเพิ่มทุนแบบทั่วไป เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 58,400 ล้านเหรียญฯ ซึ่งร้อยละ 6 หรือ 3,500 ล้านเหรียญฯ จะเป็นทุนที่ชำระแล้ว ดังที่ได้ลงรายละเอียดไว้ในรายงาน Review of IBRD and IFC Financial Capacities และเรายังให้ความเห็นชอบแก่การดำเนินงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  ดังที่ได้มีการรวบรวมไว้ในรายงานชื่อ  ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการชำระเงินกู้ อันเป็นหัวข้อหนึ่งของการปรึกษาหารือระหว่างการพิจารณาสถานะทางการเงินของกลุ่มธนาคารโลกในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ เราตระหนักดีถึงความสำคัญของการทำให้การเพิ่มทุนแบบทั่วไปของกลุ่มธนาคารโลกเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รวมทั้งการเพิ่มคุณค่าของความช่วยเหลือที่กลุ่มธนาคารโลกจะให้แก่ประเทศสมาชิกผ่านสมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) เรายืนยันว่าเราสนับสนุนการบริจาคเงินสมทบเพื่อการช่วยเหลือประเทศรายได้น้อยครั้งที่ 16 หรือที่เรียกว่า IDA-16 ที่เป็นไปอย่างยุติธรรมและกระจายภาระให้แก่สมาชิกประเทศอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ เรายังยืนยันอีกครั้งว่า เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้บรรษัทการเงินระหว่างประเทศมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราจึงให้ความเห็นชอบแก่แผนการส่งเสริมศักยภาพทางการเงินของบรรษัทฯ ซึ่งรวมไปถึงการหาเครื่องมือระยะยาวแบบผสมผสานให้ผู้ถือหุ้นได้เลือก   ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารในโอกาสต่อไป        

เราขอเรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารของทั้งสองสถาบัน และคณะผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธนาคารโลก เร่งหาวิธีที่จะทำให้ข้อเสนอที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการเพื่อปฏิรูปโครงสร้างว่าด้วยสิทธิ์และเสียงของสมาชิกกลุ่มธนาคารโลกให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น รวมทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการเพิ่มทุนนั้นเสร็จสมบูรณ์ สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ว่าการ (Boards of Governors) ของทั้งธนาคารโลกและบรรษัทการเงินระหว่างประเทศได้ภายในเดือนมิถุนายน ศกนี้

ในโอกาสนี้ เราขอขอบคุณนายคิโยชิ โกเดระ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเลขาธิการของคณะกรรมการร่วมกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ จะทำการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 10 ตุลาคม 2553 ณ กรุงวอชิงตันดีซี

 

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
WB/IMF

Api
Api

Welcome