ข่าวประชาสัมพันธ์

เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปจะฟื้นตัวในปี 2553 และ 2554

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553



รายงานเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EU10” ของธนาคารโลก กล่าวว่า ในกลุ่มประเทศ EU10 จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติ นอกจากนี้ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นยังจะส่งผลให้ครัวเรือนในหลายๆ ประเทศประสบปัญหา

กรุงวอร์ซอ 1 เมษายน 2553 – มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกล่าสุดของสหภาพยุโรป อันได้แก่ กลุ่มประเทศ EU10 จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2553 และ 2554 อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตที่จะเกิดขึ้นมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าอัตราการเติบโตก่อนเกิดวิกฤติ  รายงานเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EU10 ล่าสุดของธนาคารโลกที่เผยแพร่ในวันนี้ ณ กรุงวอร์ซอ รายงานว่าหลังจากที่มีการหดตัวทางเศรษฐกิจลงร้อยละ 3.6 ในปี 2552 นั้น รัฐบาลของกลุ่มประเทศ EU10 ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย กล่าวคือ ร้อยละ 1.6 ในปี 2553 และร้อยละ 3.6 ในปี 2554  ในขณะที่มีการวางแผนให้ภาคพื้น EU10 เติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าภาคพื้น EU15 ในปี 2553 และ 2554 นั้น หากแต่การฟื้นตัวก็ยังคงเป็นไปอย่างไม่มากนัก เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตก่อนเกิดวิกฤติ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องใช้เวลาจนถึงครึ่งปีหลังของปี 2554 ก่อนที่ผลการเติบโตจะกลับมามีอัตราเท่ากับระดับการเติบโตก่อนเกิดวิกฤติ

การที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคพื้น EU10 จากอัตราร้อยละ -4.6 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 จนลดลงเป็นร้อยละ -2.1 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของภาคพื้น EU15 จากร้อยละ -5.7 เป็นร้อยละ -2.0 ในช่วงเวลาเดียวกัน จากตัวชี้วัดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพื้น EU10 มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2553 มูลค่าการค้าในทวีปยุโรปยังคงมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ เนื่องมาจากความต้องการสินค้าคงทนและเครื่องมือประเภททุนยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมองในภาพรวมจะพบว่า การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงินที่กลับคืนมา อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ตลอดจนการใช้จ่ายกองทุนของสหภาพยุโรปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะสามารถส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวที่รวดเร็วขึ้นได้ในภาคพื้น EU10  อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 การฟื้นตัวจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ก้าวย่างในการฟื้นตัวในภูมิภาคต่างๆ นั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสถานะเบื้องต้น ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก รวมทั้งการตอบสนองเชิงนโยบายที่แตกต่างกัน ตามแผนการที่กำหนดไว้นั้น ประเทศโปแลนด์ สโลวาเกีย ลิธัวเนีย โรมาเนีย และสาธารณรัฐเช็ค จะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวในปี 2553 ในขณะเดียวกัน ก็มีการคาดการณ์ว่า ประเทศลิธัวเนีย เอสโตเนีย และลัตเวีย จะมีการพัฒนาการด้านอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในช่วงปี 2552 ถึง 2553 โดยจะมีอัตราการเติบโตอยู่ในระหว่างร้อยละ 13 ถึง 17 จุด แต่อย่างไรก็ดี คงต้องรอถึงปี 2554 ประเทศกลุ่ม EU10 จึงจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังดำเนินไปอยู่นั้น ภาพรวมของภูมิภาค EU10 ก็ยังคงมีความไม่แน่นอน การว่างงานยังคงเพิ่มสูงขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าจะลดลงเมื่อถึงปี 2554 เท่านั้นนายแคสเปอร์ ริทเชอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง และผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้ กล่าว “เมื่อพิจารณาการฟื้นตัวที่ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะพบว่า มีแนวโน้มที่บริษัทต่างๆ จะเลื่อนการจ้างพนักงานใหม่ออกไปจนกว่าจะมีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีความมั่นคงมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจหลายๆ หน่วยงานได้ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อพนักงานต่อคนลงในช่วงที่เกิดวิกฤติ นอกจากนี้  รัฐบาลของบางประเทศในกลุ่ม EU10 ซึ่งรวมถึงบัลแกเรีย สาธารณรัฐเช็ค โรมาเนีย และสโสวาเกีย ที่ได้เริ่มมีการสร้างเสถียรภาพด้านการคลัง ทังนี้ เนื่องมาจากความกดดันด้านงบประมาณและความต้องการในการปรับปรุงให้การบริหารงานสาธารณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การว่างงานในประเทศ EU10 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 6.5 เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 เป็นร้อยละ 9.5 ในเดือนมกราคม 2553 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานจาก 2,900,000 คน เป็น 4,600,000 คน รัฐบาลของทุกประเทศในกลุ่ม EU10 ทั้งหมด ยกเว้นโรมาเนีย ได้คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานในปี 2553 นี้จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อปี 2552

ในรายงานเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EU10 รายงานว่า ประชากรเพศชายและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แรงงานที่มีวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานและประสบการณ์การทำงานไม่มากนักน่าจะยังคงมีโอกาสในตลาดอาชีพไม่มากนักในช่วงระยะเวลานับจากนี้ อัตราการว่างงานในกลุ่มผู้หางานที่มีอายุอยู่ในช่วง 15-24 ปี เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 8 จุด ระหว่างเดือนมิถุนายน 2551 จนถึงเดือนมกราคม 2553 เมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานโดยรวมซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จุด และเนื่องมาจากการที่วิกฤติเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตอย่างรุนแรงที่สุด ด้วยเหตุนี้ การสูญเสียงานจึงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประชากรเพศชาย ในเดือนมกราคม 2553 กลุ่มประชากรเพศชายมีอัตราการว่างงานสูงกว่าเพศหญิง ในกลุ่มประเทศ EU10 ทุกประเทศ โดยมีอัตราความแตกต่างสูงที่สุดในประเทศเอสโทเนีย ลิธัวเนีย และลัตเวีย

อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศในภูมิภาคก็มีความแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 จนกระทั่งเดือนมกราคม 2553 นั้น อัตราการว่างงานได้เพิ่มสูงขึ้นราวร้อยละ 6 จุด ในประเทศลัตเวีย ประมาณร้อยละ 10 ในเอสโทเนียและลิทัวเนีย และต่ำกว่าร้อยละ 4 จุดในสโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ค ฮังการี สโลวาเนีย บัลแกเรีย โปแลนด์ และโรมาเนีย

กลุ่มประเทศ EU10 จำเป็นจะต้องดำเนินการเพื่อให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างมั่นคงมากที่สุด โดยการจัดทำงบการเงินรวม ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีความคล่องตัวและสามารถใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภาพและสร้างงานให้กับประชากรในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังจะต้องสร้างความสมดุลในการให้การสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย โดยใช้กลยุทธทางออกที่อยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับวิกฤติในครั้งนี้

กลยุทธ “ยุโรป 2020” ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฉลาด ยั่งยืน และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายได้ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องพยายามเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ ตลอดจนวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่โดยมุ่งเน้นที่ภาคการส่งออก ซึ่งจะก่อให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงนโยบาย อันจะส่งผลต่อการคลังสาธารณะ การศึกษา นวัตกรรม รวมทั้งบรรยากาศทางธุรกิจ ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม การปฏิรูปเหล่านี้จะช่วยป้องกันจำนวนผู้ว่างงานซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นวงจร ไม่ให้กลายเป็นกลุ่มประชากรที่ว่างงานเนื่องมาจากมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ตลาดและผู้ว่าจ้างต้องการได้

วิกฤติที่เกิดขึ้นได้เน้นย้ำให้เราได้เห็นอีกครั้งหนึ่ง ถึงความสำคัญของการสนับสนุนการเติบโตโดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ตามที่ได้อธิบายไว้ในกลยุทธ “ยุโรป 2020” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฉลาด ยั่งยืน และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายนายโทมัส ลอร์เซน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศโปแลนด์และกลุ่มประเทศบัลติก กล่าว “การส่งเสริมการเติบโตที่เป็นไปได้จะลดการผิดพลาดในเรื่องใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้สามารถจัดการกับภาระที่หนักหนาสาหัสในการรับมือกับโลกาภิวัตน์ ภาวะขาดแคลนพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งภาวะประชากรสูงอายุได้ อนึ่ง วาระในการปฏิรูปในครั้งนี้มีขอบเขตตั้งแต่การเพิ่มการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน และการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในระดับสูง เรื่อยไปจนถึงการปฏิรูปนวัตกรรม การลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและไม่จำเป็น รวมทั้งลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

กลุ่มประเทศ EU10 ประกอบด้วย ประเทศบัลแกเรีย สาธารณรัฐเช็ค เอสโทเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิธัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย และสโลวาเนีย

กลุ่มประเทศ EU15 ประกอบด้วย ประเทศออสเตรีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร

รายงานด้านเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EU10 ได้รับการตีพิมพ์ปีละ 3 ครั้ง รายงานฉบับดังกล่าวเป็นการเฝ้าติดตามเศรษฐศาสตร์มหภาคและการพัฒนาด้านการปฏิรูปในกลุ่มประเทศ EU10 และมีบทวิเคราะห์ประเด็นด้านนโยบายที่มีความสำคัญในเชิงลึก ผู้สนใจสามารถเยี่มชมเพื่อหาข้อมูลในรายงานแต่ละฉบับได้ที่เว็บไซต์ https://www/worldbank.org/eca/eu10rer 

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงวอร์ซอ
แอนนา โควาลซิ
โทร: (+48) 605-282-998
akowalczyk@worldbank.org
ใน กรุงวอชิงตัน ดี ซี
ไมเคิล โจนส์
โทร: (+1-202) 473-2588
mjones2@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
WB

Api
Api

Welcome