Skip to Main Navigation
เรื่องเด่นวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566

การส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนภาคใต้มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว

The World Bank

ภาพการประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอนในภาคใต้ของไทย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวและสุขภาพจิตที่ดีของคนในชุมชน รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ที่ประสบกับความบอบช้ำทางจิตใจอันเนื่องมาจากความขัดแย้ง ภาพ: นิค แฮทธาเวย์/ธนาคารโลก 

เรื่องเด่น

  • ผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบกับความบอบช้ำทางจิตใจอันเนื่องมาจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมายาวนาน นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต มิหนำซ้ำยังมีการตีตราทางวัฒนธรรมที่ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตย่ำแย่ลงกว่าเดิม
  • โครงการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอน ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ชุมชนในภูมิภาคนี้มีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว, มีการดูแลสุขภาพจิตที่ดี และมีความตระหนักรู้ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน
  • โครงการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอน ทำให้โรงเรียนและองค์กรพัฒนาเอกชนกลายเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมสิทธิและสุขภาวะที่ดีของเด็กที่ประสบกับผลกระทบจากความขัดแย้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนรุ่นต่อไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอนาคตที่สดใสและมีความสามารถในการตั้งรับปรับตัวมากขึ้น

ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาเรื้อรังสู่รุ่นต่อรุ่น นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547  มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 คนและมีเด็กกำพร้ามากกว่า 3,000 คน ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และบางอำเภอในสงขลา ความไม่สงบนี้ส่งผลให้เกิดความสับสนวุ่นวายและสร้างบาดแผลทางจิตใจ เช่น ภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง และภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึงปัญหาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่กระทบต่อสุขภาพจิตว่า “วัฒนธรรมภาคใต้มองว่าความพิการคือการถูกลงโทษจากพระเจ้า จึงไม่มีใครอยากเป็นผู้พิการ” นายสุชาติย้ำถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประกอบกับการขาดบริการสนับสนุนด้านต่าง ๆ กำลังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก แม้แต่จังหวัดใหญ่ ๆ ในภาคใต้ก็ไม่มีสถานพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต อีกทั้งผู้คนยังขาดความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิ นายสุชาติจึงเน้นถึงความสำคัญของการให้การศึกษาแบบองค์รวมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน, สิทธิเด็ก และสิทธิของผู้พิการ เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนและเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน

เพื่อแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกนี้ ธนาคารโลกจึงให้การสนับสนุนแก่สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ผ่านกองทุน Human Rights, Inclusion, and Empowerment Trust Fund (HRIETF) เพื่อจัดตั้งโครงการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอน ซึ่งมุ่งเสริมสร้างให้ชุมชนมีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว, มีการดูแลสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน

หลักสูตรนี้ได้รับการพัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจนถึงครอบครัวที่ประสบกับผลกระทบ เพื่อให้มั่นใจว่าหลักสูตรนี้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นและให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้วางใจ นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า “ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นี้ เราจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าขาดความไว้วางใจ ทุกคนต้องการความช่วยเหลือแต่ไม่รู้ว่าจะไว้ใจใครได้บ้าง" ด้วยเหตุนี้ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพจึงเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและผลประโยชน์ของครอบครัวและเด็ก ๆ โดยตรง ในปี พ.ศ. 2565 ได้มีการจัดทำหลักสูตรขึ้นซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 บท และใช้ระยะเวลาในการสอน 6 เดือน รวมถึงการลงพื้นที่เยี่ยมชุมชน, การให้ผู้เข้าอบรมเรียนรู้การเป็นผู้นำและขยายโครงการให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างผู้จัดทำโครงการและผู้ที่ประสบกับผลกระทบจากความขัดแย้ง

The World Bank

นักเรียนเดินข้ามสนามในช่วงเปลี่ยนคาบเรียนที่โรงเรียนบ้านตาบา ภาพ: นิค แฮทธาเวย์/ธนาคารโลก

การคุ้มครองสิทธิเด็ก – มุมมองของโรงเรียน

โครงการดังกล่าวได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะที่โรงเรียนบ้านตาบา จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นที่หลบภัยสำหรับเด็กที่มาจากพื้นที่ความขัดแย้ง โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียน 441 คนโดยมากกว่า 100 คนเป็นนักเรียนประจำ เนื่องจากอันตรายต่าง ๆ เช่น การกลั่นแกล้ง, การทำร้ายตัวเอง และการเข้าถึงการศึกษาที่จำกัด หากเป็นนักเรียนที่ผู้ปกครองทำงานในมาเลเซีย ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งร้ายแรงมากกว่าเดิม

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ นายพลวัฒน์ หนูแดง ที่ปรึกษาของบ้านตาบาซึ่งผ่านการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอนมาแล้ว ได้จัดอบรมคณะที่ปรึกษาทั้งหมด 4 คนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการติดตามและประเมินผลเด็ก ช่วยเหลือกรณีต่าง ๆ ที่มีอยู่ และจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีและต่อต้านการกลั่นแกล้ง

The World Bank
นายพลวัฒน์ หนูแดง นักจิตวิทยาโรงเรียนที่ผ่านการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอน บ้านตาบา จังหวัดนราธิวาส ภาพ: นิค แฮทธาเวย์/ธนาคารโลก

นายพลวัฒน์รับผิดชอบโรงเรียน 117 แห่งในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียของจังหวัดนราธิวาส เขาขอบคุณโครงการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอน ที่ทำให้เขาสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาปรับใช้เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ และครูได้ดียิ่งขึ้น เขาอธิบายว่า “โครงการนี้ทำให้ผมสามารถฝึกครูให้เข้าใจวิธีการระบุเด็กกลุ่มเสี่ยงผ่านการสังเกตอาการ และสอดแทรกเรื่องของสิทธิเด็กและการต่อต้านการกลั่นแกล้งเข้าไปในการฝึกอบรมได้ด้วย”

The World Bank
นักเรียนโรงเรียนบ้านตาบากำลังฟังการสอนเรื่องการต่อต้านการกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ภาพ: นิค แฮทธาเวย์/ธนาคารโลก

มุมมองขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรต่างรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากโครงการนี้เช่นกัน กลุ่มลูกเหรียง เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในยะลาที่ให้ความช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ประสบกับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ยังคงอยู่ นอกจากสนับสนุนด้านการศึกษาแล้ว กลุ่มลูกเหรียงยังมีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขและสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าอีกด้วย หลังจากที่ได้รับการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอนแล้ว กลุ่มลูกเหรียงได้เปิดตัวโครงการที่ชื่อว่า "ป้าข้างบ้าน" เพราะ "ป้า" เป็นสรรพนามที่ใช้เรียกผู้หญิงในชุมชน ซึ่งจะได้รับการฝึกอบรมเรื่องการคุ้มครองเด็ก

มยุรี สิงห์แดด เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนที่ทำงานเยี่ยมบ้าน 30 หลังทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ แม้ว่าเธอจะเข้าการฝึกอบรมด้านสุขภาพมาแล้วหลายหลักสูตร แต่เธอยืนยันว่า "การฝึกอบรมของกลุ่มลูกเหรียงเป็นการฝึกอบรมที่ครอบคลุมที่สุด และยังสอนให้รู้จักระบบการกำหนดระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ด้วย เช่น การใช้รหัสสีแดง, เหลือง และเขียว"

The World Bank
มยุรี สิงห์แดด อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนที่ผ่านการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอน ยืนอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่งในบรรดาบ้าน 30 หลัง ที่เธอให้การดูแลด้านสวัสดิภาพมนุษย์และเด็กในยะลา ภาพ: นิค แฮทธาเวย์/ธนาคารโลก

มยุรีไม่ได้มองว่าอาสาสมัครเป็นการทำเพื่อรับค่าตอบแทน “การให้ความปลอดภัยแก่เด็กถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของเราเสมอ” เธออธิบายต่อว่า “ฉันไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ฉันทำเพื่อชุมชน เราคือครอบครัวอาสาสมัคร” เธอเล่าถึงความใฝ่ฝันวัยเด็กว่า “ตั้งแต่เด็ก ฉันอยากเป็นพยาบาล แต่ฉันไม่มีเงินเรียนหนังสือ กลุ่มลูกเหรียงทำให้ฉันมีโอกาสรับใช้ชุมชนในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุข”

มยุรีคือหนึ่งใน 63 จิตอาสาของเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนยะลาที่ผ่านการฝึกอบรมจากกลุ่มลูกเหรียง เครือข่ายอาสาสมัครฯ ซึ่งมีการนัดประชุมกันทุกเดือนเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมทั้งแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและวางกลยุทธ์สำหรับอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสำเร็จของหลักสูตรโครงการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอนและเครือข่ายล้วนมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพรายงานว่าเครือข่ายโครงการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอนระดับภูมิภาคนั้นขยายตัวขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 500 คน ณ เดือนธันวาคม 2565 นายสติงกริมึช เซวรึชกาชอน ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐไอซ์แลนด์ และผู้บริจาครายสำคัญของกองทุน HRIETF เห็นถึงความสำเร็จของโครงการ และได้กล่าวอย่างภูมิใจว่า "โครงการนี้จะช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในภูมิภาค ทั้งผู้พิการ, กลุ่ม LGBTI+, ผู้หญิง และเด็ก"

เครือข่ายโครงการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอนมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือเยาวชนที่ประสบกับผลกระทบจากความขัดแย้งต่อไป โดยการมอบทุนทรัพย์เพื่อให้เยาวชนสามารถเปลี่ยนความทุกข์ยากในอดีตให้กลายเป็นการกระทำเชิงบวก โครงการนี้ช่วยให้สมาชิกชุมชนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการช่วยเหลือเยาวชนที่ประสบกับผลกระทบจากความรุนแรง, ส่งเสริมสิทธิเด็ก และเพิ่มความสามารถของชุมชนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายโครงการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอนจึงสามารถรวบรวมผู้คนจากหลากหลายภูมิหลังแต่มีความตั้งใจเดียวกัน คือการอุทิศตนเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานในชายแดนภาคใต้สืบไป

บล็อก

    loader image

เรื่องราวใหม่ๆ

    loader image