บ่อยครั้งที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะเป็นเรื่องเกินกว่าที่จะแก้ไขและใหญ่เกินกว่าจะเข้าไปจัดการ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องมลพิษ เรามีเหตุผลดีๆ ที่ยังไม่ควรถอดใจ กรุงซันติอาโก ประเทศชิลี และกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย คือ ข้อพิสูจน์ว่าการลุกขึ้นมาจัดการมลพิษนั้นให้ผลตอบแทนด้านสุขภาพและรายได้ของคนท้องถิ่นโดยตรง
ทุกๆ ปี คน 8.9 ล้านคนทั่วโลกต้องเสียชีวิตจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ นั่นคือจากมลพิษทางอากาศ ทางน้ำและทางดิน 8.4 ล้านคนของผู้เสียชีวิตเหล่านี้อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางอย่างยิ่ง มลพิษจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและจากภายในบ้านได้คร่าชีวิตผู้คนราว 7 ล้านคนทั่วโลก
แม้มลพิษจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนทั่วโลก ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดการระดับท้องถิ่น
หลายปีก่อน กรุงซันติอาโกเคยถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน ชาวเมืองเจ็บป่วยและใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเนื่องจากมลพิษทางอากาศปกคลุมไปทั่วเมือง
“ฉันเคยมีอาการกำเริบหนักทุกๆ 15 วัน” นางฟรานเชสกา อิยาเนส วัย 25 ปีกล่าว เธอเคยตกเป็นเหยื่อของฝุ่นควันอันตรายที่คลุ้งทั่วเมืองซันติอาโก “ฉันจำได้ว่าแม่ต้องพาฉันไปส่งห้องฉุกเฉิน ต้องครอบหน้ากากให้อ็อกซิเจน”
ฟรานเชสกาไม่ใช่คนเดียวที่ประสบชะตากรรมนี้ ผลการศึกษาพบว่า หลายสิบปีก่อน เด็กๆ ในซันติอาโกกว่าครึ่งป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเนื่องจากมลภาวะทางอากาศในเมือง ผลวิจัยของธนาคารโลกเมื่อปี 2538 ชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษในซันติอาโกนั้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จะใช้กำจัดมลพิษในเมืองเสียอีก
หลายปีนับแต่นั้น ซันติอาโกได้เริ่มใช้ระบบขนส่งในเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ควบคุมการปล่อยควันพิษไอเสียจากรถและโรงงานต่างๆ ใช้น้ำมันและแหล่งพลังงานอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยลง อีกทั้งยังส่งเสริมให้คนใช้จักรยาน (ดูได้จากแผนภูมิด้านล่าง) ชาวเมืองต่างวัยต่างพื้นเพล้วนรู้สึกได้ถึงประโยชน์จากการจัดการนี้
“ฉันบอกได้เลยว่ามีเด็กๆ มาโรงพยาบาลเพราะป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจน้อยลงทุกปีๆ”
ฟรานเชสกา นางพยาบาลประจำโรงพยาบาลคัลโว แม็คเคนนากล่าว เธอเชื่อมั่นว่าซันติอาโกจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น