เรื่องเด่น

ธนาคารโลกรายงานสถานการณ์โลกหลังวิกฤติเศรษฐกิจ

วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรื่องเด่น
  • เจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกที่ประจำอยู่ในภูมิภาคต่างๆรายงานสถานการณ์ล่าสุดของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • ละตินอเมริกากำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่ตะวันออกกลาง/แอฟริกาเหนือ และยุโรป/เอเชียกลางฟื้นตัวช้ากว่า
  • การสัมมนาที่ธนาคารโลกจัดขึ้นประเมินความเป็นไปได้ที่การค้าภายในทวีปแอฟริกาจะเป็นตัวผลักดันให้มีการเจริญเติบโตและการจ้างงาน

9 ตุลาคม 2553 – แม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มกระเตื้องอย่างเห็นได้ชัด แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่มากพอที่จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นล่ำเป็นสันได้ ด้วยเหตุนี้เอง วิกฤติการเงินโลกจึงเป็นประเด็นสำคัญในเวทีการประชุมประจำปีของธนาคารโลกกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่ของธนาคารประจำภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกจึงใช้โอกาสนี้เสนอข้อมูลให้สื่อมวลชน ผู้กำหนดนโยบายและสาธารณชนเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเสนอความเห็นของธนาคารเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ร่วมประชุมในหัวข้อที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการค้าระดับภูมิภาค ข้อมูลที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

ยุโรปและเอเชียกลางนักเศรษฐศาสตร์และเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ว่า ภูมิภาคนี้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ด้วยอานิสงส์จากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรัสเซีย โปแลนด์กับตุรกี แต่กระนั้นอัตราการว่างงานยังคงสูงอยู่

นายอินเดอร์มิต กิล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกสำหรับยุโรปกับเอเชียกลางกล่าวว่า “ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่จะหดตัวในปี 2552 ประเทศเหล่านี้จะกลับมาเติบโตได้อีกในปี. 2553 โดยจะเป็นการฟื้นตัวที่มีการส่งออกเป็นตัวผลักดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังยุโรปตะวันตก”

ละตินอเมริกา/คาริบเบียน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจละตินอเมริกาจะเติบโตสูงกว่าที่เคยคาดไว้ว่าจะเป็นร้อยละ 5-6 ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ภูมิภาคนี้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าอีกหลายภูมิภาคในโลก รายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลกชื่อ Resilient, Globalized, Dynamic: The New Face of Latin America ระบุว่า บราซิล เปรู กับอาร์เจนติน่าเป็นจ่าฝูงด้วยอัตราการเติบโตประมาณการที่ร้อยละ 7.5% นอกจากนี้ ตัวเลขเกี่ยวกับอัตราการว่างงานและความยากจนในภูมิภาคยังต่ำกว่าวิกฤติระลอกก่อนๆ

“ถ้าภูมิภาคนี้สามารถรักษาสัดส่วนการเติบโตต่อการลดความยากจนในระดับปัจจุบันไว้ได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนอัตราก่อนวิกฤติ เราก็สามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่าประชาชน 7 ล้านกว่าคนจะหลุดพ้นออกจากความยากจนระดับกลางในปีนี้” นายออกัสโต เดอ ลา โตเร่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกสำหรับภาคพื้นละตินอเมริกาและคาริบเบียนกล่าว

ตะวันออกกลาง/แอฟริกาเหนือ รายงานเรื่อง Regional Economic Outlook: MENA Sustaining the Recovery in Times of Uncertainty ซึ่งธนาคารโลกเพิ่งเผยแพร่วันนี้ระบุว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตามแนวโน้มของเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้นจะขึ้นอยู่กับการที่ตลาดเกิดใหม่จะยังคงต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่องหรือไม่ รวมทั้งทิศทางของราคาน้ำมันด้วย การเติบโตในภูมิภาคนี้คาดว่าจะอยู่ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4 ในปี 2553 ต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอยู่ที่ 4.5

“การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคที่ดีกับแนวทางการกำกับดูแลภาคการเงินอย่างรอบคอบได้ช่วยให้ประเทศในภูมิภาคนี้รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงมาได้” นายชัมชาด อัคตาร์ รองประธานธนาคารโลกสำหรับภาคพื้นตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าว “ความท้าทายตอนนี้ก็คือจะทำอย่างไรให้การเติบโตดำเนินต่อไปภายหลังจากที่ฟื้นตัวแล้ว”

แอฟริกา ในงานสัมมนาเมื่อวันที่ 8 ต.ค.เรื่อง “Can Africa Trade with Africa?” รองประธานธนาคารโลกสำหรับแอฟริกา นางโอบิอาเกลี่ อีเส็คเวสิลี เชิญให้ผู้กำหนดนโยบายและตัวแทนจากภาคเอกชนมาร่วมงาน โดยมีผู้เข้าร่วมฟังออนไลน์อีกกว่า 550 คน เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องแนวทางที่จะเร่งเพิ่มการค้าระหว่างกันในแอฟริกา พร้อมกับพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายมากไปกว่าเกษตรกรรมและการทำอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตได้อย่างไร

“ปัจจุบันนี้ บรรดาผู้นำแอฟริกาต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการรวมตัวระดับภูมิภาคเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ หากแอฟริกาต้องการลดต้นทุนการผลิตด้วยการขยายขนาดการผลิต (economics of scale) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” เธอเขียนไว้ในบล็อกเกี่ยวกับการพัฒนาในแอฟริกา “และการส่งเสริมการค้าระหว่างกันในแอฟริกาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้ เมื่อพิจารณาว่าตลาดแอฟริกามีผู้บริโภคอยู่หนึ่งพันล้านคน ที่มีศักยภาพช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตและมีการจ้างงาน”


Api
Api

Welcome