เรื่องเด่น

การค้าปูเส้นทางสู่การหลุดพ้นจากความยากจน

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

เรื่องเด่น
  • วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นย้ำให้เห็นความจำเป็นในการช่วยประเทศที่ยากจนที่สุดให้มีโอกาสเข้าถึงตลาดระดับโลกและระดับภูมิภาค
  • “Aid for Trade” (ความช่วยเหลือเพื่อการค้า) เป็นความริเริ่มเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงในการการส่งออกและนำเข้าสินค้า อันเนื่องมาจากการคมนาคมขนส่งที่ด้อยคุณภาพ
  • ความช่วยเหลือดังกล่าวรวมถึงการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การสนับสนุนให้บริษัทปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าและการสร้างศักยภาพในด้านการบริหารจัดการชายแดน

17 กันยายน 2553 – การค้าระหว่างประเทศได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เติบโตและบรรเทาความยากจน หลังจากวิกฤติการณ์ทางการเงินโลกได้อุบัติขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว การฟื้นตัวของการค้าโลกก็มีส่วนอย่างมากในการช่วยให้โลกหลุดพ้นออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงได้

ขณะเดียวกัน นายเบอร์นาร์ด โฮกแมน และนายจอห์น เอส. วิลสัน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกก็ได้กล่าวว่า วิกฤติดังกล่าวยังได้ย้ำให้เห็นความจำเป็นที่ประเทศซึ่งอยู่ในข่ายยากจนที่สุดของโลกจำต้องเข้าถึงตลาดระดับโลกและระดับภูมิภาคได้ดังเช่นประเทศที่มีฐานะดีกว่าอื่นๆ

“การค้าเป็นกลไกที่มีอิทธิพลอย่างสูงในการช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ด้านเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น” นายโฮกแมน ผู้อำนวยการแผนกการค้าของสำนักงานรองประธานธนาคารโลกด้านการลดภาวะความยากจนและการบริหารเศรษฐกิจ (Poverty Reduction and Economic Management) กล่าว

“บรรยากาศในปัจจุบันของเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติ และการฟื้นตัวที่ยังเปราะบางอยู่มาก ยิ่งทำให้ความช่วยเหลือทางการค้ามีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่กิจกรรมและอุปสงค์ทางเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจในประเทศซึ่งผู้นำเข้าสินค้าสุทธิจะยิ่งมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ความช่วยเหลือเพื่อการค้าที่สนับสนุนมาตรการในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีศักยภาพทางการค้าต่ำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในช่วงเวลาดังกล่าว”

ความช่วยเหลือเพื่อการค้านั้นเป็นการช่วยประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีระบบการคมนาคมขนส่งและถนนที่ด้อยคุณภาพ อันส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูง รวมทั้งต้องใช้เวลามากขึ้น และประสบความยากลำบากในการส่งออกและนำเข้าสินค้ามากกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ การกีดกันทางการค้าทั้งในรูปแบบของภาษีศุลกากรและการกีดกันที่มิใช่ภษี ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้แข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลกหรือแม้กระทั่งในภูมิภาคของตนได้ยากกว่าประเทศอื่นๆ ด้วย

จากจำนวนประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด 49 ประเทศที่รับรองโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) นั้น 31 ประเทศเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายทางการค้าสูงขึ้นอีก รวมทั้งต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของปัจจัยทางการคมนาคมนอกชายแดนที่ไม่สามารถควบคุมได้ กองทุนของธนาคารโลกสำหรับประเทศที่ยากจนที่สุดจึงเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเหล่านี้ผ่านสินเชื่อปราศจากดอกเบี้ยและเงินให้เปล่า

ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล 15 ประเทศอยู่ในทวีปแอฟริกา อันเป็นบริเวณซึ่งได้รับการคาดหมายว่า มีประชากรในท้องถิ่นประมาณ 7 ถึง 10 ล้านคนที่ต้องถลำลึกเข้าสู่ภาวะความยากจนเนื่องจากวิกฤติการเงินโลกที่เกิดขึ้นในสองปีที่ผ่านมา

การค้ามีความสำคัญต่อการดำเนินการสู่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ

ความลำบากของประเทศเหล่านี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าเพราะเหตุใดความช่วยเหลือเพื่อการค้าพร้อมกับการเพิ่มส่วนแบ่งการค้าโลกให้กับประเทศกำลังพัฒนาจึงเป็นองค์ประกอบหลักของเป้าหมายที่ 8 ของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษคือ ความร่วมมือในระดับโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนา

“การค้านั้นเป็นองค์ประกอบรากฐานของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เจริญก้าวหน้า และการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมทั้งการถ่ายทอดข้อมูลด้วย” นายวิลสัน ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านการค้าและการบูรณาการระหว่างประเทศในกลุ่ม Development Research Group ของธนาคารโลกกล่าว

“การค้าเป็นสิ่งที่ผูกพันชุมชนนานาประเทศเข้าไว้ด้วยกันในแง่ที่ดี ถ้าหากโลกนี้ปราศจากซึ่งโอกาสในลักษณะที่การค้าสร้างให้เกิดขึ้นได้แล้ว ประเทศต่างๆ ก็จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในด้านสาธารณสุข โภชนาการและการศึกษา รวมทั้งเป้าหมายในด้านอื่นๆ ได้ยากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การลงทุนของประเทศผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวในโลกที่ขาดซึ่งระบบการค้าที่เปิดกว้างและแข็งขันก็จะมีประสิทธิภาพน้อยและให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่เป็นอยู่”

โอกาสการเข้าถึงตลาดของประเทศกำลังพัฒนากระเตื้องตัวขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วได้เปิดโอกาสให้ร้อยละ 79 ของผลิตภัณฑ์จากประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงตลาดของตนได้โดยปราศจากภาษี เทียบกับร้อยละ 55 ในปี 2540

ความช่วยเหลือเพื่อการค้ามีจุดประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว ในปี 2551ที่ผ่านมา ความช่วยเหลือประมาณ 39 ล้านเหรียญสหรัฐฯสำหรับโครงการนี้มาจากประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

ความช่วยเหลือดังกล่าวนั้นรวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานทางการคมนาคมขนส่ง ความช่วยเหลือเพื่อให้บริษัทดำเนินการตามมาตรฐานสินค้าระหว่างประเทศ การสร้างศักยภาพในด้านการบริหารจัดการชายแดน และการดำเนินโครงการที่เชื่อมโยงผู้ผลิตเข้ากับตลาด

“อย่างไรก็ตาม กว่าร้อยละ 90 ของความช่วยเหลือเพื่อการค้าที่มีการแสดงความจำนงไว้ทั้งหมด เน้นทางด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและการค้าเป็นหลัก” นายวิลสันกล่าว “เราจำเป็นต้องทำให้เจตจำนงดังกล่าวเป็นจริงและแปรไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันกับที่จะต้องช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับการปฏิรูปทางนโยบายและระเบียบทางการค้า”

ความช่วยเหลือเพื่อการค้ายังมีมาตรการที่ครอบคลุมด้านการช่วยเหลือคนงาน ผู้ผลิต และชุมชน ให้ปรับตัวเข้ากับนโยบายทางการค้าหรือเงื่อนไขของการค้าเช่นที่เป็นผลมาจากโครงการให้สิทธิพิเศษทางการค้า เป็นต้น

การปฏิรูปส่งผลตอบแทนสูง

งานวิจัยของธนาคารโลกที่เพิ่งตีพิมพ์ไปเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า เงินช่วยเหลือที่เน้นเรื่องการปฏิรูปทางระเบียบนโยบายก้อนไม่ใหญ่ก็สามารถเพิ่มปริมาณการค้าได้อย่างมหาศาล การลงทุนหนึ่งเหรียญสหรัฐฯ ของความช่วยเหลือในลักษณะนี้มีอัตราผลตอบแทนถึง 697 เหรียญสหรัฐฯ ในปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น นายวิลสันกล่าว

“ข้อสรุปดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเราสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้ด้วยความช่วยเหลือเพื่อการค้าที่เน้นการลดค่าใช้จ่ายทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปทางระเบียบและนโยบายทางการค้า” นายวิลสันกล่าวต่อไป “ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่กำลังมีการดำเนินการอยู่แล้ว”

ตัวอย่างของการปฏิรูปดังกล่าวได้แก่การแก้ไขระเบียบต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในภาครถบรรทุกสินค้า การลดขั้นตอนของบริการส่งออกและนำเข้าสินค้าแถบชายแดน และการยกเลิกข้อกำหนดทางเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งสร้างกำแพงกีดกันสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น

ในปีงบประมาณ 2553 กลุ่มธนาคารโลกได้อนุมัติเงินกู้ทั้งสิ้น 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อโครงการที่เกี่ยวกับการค้าเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถดำเนินเป้าหมายว่าด้วยการปฏิรูปนโยบายหรือกฎระเบียบทางการค้าได้อย่างลุล่วง ซึ่งเป็นจำนวนการให้กู้ที่เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัวจากปี 2546

ในอีกด้านหนึ่ง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนยังช่วยให้รัฐได้รับประโยชน์จากการเป็นแหล่งสำหรับความรู้ เงินทุนและข้อมูลของภาคเอกชนด้วย นายวิลสันกล่าว

ธนาคารโลกร่วมมือกับพันธมิตรและองค์กรทางธุรกิจจำนวนมากในการพัฒนาหนทางที่จะปรับปรุงการคมนาคมขนส่งทางการค้าและการบริหารจัดการชายแดน เพื่อเป็นแรงส่งให้แก่การลงทุนทางสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดำเนินควบคู่กันไป นอกจากนี้ ธนาคารยังได้พยายามหาหนทางใหม่ๆ ในการนำเอาความเชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเข้ามาใช้ในการผลิตข้อมูลเกี่ยวกับสถานะทางการค้าที่ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งอาจนำไปใช้กระตุ้นการปฏิรูปความสนับสนุนทางการค้าที่เน้นนโยบายเป็นหลัก

มาตรการดังกล่าว ตลอดจนข้อสรุปจากการเจรจาทางการค้ารอบโดฮาขององค์การการค้าโลกที่ประสบผลสำเร็จ จะช่วยเร่งรัดความคืบหน้าเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาระบบการค้าและการเงินที่เปิดกว้างที่คาดเดาได้และไม่เลือกปฏิบัติ นายวิลสันกล่าว

“การค้านั้นสัมพันธ์โดยตรงกับการลดความยากจนและการช่วยดึงคนจนให้หลุดพ้นจากภาวะความยากจน ถ้าหากเรามองย้อนกลับไปในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในการลดภาวะความยากจนคือการเปิดโอกาสทางการค้าให้กับประเทศกำลังพัฒนา....

“เมื่อมองต่อไปในอนาคตในการดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ผมคิดว่าเราสามารถใช้ความก้าวหน้าที่สร้างขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมาเป็นพื้นฐานและดำเนินการอย่างฉลาดมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นในการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ตลาดโลกได้สำเร็จ” นายวิลสันกล่าว

Api
Api

Welcome