กรุงเทพฯ 3 กรกฎาคม 2568 – การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สร้างการจ้างงาน และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตามรายงาน Thailand Economic Monitor: Digital Pathways to Growth ฉบับใหม่ของธนาคารโลก ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้
อัตราการเติบโตของ GDP ของไทยคาดว่าจะชะลอลงมาอยู่ที่ 1.8% ในปี 2568 และ 1.7% ในปี 2569 สะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกที่อ่อนแอการบริโภคที่ชะลอตัว และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม หากความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวดีขึ้น GDP อาจเติบโตได้เป็น 2.2% ในปี 2568 และ 1.8% ในปี 2569
“แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังมีความแข็งแกร่ง ช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจไว้ชั่วคราว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งการส่งออกล่วงหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ” เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การปรับการลงทุนของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการขยายความร่วมมือทางการค้าในเชิงลึก จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากพลวัตของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้”
รายงานชี้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเป็นตัวเร่งการเติบโตและสร้างงาน ยกระดับคุณภาพการให้บริการ และเพิ่มผลิตภาพของประเทศได้ ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน
เมลินดา กู้ด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า “ขณะที่ประเทศไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2569 การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือ การประชุมระดับโลกครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมหลักต่างๆ อาทิ บริการดิจิทัล การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจการเกษตร และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งล้วนมีส่วนกำหนดอนาคตของประเทศไทย”
เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยคาดว่ามีมูลค่าราว 6% ของ GDP และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน อุตสาหกรรมบริการการเงิน การชำระเงินดิจิทัล ฟินเทค ซอฟต์แวร์ และวิศวกรรม ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการจ้างงานเติบโตเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะด้านดิจิทัล ที่นับว่าทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค การใช้ดิจิทัล ID และระบบการชำระเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลาย (เช่น ThaID และ PromptPay ) ได้วางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงินและการขยายตัวของรัฐบาลดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ โดยอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปีตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19
เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ” จีอึน ชอย นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านดิจิทัลของธนาคารโลก กล่าว “ประเทศไทยสามารถปลดล็อกศักยภาพนี้ได้ โดยการปิดช่องว่างด้านข้อมูลคุณภาพสูงและโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผล ตลอดจนการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล”
รายงานฉบับนี้นำเสนอแนวทางการดำเนินการที่สำคัญเพื่อเร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงด้านสุขภาพและการเงิน พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายที่มีความสอดประสานกัน เพื่อขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ คุ้มครองข้อมูล และส่งเสริมนวัตกรรม