ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงฟื้นตัวท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกอันท้าทาย

วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559


การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคด้วยความระมัดระวังและการปฏิรูปโครงสร้าง
คือกุญแจสู่การรักษาอัตราการฟื้นตัว

 

กรุงวอชิงตัน 10 เมษายน 2559 – รายงานล่าสุดของธนาคารโลกพบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงฟื้นตัว และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตลดลงเพียงเล็กน้อยในระหว่างปีพ.ศ. 2559-2561 การคาดการณ์นี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น และประเทศต่างๆ ควรจัดลำดับความสำคัญของนโยบายด้านการเงินและการคลังที่จะช่วยลดความเปราะบาง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปฏิรูปด้านโครงสร้างให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกคาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.5 ในปี พ.ศ. 2558 เหลือร้อยละ 6.3 ในปี พ.ศ. 2559 และร้อยละ 6.2 ในช่วงปีพ.ศ. 2560–2561 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนไปสู่การเติบโตที่ชะลอตัวลงและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจีนจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6.7 ในปีพ.ศ. 2559 และร้อยละ 6.5 ในปีพ.ศ. 2560 เทียบกับร้อยละ 6.9 เมื่อปีพ.ศ. 2558

“ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภูมิภาคนี้มีสัดส่วนในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึง 2 ใน 5 เมื่อปีพ.ศ. 2558 ซึ่งมากกว่าภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอื่นๆ รวมกันถึง 2 เท่า” นางวิคตอเรีย ควาควา ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งรองประธานธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก  กล่าว “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่รัดกุม รวมถึงความพยายามในการเพิ่มรายได้จากภายในประเทศของบางประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่ท้าทายได้นั้น จำเป็นจะต้องอาศัยการพัฒนาด้านการปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง”

รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP Update) ได้ทำการวิเคราะห์โอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ภายใต้สถานการณ์อันท้าทาย ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง การหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ ความอ่อนแอของการค้าโลก ความตกต่ำอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของตลาดการเงินโลก

หากไม่นับรวมประเทศจีนแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.7 ในปีพ.ศ. 2558 และมีแนวโน้มที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้นเล็กน้อยคือร้อยละ 4.8 ในปีพ.ศ. 2559 และร้อยละ 4.9 ในช่วงปีพ.ศ. 2560-2561 จากการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไปตามความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินกับประเทศที่มีรายได้สูงอื่นๆ และจีน รวมถึงระดับการพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของแต่ละประเทศอีกด้วย

ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์และเวียดนามมีแนวโน้มจะเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศจะเติบโตถึงกว่าร้อยละ 6 ในปีพ.ศ. 2559 ขณะที่คาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5.1 ในปีพ.ศ. 2559 และร้อยละ 5.3 ในปีพ.ศ. 2560 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการปฏิรูปที่ได้เริ่มดำเนินการเมื่อไม่นานมานี้ และการดำเนินการในโครงการลงทุนภาครัฐ

ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กหลายๆ ประเทศ ซึ่งรวมถึง สปป. ลาว มองโกเลีย และปาปัวนิวกินีจะยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำและอุปสงค์จากภายนอกที่ลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาจะต่ำกว่าร้อยละ 7 เล็กน้อยในช่วงปีพ.ศ. 2559–2561 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรที่ตกต่ำ การส่งออกเสื้อผ้าที่จำกัด และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง ส่วนประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางเช่นเดียวกัน

“ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ประเทศรายได้สูงมีอัตราการฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ตลอดจนการที่เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ในขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายก็มีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมหภาคได้น้อยลง” นายชูเดียร์ เชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “ประเทศต่างๆ ควรนำนโยบายด้านการเงินและการคลังที่ช่วยลดการเปิดรับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคมาปรับใช้ และดำเนินการปฏิรูปด้านโครงสร้างอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึง”

การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจส่งผลให้อุปสงค์ต่ำลง และยังชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ รายงานของธนาคารโลกเสนอให้มีการติดตามความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวกับระดับหนี้ที่สูง การปรับตัวลดลงของราคาสินค้า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัว รวมไปถึงระดับหนี้ขององค์กรและภาคครัวเรือนที่สูงในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางประเทศ นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังควรเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงต่อกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

รายงานของธนาคารโลกยังได้ขอให้ใช้ความรอบคอบในด้านเศรษฐกิจมหภาคและสร้างความยั่งยืนให้กับการปฏิรูปด้านโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของประเทศจีน รายงานนี้ได้เสนอแนะให้สร้างความเข้มแข็งด้านวินัยทางการตลาดในภาคการเงิน รวมถึงการปล่อยให้การจัดสรรเงินกู้ถูกขับเคลื่อนโดยกลไกตลาดมากขึ้น การทยอยเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในด้านที่ถูกครอบครองโดยรัฐวิสาหกิจมากขึ้น ตลอดจนการปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายงานยังได้แนะนำให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายภาครัฐจากด้านโครงสร้างพื้นฐานไปสู่การให้บริการภาครัฐ อาทิ การศึกษา สาธารณสุข การให้ความช่วยเหลือทางสังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้นั้น ยังต้องมีนโยบายด้านการคลังที่รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากความผันผวนของปัจจัยภายนอก ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้ด้วยการเพิ่มขึ้นของการกู้ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หรือประเทศที่มีอุปสงค์ภายนอกได้รับการสนับสนุนจากความเฟื่องฟูของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ในระยะยาว รายงานนี้ได้เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมความโปร่งใสและสร้างความเข้มแข็งให้กับการรับผิดรับชอบ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ประเทศต่างๆ ลดอุปสรรคทางการค้าในภูมิภาค อาทิ มาตรการที่มิใช่ภาษีและกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการค้าด้านบริการระหว่างประเทศ รายงานยังได้เน้นย้ำถึงประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิวัติดิจิตอลซึ่งจะสามารถเพิ่มถึงขีดสุดได้โดยการพัฒนากฎระเบียบที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน รวมถึงการช่วยให้แรงงานพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจใหม่

รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นรายงานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจประจำภูมิภาคของธนาคารโลก ตีพิมพ์ปีละ 2 ครั้งและสามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ www.worldbank.org/eapupdate

 

เยี่ยมชมข้อมูลได้ทาง Facebook ที่ www.facebook.com/worldbank
รับข่าวสารล่าสุดได้จาก Twitter ที่ www.twitter.com/wb_asiapacific  

 

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน สิงคโปร์
ดินี ดาลาล โทร
โทร: +62-21-5299-3156
ddjalal@worldbank.org
ใน วอชิงตัน
เจน ชาง โทร
โทร: +1-202-473-1376
janezhang@worldbank.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2016/328/EAP

Api
Api

Welcome