ข่าวประชาสัมพันธ์

เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกจะเติบโตด้วยอัตราคงที่ในปี 2557

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557


การปฏิรูปโครงสร้างคือกุญแจสำคัญสำหรับการเติบโตและความมั่งคั่งในระยะยาว

สิงคโปร์, 7 เมษายน 2557 – จากรายงาน The East Asia and Pacific Update ที่เปิดเผยในวันนี้โดยธนาคารโลก ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะมีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอัตราคงที่ในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของประเทศที่มีรายได้สูงและตลาดการเงินไม่ผันผวนมากหลังจากการผ่อนคลายมาตรการเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐ

ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะมีอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 7.1 ในปีนี้ ซึ่งไม่ต่างจากปี 2556 มากนัก ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะยังคงเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดของโลก แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8.0 ในช่วงปี 2549 ถึง 2556  สำหรับประเทศจีนการเติบโตจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.7 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 7.6 ในปีนี้ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคนี้จะมีการเจริญเติบโตร้อยละ 5.0 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.2 ในปีที่แล้ว

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่เหตุวิกฤติการเงินของโลกนายแอ็กเซล ฟาน ทร็อตเซ็นเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้มีการขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างคงที่ไปพร้อมๆ กับการปรับตัวต่อสภาวะทางการเงินของโลกที่จะตึงตัวมากขึ้น

ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใเอเชียยตะวันออกเฉียงใต้เช่น อินโดนีเซีย และประเทศไทยจะเผชิญกับสภาวะทางการเงินของโลกที่ตึงตัวกว่าเดิมรวมทั้งอัตราหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียจะเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.9 ในปี 2557 การส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่ภาระหนี้ที่สูงขึ้นและมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ ส่วนการเจริญเติบโตของประเทศฟิลิปปินส์จะชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 6.6 โดยค่าใช้จ่ายเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศได้ชดเชยการบริโภคที่ลดลงอันเป็นผลพวงมาจากภัยธรรมชาติในปี 2556

มีการคาดการณ์ว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กจะเติบโตอย่างคงที่ แต่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เร็วเกินไป ทำให้อาจต้องมีมาตรการคุมเข้มทางการเงินเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศกัมพูชา การปฏิรูปครั้งใหม่หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตที่ร้อยละ 7.2 ในปีนี้ แต่ความไม่มั่นคงด้านตลาดแรงงานอาจเป็นปัจจัยเสี่ยง สำหรับประเทศเมียนมาร์ความก้าวหน้าในการปฏิรูปโครงสร้างจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 7.8  ส่วนเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามในปีนี้จะเติบโตไม่มากที่ร้อยละ 5.5 อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าในเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างกลุ่มธนาคารและภาคส่วนอื่นๆ ค่อนข้างน้อย สำหรับเศรษฐกิจของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกส่วนใหญ่รวมไปถึงติมอร์เลสเต้ ยังคงต้องพึ่งพิงเงินช่วยเหลือจากประเทศที่เจริญแล้ว

ความเสี่ยงของการขยายตัวของเศรษฐกิจของภูมิภาคยังคงเป็น “การฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่คาดไว้ของประเทศเศรษฐกิจที่เจริญแล้ว อัตราดอกเบี้ยโลกที่สูงขึ้น และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สืบเนื่องมาจากความตึงเครียดทางด้านการเมืองในแถบยุโรปตะวันออกตอกย้ำว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ในด้านลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก” นาเบิร์ท ฮอฟแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภาคพื้เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

ในแง่บวก อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นช่วยให้ภูมิภเอเชียยตะวันออกสามารถรับมือกับแรงกระทบภายนอก ซึ่งรวมถึง การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ซึ่งได้เกิดขึ้นเมื่อมีการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐ (QE) นอกจากนี้ประเทศส่วนใหญ่มีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับแรงกระทบภายนอกและแรงกระทบทางการค้าในระยะสั้น

การที่จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงคงในระยะยาว ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกควรเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตและเพิ่มความเชื่อมั่นของตลาดนายฮอฟแมนกล่าว

การปฏิรูปโครงสร้างเป็นกุญแจสำคัญที่จะลดความอ่อนไหวและเพิ่มการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ประเทศจีนเริ่มดำเนินการปฏิรูปด้านการเงิน การเข้าถึงตลาด การเคลื่อนย้ายแรงงาน และนโยบายการคลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อเวลาผ่านไป มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้น มาตรการบางอย่างที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ไปแล้ว เช่นการปฏิรูปภาษีและลดการกีดกันการลงทุนภาคเอกชน ก็อาจกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วยเช่นกัน

การปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จในประเทศจีนอาจนำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศคู่ค้าซึ่งส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการไปยังตลาดจีน ในทางกลับกัน การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศจีนหากเป็นไปอย่างไม่มีระบบอาจกระทบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆในภูมิภาคจะได้รับผลประโยชน์จากการปฏิรูปโครงสร้าง เช่น การอำนวยความสะดวกในด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ ในบริบทนี้ การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 สามารถช่วยกระตุ้นการลงทุนภายในภูมิภาคและการส่งออก รวมไปถึงเป็นต้นตอสำคัญของการเจริญเติบโต

The East Asia and Pacific Update เป็นรายงานของธนาคารโลกที่ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจของภูมิภาคทุกด้าน รายงานฉบับนี้ตีพิมพ์ปีละสองครั้งและเผยแพร่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://www.worldbank.org/eapupdate

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน สิงคโปร์
Dini Djalal
โทร: +62-21-5299-3156
ddjalal@worldbank.org
ใน วอชิงตัน
Jane Zhang
โทร: +1 (202) 473-1376
janezhang@worldbank.org

แหล่งอ้างอิง


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2014/419/EAP

Api
Api

Welcome