ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกยังมั่นใจเศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553




ปักกิ่ง 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553 – ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตได้อย่างน่าพอใจในปี 2553 เนื่องจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และการบริโภคในภาคครัวเรือนนั้น สามารถไปหักลบกับการที่ภาครัฐเริ่มลดการลงทุนลง หลังจากที่นำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้อย่างมโหฬารเมื่อปีที่แล้วได้

รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนรายไตรมาสฉบับล่าสุด (China Quarterly Update) ซึ่งธนาคารโลกนำออกเผยแพร่ ณ กรุงปักกิ่งในวันนี้ระบุว่า เศรษฐกิจของจีนในช่วงหกเดือนแรกของปีนั้นยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ทางการจีนจะเริ่มลดการลงทุนโดยภาครัฐลง หลังจากที่ได้นำมาตรการต่าง ๆ มาใช้อย่างมากมายในระหว่างที่เศรษฐกิจโลกยังซบเซา ทั้งนี้ ธนาคารโลกระบุว่า เป็นเพราะสาเหตุที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเฟื่องฟูอยู่

นอกจากนี้ การบริโภคในภาคครัวเรือนก็ยังทรงตัวอยู่ได้ เท่ากับเป็นการสะท้อนสภาวะบวกในตลาดแรงงาน (หมายถึงไม่มีการว่างงานที่อาจส่งผลให้ครัวเรือนเข้มงวดกับการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น) ส่วนดัชนีทางเศรษฐกิจหลัก ๆ และตัวเลขด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยมากนั้นก็ชี้ให้เห็นว่า แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีการชะลอลงบ้างในช่วงไตรมาสที่สองของปี แต่อัตราการขยายตัวของดัชนีเหล่านั้นก็ยังเป็นไปในระดับสูงอยู่

และหลังจากที่ได้ชะลงลงอย่างมากในต้นปี 2552 นั้น การส่งออกของจีนที่ผ่านมาก็ได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว กระนั้นก็ตาม ดุลการค้าของจีนที่เคยเกินดุลอยู่สูง ขณะนี้ได้ลดลงมาบ้างแล้วเนื่องจากมีการสั่งสินค้าเข้ากันอย่างมาก รวมทั้งการที่ราคาสินค้าบางประเภทลดลงด้วย ภาวะเงินเฟ้อเริ่มจะสูงขึ้นนิดหน่อยแม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน) จะยังอยู่ในขั้นต่ำ อย่างไรก็ดี การที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ทะยานสูงขึ้นอย่างมากนั้นก็ทำให้ทางการจีนต้องเริ่มนำมาตรการบางประเภทมาใช้ ซึ่งรวมถึงการจำกัดสินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัย (ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในภายหลังนั่นเอง)

รายงานเศรษฐกิจจีนรายไตรมาสนี้ เป็นการวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจมหภาคของจีนที่ธนาคารโลกจัดพิมพ์ทุก ๆ สามเดือน ในรายงานฉบับมิ.ย. 2553 นี้ธนาคารโลกระบุว่า การที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอันเปรียบเสมือนตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ยังแข็งแกร่งอยู่มากนี่เองที่ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังอยู่ในขั้นที่น่าพอใจ แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างในเรื่องของความเสี่ยงด้านการคลังในประเทศรายได้สูงบางประเทศ

ส่วนเศรษฐกิจจีนนั้นหลังจากที่ออกสตาร์ทอย่างรวดเร็วในไตรมาสแรก เป็นไปได้ว่าการขยายตัวในช่วงหลังของปีจะเริ่มอ่อนตัวลงบ้าง โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ทางการจีนเริ่มจะลดมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ลงเพื่อให้สภาวะเศรษฐกิจมหภาคมีความสมดุลยิ่งขึ้น รวมทั้งการที่รัฐบาลได้นำมาตรการมาใช้เพื่อลดแรงเสียดทานในภาคอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

“เราคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีนจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.5 ในปี 2553 ก่อนที่จะลดลงเล็กน้อยในปี 2554 โดยไปอยู่ที่ร้อยละ 8.5” นายอาร์โด แอนสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกในจีนกล่าว “ปัจจัยที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้นั้น น่าจะมาจากการฟื้นตัวของการค้าต่างประเทศ รวมทั้งการบริโภคซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะบวกในตลาดแรงงาน มากกว่าที่จะมาจากการลงทุนของภาครัฐดังเช่นในปีที่แล้ว”

ธนาคารโลกคาดว่า ดุลการค้าที่เกินดุลของจีนน่าจะลดลงมาอีกในปีนี้ ส่วนภาวะเงินเฟ้อนั้นยังไม่น่าเป็นห่วงเพราะยังไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามากระตุ้น อีกทั้งธนาคารโลกไม่คาดว่าการขึ้นค่าแรงในจีนนั้นจะส่งผลให้ราคาสินค้าขึ้นตามไปด้วยดังที่มักจะเป็น

อย่างไรก็ดี นายหลุยส์ เกาซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก และผู้เขียนหลักของรายงานเศรษฐกิจจีนรายไตรมาสยังได้แนะนำว่า “ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจของจีนยังเป็นบวกอยู่ มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ทางการจีนจะดำเนินนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลและลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาค นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก นี่เป็นเหตุผลที่ดีที่จีนควรจะมีความยืดหยุ่นในเรื่องนโยบายมากกว่าที่จะมุ่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว”

ธนาคารโลกกล่าวว่า ทางการจีนได้ดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการให้กู้ยืมโดยรัฐบาลท้องถิ่นผ่านโครงการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การที่อัตราดอกเบี้ยจีนนั้นยังต่ำอยู่นั้นทำให้จีนมีทางเลือกมากขึ้นที่จะนำอัตราดอกเบี้ยมาใช้เป็นตัวกำหนดนโยบายทางการเงินในอนาคต

ส่วนปัจจัยที่จีนควรจะต้องคำนึงถึงในระยะกลางนั้นประกอบไปด้วย การที่เศรษฐกิจจีนน่าจะชะลอลงในช่วงทศวรรษหน้าแม้อัตราการขยายตัวของจีดีพีจีนจะยังอยู่ในขั้นที่น่าพอใจอยู่ (ทั้งนี้เนื่องจากการที่จีนได้เติบโตอย่างรวดเร็วมาเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน) ความเป็นไปได้ดังกล่าวนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่จีนนำเข้ามาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในอนาคต

นอกจากนี้ธนาคารโลกยังแนะนำว่า แนวโน้มที่ว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่เติบโตอย่างพรวดพราดเช่นในอดีตนั้น ทำให้นโยบายซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องมีความจำเป็นมากขึ้น ทั้งนี้ จีนจะสามารถทำเช่นนั้นได้โดยการโยกย้ายแรงงานจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ การเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรบุคคล (เพื่อให้แรงงานจีนในอนาคตมีทักษะที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ) รวมทั้งการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วย

ประการสำคัญ จีนจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยต้องพิจารณาทั้งในแง่ของผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคม และในแง่ของการบริโภคพลังงาน หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ในการทำเช่นนั้น การปฏิรูปนโยบายการคลังบางประเภทถือเป็นองค์ประกอบใหญ่ นอกจากนี้ การปฏิรูปนโยบายเพื่อให้มีการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น รวมทั้งการจัดการตลาดแรงงานที่ดี ยังมีส่วนช่วยมากในการส่งเสริมผลิตภาพและพัฒนาการทางสังคม

ความตั้งใจของทางการจีนที่จะส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจ และขจัดกำแพงกีดขวางต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้นก็นับเป็นสิ่งที่ดี ในการนี้ จีนน่าจะได้รับประโยชน์มากจากการทำให้กระจ่างแจ้งว่า บทบาทของรัฐวิสาหกิจจีนในอนาคตนั้นควรจะเป็นเช่นไร ธนาคารโลกกล่าว

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน ปักกิ่ง
Li Li
โทร: +86-10-5861 7850
Lli2@worldbank.org
ใน วอชิงตัน ดีซี
Elisabeth Mealey
โทร: +1 (202) 4584475
emealey@worldbank.org
ใน กรุงเทพฯ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org



Api
Api

Welcome